ดูเหมือนไม่ใช่แค่ ร้านราเม็ง ของญี่ปุ่นที่ ล้มละลาย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เป็นบริษัทรายย่อยแทบทั้งประเทศที่แห่กันล้มละลาย จนทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี เนื่องจากเจอกับ ต้นทุนที่สูง ปัญหาแรงงาน และไร้ผู้สานต่อธุรกิจ
โดยจากการสำรวจของ Tokyo Shoko Research บริษัทวิจัยสินเชื่อ เปิดเผยว่า ในปี 2024 มีจำนวนบริษัทที่ล้มละลายในญี่ปุ่นพุ่งถึง 10,006 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ถึง +15.1% ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบ 11 ปี โดยจำนวน 10,004 บริษัท ที่ล้มละลายเป็น บริษัทขนาดกลาง-เล็ก มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 2.34 ล้านล้านเยน ถือว่าลดลง 2.4% จากปี 2023
ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้บริษัทล้มละลายสูงเป็นสถิติเป็นเพราะ ค่าเงินเยนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ ต้นทุนการนำเข้าของธุรกิจสูงขึ้น ปัญหา ขาดแคลนแรงงาน ที่หนักขึ้นจากประชากรสูงอายุในญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการนำกฎระเบียบการ ทำงานล่วงเวลา ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นมาใช้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างและบริการต้องเผชิญกับความตึงเครียดมากขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการเลื่อนภาษีพิเศษ ที่นำมาใช้ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ได้ยุติลงในปี 2024 ทำให้ภาระทางการเงินของบริษัทเล็ก ๆ ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
เมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรมพบว่า ภาคบริการ รวมถึงร้านอาหาร มีจำนวนการล้มละลายสูงสุดที่ 3,329 ราย เพิ่มขึ้น 13.2% สูงเกิน 3,000 คดีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 ตามมาด้วย ภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการปฏิรูปเวลาการทำงาน โดยมีการล้มละลาย 1,924 คดี เพิ่มขึ้น 13.6%
นอกจากนี้ การล้มละลายซึ่งมีสาเหตุจากการ ขาดแคลนแรงงาน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับสูงสุดที่ 289 คดี ในขณะที่การล้มละลายที่เกิดจาก ไม่สามารถหาผู้มาดำเนินกิจการต่อได้ นั้นมีทั้งหมด 462 คดี ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด เช่นกันส่วนจำนวนการล้มละลายเนื่องจาก ภาระทางการเงินที่เกิดจากค่าประกันสังคมและภาษี เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 176 คดี จาก 92 คดี