ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 0-0.1% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี และยังเป็นการประกาศชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ว่าแดนอาทิตย์อุทัยได้ออกจากสภาวะเงินฝืดแล้ว แต่สำหรับค่าเงินเยนแล้วนั้นนักวิเคราะห์มองว่าอาจไม่ได้แข็งค่าเท่าที่คาดจากท่าทีที่ระมัดระวังของ BoJ
ธนาคารกลางญี่ปุ่น ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วง 0-0.1% ซึ่งการปรับดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย รวมถึงการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบมาเป็นระยะเวลานาน
BoJ ได้ประกาศอัตราดอกเบี้ยในช่วง 0-0.1% จากเดิมที่ญี่ปุ่นได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบที่ -0.1% มาเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี มาตรการดังกล่าวตามมาหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.3% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแดนอาทิตย์อุทัยได้พ้นจากสภาวะเงินฝืดเป็นที่เรียบร้อย
ถ้อยแถลงของ BoJ ยังมีการกล่าวถึงตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ในช่วง 2% (หรือมากกว่า) ซึ่งมีลักษณะมั่นคงมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมองว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ในถ้อยแถลงของ BoJ ยังกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเติบโตที่เป็นไปได้ (Potential Growth Rate)
นโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นนอกจากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีนโยบายที่จะยกเลิกการซื้อกองทุนหุ้นญี่ปุ่นที่ซื้อขายในตลาดหุ้น (ETF) ทรัสต์การลงทุนในอสังหาริมทัพย์ในประเทศญี่ปุ่น (REITS) หรือแม้แต่การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) เพื่อควบคุมให้นโยบายการเงินอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย
การที่ญี่ปุ่นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเนื่องจากปัญหาเงินฝืด ซึ่งเป็นผลกระทบของเศรษฐกิจในยุค 1990 ที่ฟองสบู่แตก ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น จนเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาทศวรรษที่สาบสูญ จนท้ายที่สุด ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินออกมาเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2012
ในช่วงที่ผ่านมา BoJ ได้ส่งสัญญาณการยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาโดยตลอด หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อในญี่ปุ่นนั้นปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนคาดว่าในท้ายที่สุดแล้วญี่ปุ่นจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี BoJ ยังยืนยันว่าจะไม่ใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเหมือนกับธนาคารกลางของประเทศพัฒนาหลายประเทศที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรง เช่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และยังชี้ว่านโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ยังอยู่ในสภาวะผ่อนคลายอยู่
ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของญี่ปุ่นหลายปีที่ผ่านมาคือส่งผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของญี่ปุ่น แต่ผลกระทบคือการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นจะมีราคาสูงมากขึ้น
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับค่าเงินเยนว่า “ตลาดคาดว่า BoJ จะเปลี่ยน แปลงนโยบายพร้อมกับท่าทีระมัดระวังเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยหาก BoJ ส่งสัญญาณว่าอาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้”
สำหรับค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทล่าสุดในวันนี้ (19 มีนาคม) ซื้อขายในช่วง 0.2396-0.2415 เยนต่อ 1 บาท ซึ่งยังไม่ได้แข็งค่าในทันทีจากนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว
ที่มา – Reuters, The Guardian, CNN