-
เลื่อนไทม์ไลน์เล็กน้อยสำหรับ “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) อภิมหาโปรเจ็กต์ 1.2 แสนล้านบาท เตรียมเปิด “ออฟฟิศ” Tower 4 ฝั่งถนนวิทยุเป็นอาคารแรกช่วงกลางปี 2567 และจะทยอยเปิดจนครบ 70% ของโครงการภายในสิ้นปีหน้า
-
โชว์ศักยภาพความเป็น “สมาร์ท ซิตี้” มาตรฐานโลก โครงสร้างพื้นฐานวางระบบที่ช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า สร้างคุณภาพชีวิต และใช้ศูนย์บัญชาการกลาง ดูแลทั่วถึงครอบคลุมทั้ง 108 ไร่
หนึ่งในโครงการที่คนไทยจับตามองว่าจะได้เผยโฉมของจริงเมื่อไหร่ วันนี้ใกล้ถึงจุดหมายแล้วสำหรับ “วัน แบงค็อก” โปรเจ็กต์ยักษ์ในมือตระกูลสิริวัฒนภักดี บนพื้นที่ 108 ไร่หัวมุมถนนวิทยุตัดถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี มูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท
“อุรเสฏฐ์ นาวานุเคราะห์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก เปิดเผยไทม์ไลน์การเปิดตัวโครงการว่า เฟสแรก จะเปิดให้บริการอาคารสำนักงาน Tower 4 ซึ่งเป็นออฟฟิศที่อยู่ฝั่งถนนวิทยุก่อนเป็นตึกแรก โดยคาดว่าจะเปิดได้ในช่วงกลางปี 2567
จากนั้นโครงการจะทยอยเปิดใช้อาคารจนครบ 70% ของโครงการภายในสิ้นปี 2567 เมื่อถึงเวลานั้นจะมีองค์ประกอบครบในโครงการ ทั้งส่วนออฟฟิศ โรงแรม เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ รีเทล และที่พักอาศัย
ขณะที่ไทม์ไลน์การก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้งโครงการจะเป็นเมื่อไหร่ อุรเสฏฐ์กล่าวว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ภายในโครงการวัน แบงค็อกนั้นตามผังมาสเตอร์แพลน จะประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ
1.อาคารสำนักงาน 5 อาคาร
2.โรงแรมและเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ 5 อาคาร
3.รีเทลและอาคารเอนกประสงค์ 4 โซน พื้นที่รวม 190,000 ตร.ม.
4.ที่พักอาศัย 3 อาคาร
ไทม์ไลน์เดิมที่เคยประกาศไว้ของวัน แบงค็อก มุ่งเป้าเปิดเฟสแรกในช่วงปลายปี 2566 แต่ต้องขยับกำหนดการออกไป รวมถึงเป้าเดิมคาดว่าจะสร้างเสร็จทั้งโครงการปี 2569 ก็อาจจะขยับออกไปด้วยเช่นกัน โดยอาคารในโครงการที่ถือเป็นไฮไลต์ที่ทุกคนรอคอยและน่าจะสร้างเสร็จเป็นอาคารสุดท้ายก็คือ “Signature Tower” เพราะเมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 437 เมตร หรือมากกว่า 90 ชั้น
โชว์มาตรฐาน “สมาร์ท ซิตี้” ระดับโลก
เมื่อวัน แบงค็อกสร้างเสร็จสมบูรณ์ อุรเสฏฐ์คาดว่าโครงการนี้จะรองรับคนเข้ามาในพื้นที่ถึงวันละ 200,000 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มลูกบ้านในตึกพักอาศัยและพนักงานประจำในออฟฟิศประมาณ 60,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 140,000 คนจะเป็นกลุ่มผู้สัญจรเข้ามาชั่วคราว เช่น ลูกค้าโรงแรม ผู้มาใช้บริการส่วนรีเทล ผู้มาติดต่อ
การบริหารอาคารที่มีพื้นที่รวมกว่า 1.9 ล้านตารางเมตร และคนที่จะเข้าออกวันละ 200,000 คน ย่อมต้องมีการจัดการที่ดีตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารหลังสร้างเสร็จ
สำหรับส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยอนุรักษ์พลังงานและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในโครงการ วัน แบงค็อก ตั้งเป้าที่จะได้รับมาตรฐาน 2 รายการ คือ มาตรฐาน “LEED” for Neighborhood Development ระดับ Platinum และ มาตรฐานรับรองอาคาร “WELL” ในระดับ Platinum
ในแง่ของการบริหารโครงการ อุรเสฏฐ์ระบุว่า วัน แบงค็อก เป็นโครงการแรกในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน “WiredScore” ระดับ Platinum มาตรฐานนี้จะให้กับโครงการที่บริหารในลักษณะ “สมาร์ท ซิตี้” เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารโครงการให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ที่วัน แบงค็อกเตรียมไว้ เช่น
- ใช้ระบบ Central Utility Plant (CUP) สาธารณูปโภค เช่น การจ่ายไฟฟ้า การบำบัดน้ำ ระบบปรับอากาศ จะรวมศูนย์ส่วนกลางและกระจายออกสู่อาคารต่างๆ
- ติดตั้งกล้องวงจรปิด 5,000 จุดในโครงการ
- ติดตั้งระบบ Smart Sensor กว่า 250,000 ตัว เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ส่วนกลาง และวัดทราฟฟิกการใช้งานพื้นที่ของคนในโครงการ
- ใช้เสาแบบ Smart Pole เป็นเสาไฟฟ้าแสงสว่างและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเสาเดียว
- ระบบ Traffic Control ตรวจสอบและรายงานสภาพการจราจรในโครงการ
- ทั้งหมดจะบริหารโดย District Command Center ศูนย์บัญชาการส่วนกลาง ใช้ทั้งมนุษย์และ AI ในการดูแลให้ระบบเป็นไปอย่างราบรื่น และตรวจสอบความผิดปกติ
- อัปเดต “เดอะ ฟอเรสเทียส์” เริ่มโอนคอนโดฯ ปลายปี’66 พื้นที่พาณิชย์ “Happitat” เปิดกลางปี’67
- ภารกิจสร้างแบรนด์ “เฟรเซอร์ส” สู่อสังหาฯ Top 5 ถอดป้ายชื่อ “เจ้าสัวเจริญ” ขอยืนหยัดด้วยตนเอง
การขอมาตรฐานรับรองทั้งหมดนี้ อุรเสฏฐ์มองว่ามีผลตอบโจทย์ธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มอาคารสำนักงานนั้นลูกค้าที่กำลังมองหาพื้นที่เช่าออฟฟิศ มักจะมองการรับรองมาตรฐานต่างๆ เป็นส่วนสำคัญก่อนตัดสินใจเช่า เพราะส่งผลกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และในบางกรณี บริษัทบางสัญชาติจะได้รับ ‘Tax Benefit’ ผลประโยชน์ทางภาษีในประเทศต้นทางของบริษัทด้วยหากออฟฟิศช่วยอนุรักษ์พลังงาน