พรีวิวคอนเซ็ปต์ “Central Park” ส่วนรีเทลและออฟฟิศใน “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” แลนด์มาร์กใหม่กรุงเทพฯ

Central Park ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
  • “เซ็นทรัลพัฒนา” พาร์ทเนอร์ผู้พัฒนาในส่วนรีเทลและออฟฟิศของโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “Central Park” สำหรับส่วนศูนย์การค้าและสำนักงาน
  • คอนเซ็ปต์สร้างศูนย์การค้าที่เป็น “Curated Experience” เน้นร้านค้าที่เป็นเอกลักษณ์ ตอบสนองไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่ม เจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง วางเป้าทราฟฟิก 25 ล้านคนต่อปี
  • “Central Park” ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งที่ 3 ของกลุ่มเซ็นทรัลในใจกลางกรุงเทพฯ ต่อจาก “เซ็นทรัลเวิลด์” แยกราชประสงค์ และ “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” บนแยกเพลินจิตวิทยุ

โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของภาคเอกชนที่ถูกจับตามอง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี สถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มีประวัติยาวนาน 50 ปี ก่อนจะปิดทุบปรับปรุงใหม่เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่ารวม 46,000 ล้านบาท

โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คนี้ทางกลุ่มดุสิตธานีมีการร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล โดยทางเซ็นทรัลเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาในส่วนศูนย์การค้าและสำนักงาน ส่วนกลุ่มดุสิตธานีดูแลการพัฒนาโรงแรมและคอนโดมิเนียม

ในที่สุด “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ได้ฤกษ์เปิดพรีวิวคอนเซ็ปต์การพัฒนา “Central Park” แบรนด์ใหม่สำหรับส่วนรีเทลและออฟฟิศ เป็นแบรนด์เฉพาะเพื่อโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โดยต้องการให้เป็นแลนด์มาร์กศูนย์การค้าสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัล

Central Park ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
บรรยากาศจำลอง ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

เฉพาะส่วน Central Park นี้บริษัทร่วมทุนมีการลงทุนไป 20,000 ล้านบาท ก่อสร้างเป็น

1) อาคารศูนย์การค้า Central Park สูง 8 ชั้น (7 ชั้นบนดิน + 1 ชั้นใต้ดิน) พื้นที่อาคารรวม 130,000 ตร.ม.
2) อาคารสำนักงาน Central Park Offices สูง 40 ชั้น พื้นที่อาคารรวม 130,000 ตร.ม.

 

“Central Park” ทำเลริมสวนกลางกรุงเทียบชั้นนิวยอร์ก-ลอนดอน

วัลยากล่าวถึงจุดเด่นที่สุดของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค คือ การมีทำเลอยู่ริมสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งถ้าหากมองในระดับโลก มหานครหลายแห่งจะมีสวนสาธารณะเป็นจุดใจกลางพื้นที่พัฒนาออฟฟิศและที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์ เช่น Central Park ของนครนิวยอร์ก หรือ Hyde Park ของกรุงลอนดอน ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมองว่าทำเลสวนลุมพินีจะเป็น ‘ใจกลางของใจกลางเมือง’ เช่นกัน

Central Park ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
มุมมองจากชั้น 7 ของ Central Park มองเห็นเชื่อมต่อกับสวนลุมพินี

“ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล” Chief Development and Commercial Officer บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวเสริมว่า นอกจากจะอยู่ริมสวนลุมพินีแล้ว ดุสิต เซ็นทรัล พาร์คยังอยู่บริเวณจุดตัดรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สถานีสีลมของ MRT สายสีน้ำเงิน และ สถานีศาลาแดงของ BTS สายสีเขียวเข้ม ถือเป็นจุดตัดที่มีทราฟฟิกสูงมากเพราะต่างก็เป็นรถไฟฟ้าสายดั้งเดิมที่ผ่านจุดสำคัญกลางเมือง

 

รวมร้านที่ ‘ไม่เหมือนที่เคยมีมา’

เมื่ออยู่ในทำเลทองและมีความพิเศษด้วยตำนานของพื้นที่แล้ว ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาจะสร้างความแตกต่าง “ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” Chief Marketing Officer และ “อิศเรศ จิราธิวัฒน์” Head of Fashion and Luxury Partner Management ร่วมกันอธิบายว่า ศูนย์การค้า Central Park จะเป็นศูนย์ฯ แห่ง “Curated Experience” ในระดับไฮเอนด์

เนื่องจากลูกค้ายุคนี้มีไลฟ์สไตล์และความต้องการที่ ‘niche’ เป็นตัวเองมาก เฉพาะกลุ่มมากขึ้น Central Park จึงต้องการจะเลือกสรรประสบการณ์ที่แตกต่าง แยกย่อยลงไป มองหาแบรนด์ที่น่าสนใจเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์หลายรูปแบบ เป็นแบรนด์ที่เป็นที่สุดของโลก หรือที่สุดของคนไทย แบรนด์มีเอกลักษณ์หรือเรื่องราวชัดเจน

Central Park ตั้งเป้าจะดึงดูดแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยมีในไทยหรือไม่เคยมีในเครือเซ็นทรัลพัฒนามาก่อนราว 10-20% ของศูนย์การค้า ส่วนที่เหลือแม้จะเป็นการเปิดสาขาของแบรนด์เดิม แต่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้เปิดร้านแบบ ‘new concept’ แตกต่างจากสาขาอื่นที่เคยมี

อีกมุมของสวน 7 ไร่บนชั้น 7

เฉพาะร้านประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) คาดว่าจะมีราว 30-35% ของศูนย์การค้า โดยไฮไลต์ของส่วนร้านอาหารคือ พื้นที่บนชั้น 7 ซึ่งเป็นสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ 7 ไร่ จะมีการจัดสรรเป็นพื้นที่เช่าร้านอาหาร ผสมกลมกลืนไปกับสวน ซึ่งทำให้ได้บรรยากาศรูปแบบใหม่ในการรับประทานอาหาร

 

ชูอีเวนต์สายอาร์ต-ดนตรี

ด้านการจัดอีเวนต์ที่ Central Park เนื่องจากศูนย์ฯ​ นี้มีการจัดสวนลอยฟ้า 7 ไร่ไว้เป็นพื้นที่สาธารณะ จึงทำให้งานอีเวนต์ต่างๆ จะเน้นการจัดงานภายในสวนแห่งนี้ เชื่อมโยงกับฝั่งสวนลุมพินี

โดยสายอีเวนต์หลักๆ ที่เซ็นทรัลพัฒนาจะเน้นการจัดงานที่นี่คือ “ศิลปะ” และ “ดนตรี” เพราะต้องการเน้นไลฟ์สไตล์ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถเข้ามาวิ่งออกกำลังในลู่วิ่ง Jogging Track ในสวน พร้อมชมงานศิลปะ ดนตรี โชว์การแสดงต่างๆ ที่จะจัดขึ้น

รวมถึงที่นี่จะเป็นจุดจัดอีเวนต์ “Countdown Celebration” อีกแห่งหนึ่ง ตีคู่มากับเซ็นทรัลเวิลด์ แต่จะวางคอนเซ็ปต์งานให้ต่างกัน

 

วางเป้าทราฟฟิก 25 ล้านคนต่อปี

เป้าหมายของ Central Park นั้นส่วนหลักจะเน้นดึง “ผู้มีกำลังซื้อสูง” ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว แต่ก็รวมไปถึงกลุ่มคนทั่วไปที่ต้องการมารับประสบการณ์ภายในศูนย์ฯ ด้วยเช่นกัน

โดยเซ็นทรัลพัฒนาตั้งเป้าว่าจะมีทราฟฟิกเข้าศูนย์ฯ ได้ 25 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 10 ล้านคนต่อปี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ ‘ต้องมา’ ของกรุงเทพฯ

ในแง่การดึงดูดกลุ่มกำลังซื้อสูง นอกจากภายในโครงการมิกซ์ยูสจะมีทั้งโรงแรมดุสิตธานีที่เป็นระดับ 5 ดาว, กลุ่มผู้พักอาศัยในเรสซิเดนซ์ และกลุ่มพนักงานในออฟฟิศเกรดเอแล้ว ในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบโครงการยังมีคอนโดฯ ระดับลักชัวรีอีก 17,000 ยูนิต, โรงแรมระดับลักชัวรี 6,500 ห้อง, ออฟฟิศเกรดเอ 1.5 ล้านตารางเมตร, สถานทูตและสถานกงสุล 47 แห่ง รวมถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลชั้นนำอีกมากมาย ซึ่งเหล่านี้คือแหล่งรวมลูกค้าระดับบนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ Central Park

 

แลนด์มาร์กที่ 3 ของ “เซ็นทรัล” กลางกรุงเทพฯ

Central Park นี้ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลที่ตั้งอยู่บน ‘จุดตัด’ สำคัญในเมือง ถัดจาก “เซ็นทรัลเวิลด์” แยกราชประสงค์ และ “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” บนแยกเพลินจิต-วิทยุ

ทั้ง 3 แลนด์มาร์กมีจุดขายที่ต่างกัน “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” จะยังคงเป็นแหล่งรวมแบรนด์ระดับซูเปอร์ลักชัวรีของไทย “เซ็นทรัลเวิลด์” เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดที่รวมแบรนด์ไว้จำนวนมาก และ “Central Park” คือการสร้างประสบการณ์ลักชัวรีที่แตกต่าง

Central Park ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
ทีมงาน บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา: (จากซ้าย) “อิศเรศ จิราธิวัฒน์” Head of Fashion and Luxury Partner Management, “ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล” Chief Development and Commercial Officer, “วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” Chief Marketing Officer

หลังจากนี้ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จะทยอยสร้างเสร็จทีละส่วน ได้แก่

  • โรงแรมดุสิตธานี แบงค็อก เปิดกลางปี 2567
  • อาคารสำนักงาน Central Park Offices เปิด Q2/2568
  • ศูนย์การค้า Central Park เปิด Q3/2568
  • คอนโดฯ Dusit Residences และ Dusit Parkside เปิดปลายปี 2568

ต้องรอชมว่าหลังก่อสร้างเสร็จ “Central Park” จะเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาศูนย์การค้าไปอย่างไร!