-
เปิดงบลงทุน 18,000 ล้านบาทของ “ไทยเบฟ” ปี 2568 ไฮไลต์โครงการ “AgriValley” ฟาร์มโคนม 20,000 ตัวในมาเลเซีย โรงงานผลิตนม ชาเขียว และเบียร์ในกัมพูชา รวมถึงการขยายกลุ่มร้านอาหารอีก 69 สาขา
-
เจาะวิสัยทัศน์ “PASSION 2030” รักษาตำแหน่งบริษัทผู้นำในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งอาเซียน
“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำทีมผู้บริหารเปิดแถลงข่าวแผนธุรกิจการลงทุนในปี 2568
โดย “ประภากร ทองเทพไพโรจน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุดการเงินและบัญชีกลุ่ม เปิดเผยว่า ไทยเบฟมีการวางงบการลงทุนในปี 2568 ไว้ที่ 18,000 ล้านบาท
มีไฮไลต์สำคัญในงบการลงทุนก้อนนี้คือ โครงการ “AgriValley” ซึ่งได้มาจากการแลกหุ้นนำธุรกิจเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) เข้ามาอยู่ในพอร์ตของไทยเบฟ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ “ฟาร์มโคนม” ในมาเลเซีย ซึ่งจะมีการเลี้ยงโคนมถึง 20,000 ตัว บนพื้นที่ 2,726 เฮกตาร์ (ประมาณกว่า 17,000 ไร่) คาดจะผลิตน้ำนมได้ 200 ล้านลิตรต่อปี
“โครงการนี้เกิดจากรัฐบาลมาเลเซียต้องการจะสร้างความมั่นคงทางอาหารของตนเอง เพราะเห็นตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แล้วว่าถ้าไม่มีเรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาต่อประเทศได้ ทางบริษัท F&N ที่มาเลย์ก็มีการทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล ทำให้เรารู้ว่าเขาต้องการวางกลยุทธ์ของประเทศในแบบนี้ จึงมีการสร้างโครงการนี้ขึ้น และตัวเราเองก็มองยาวว่าเราสามารถสร้างมาเลเซียเป็น ‘Hub of Halal’ ได้เลย คือสามารถส่งสินค้าฮาลาลจากมาเลย์ไปประเทศที่รับประทานอาหารฮาลาลอื่นๆ ได้อีก” ฐาปนกล่าว
ประภากรกล่าวต่อว่า อีกไฮไลต์หนึ่งในการลงทุนปีหน้าคือการก่อสร้างโรงงานใน “กัมพูชา” ต่อเนื่อง โดยจะใช้งบประมาณอีก 2,500 ล้านบาท สร้างโรงงานครบวงจรที่ผลิตสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ “นมข้นหวาน” ตราทีพอท, “ชาเขียว” โออิชิ และ “เบียร์” ช้าง โดยเฉพาะสายการผลิตเบียร์นี้คาดว่าจะมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตรเมื่อเปิดดำเนินการ คาดเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ต้นปี 2569
- “ไทยเบฟ” ประกาศรายได้ 9 เดือน 2.17 แสนล้าน ขยายกำลังผลิตสุราในนิวซีแลนด์ สร้างโรงงานเบียร์กัมพูชา
- “โออิชิ” คัมแบ็ก! กำไรเกือบเท่าปี 19 เร่งขยายพอร์ตทั้ง “ชาเขียว-ร้านอาหาร”
ด้าน “โสภณ ราชรักษา” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดเผยว่างบลงทุนปีหน้าของกลุ่มอาหารจะอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบรวมทั้งการเปิดร้านอาหารสาขาใหม่และรีโนเวตสาขาเดิม
โดยการเปิดสาขาใหม่จะเปิดรวมทั้งหมด 69 สาขา แบ่งเป็นร้านเคเอฟซี (KFC) ทั้งหมด 45 สาขา ส่วนที่เหลือ 24 สาขาจะเป็นแบรนด์อื่นๆ ในเครือ ซึ่งหลังจากเปิดครบทั้งหมดตามเป้าแล้ว จะทำให้สิ้นปี 2568 ไทยเบฟจะมีร้านอาหารรวม 888 สาขา
“PASSION 2030” ของ “ไทยเบฟ”
บนเวทีวันนี้ (1 ตุลาคม 2567) เจ้าสัว “ฐาปน” ยังแสดงวิสัยทัศน์ใหม่ไทยเบฟ “PASSION 2030” หรืออีก 6 ปีข้างหน้า เป้าหมายคือต้องการจะยึดตำแหน่งผู้นำในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งอาเซียนไว้ให้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ฐาปนฉายภาพว่า วิธีการไปสู่เป้าหมายจะแบ่งออกเป็น 2 แกนหลักคือ “Reach Competitively” และ “Digital for Growth”
แกนกลยุทธ์ Reach Competitively หมายถึงการสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขันและบริการเพื่อตอบสนองลูกค้า เช่น การเข้าถึงทุกพื้นที่ ไปให้ถึงลูกค้าทุกคน ไม่ใช่แค่ในไทยแต่ไปทั่วอาเซียน
“ลูกค้าวันนี้ให้เวลาแค่ 30 วินาทีในการรอคอยการบริการที่ประทับใจกับตัวเขา ราคาต้องดี สินค้าต้องดี ทุกอย่างครบ” ฐาปนกล่าว
ส่วนแกนกลยุทธ์ Digital for Growth คือ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในทุกส่วนทุกขั้นตอนขององค์กร เช่น การ upskill บุคลากรให้สามารถใช้งานดิจิทัลในการทำงานได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว การนำดาต้าที่เก็บมามาใช้ในการทำงานและตัดสินใจทางการบริหารได้จริง
ในประเด็นนี้ “โฆษิต สุขสิงห์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวเสริมด้วยว่า การนำดิจิทัลมาใช้จะรวมถึงพันธมิตรธุรกิจของไทยเบฟด้วย จากจุดขายของบริษัทในไทยที่มีถึง 8 แสนจุด ในเวียดนามอีก 8-9 แสนจุด จะมีการนำดิจิทัลมาเพื่อใช้เชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด โดยมีการใช้ Deep Tech จากสตาร์ทอัพมาเสริมแกร่งให้กับองค์กร
ฐาปนกล่าวปิดท้ายว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ตามพันธกิจขององค์กร ไทยเบฟจะต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 ด้วยการเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่ PASSION 2030 ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีข้างหน้า