หลังจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ‘เจโทร’ เผยถึงแนวโน้มของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีการเติบโตลดลง เมื่อรวมกับที่ผ่านมามีการปิดตัวของร้านอาหารประเภทนี้หลายต่อหลายร้าน ทำให้เกิดคำถามว่า หรือธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่เคยเฟื่องฟูจะสิ้นเสน่ห์แล้ว?
ต่อคำถามที่เกิดขึ้น Positioning ได้พูดคุยกับผู้บริหารของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG หนึ่งผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหารของบ้านเรา โดย ‘ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Asian Cuisine ยืนยันว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยังไปได้ดีและมีเสน่ห์อยู่
“ร้านอาหารญี่ปุ่นตอนนี้ดูเหมือนจะล้นตลาด แต่ยังโตอยู่แม้จะอยู่ในอัตราลดลง เพราะการแข่งขันรุนแรง จากการเปิดรับอาหารของคนไทย อย่างปีที่ผ่านมามีแบรนด์และเชนใหม่ ๆ เข้ามามากมายทั้งเกาหลี จีน และตะวันตก ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น และส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตไม่มากเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้บอกไม่ได้ว่า ธุรกิจนี้หมดเสน่ห์แล้ว”
ส่วนใครจะอยู่ ‘รอดได้’ หรือ ‘ต้องปิดตัวไป’ นั้น หลัก ๆ นอกจากวัดกันที่ ‘คุณภาพ’ ทั้งรสชาติอาหารและบริการแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะจับทางผู้บริโภคได้ถูกมากกว่ากัน โดยเทรนด์ของผู้บริโภคที่จะส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหาร ได้แก่
-‘ของถูกไม่จำเป็นต้องราคาถูก’ สำหรับผู้บริโภคยุคปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี ‘ราคาถูก’ เสมอไป แต่หมายถึงเมื่อเทียบคุณภาพกับราคาแล้วต้อง ‘คุ้มค่า’ ซึ่งเป็นโอกาสให้แบรนด์ใหม่และโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ง่าย เช่น สุกี้ตี๋น้อย ลัคกี้สุกี้ ฯลฯ
– ‘เทรนด์สุขภาพยังอยู่ต่อไป’ แม้การระบาดของโควิดจะผ่านพ้นไป แต่ผู้บริโภคก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะการกินดีอยู่ดี เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
-‘มื้ออาหารไม่ได้จำกัดอยู่ที่ 3 มื้อแบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็นอีกต่อไป’ โดยปัจจุบันลูกค้ามีการบริโภคอาหาร 5-6 มื้อต่อวัน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนทุกคนจะกินทุกมื้อ เช่น มี Bruch อาหารมื้อสาย หรือกรณีของคนทำ IF (Intermittent Fasting) ดังนั้น ร้านอาหารจึงจำเป็นต้องดีไซน์อาหารให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด
-‘โซเชียลมีเดียและการรีวิวมีผลต่อการตัดสินใจของคนมากขึ้น’ โดยเวลาจะตัดสินใจเลือกร้านอาหารร้านไหนพวกเขาจะทำการบ้านมาก่อนและเลือกตั้งแต่อยู่ที่บ้าน แตกต่างจากอดีตที่ต้องเดินรอบหรือสองรอบก่อนจะตัดสิน
“ดีมานด์ของคนเปลี่ยนไป เช่น 3-4 ปีก่อน บริษัทใหญ่ไม่มีใครคิดหรอกว่า การทำของราคาถูก แล้วพยายามบริหารต้นทุนให้ถูก จะเป็นโมเดลที่อยู่รอดได้ หรือเปิดถึงตี 2 ตี 3 หรือ 24 ชั่วโมง จะมีคนซื้อ แต่วันนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ แถมเวิร์กด้วย ทั้งหมดผู้ประกอบการต้องเข้าใจ จับจุดให้ถูก ใครทำได้ก่อน คนนั้นก็ชนะ”
เปิดแผน CRG บุกตลาด Asian Cuisine
สำหรับ CRG กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นมีการเติบโตดีอยู่ในอัตราสองหลัก โดยปัจจุบันมีร้านภายในเครือ 7 แบรนด์ ได้แก่ Ootoya, Katsuya, Pepper Lunch, Yoshinoya, Chabuton, Ramen Kagetsu Arashi, Tenya ที่ในปีนี้จะเห็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 แบรนด์หลักอย่าง Katsuya, Ootoya และ Pepper Lunch
รวมถึงการเปิดแบรนด์ใหม่อย่าง Hanam Pig ร้านปิ้งย่างอันดับหนึ่งจากเกาหลี เพื่อเสริมให้พอร์ต Asian Cuisine แข็งแกร่งมากขึ้น
“เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เช่น ตอนนี้อย่างที่บอกไปผู้บริโภคมองหาความคุ้มค่า ไม่ใช่ราคาถูก ผู้ประกอบการต้องตามให้ทัน โดยต้องทำเข้าใจลูกค้ามากขึ้น”
เรื่องนี้ทาง CRG ให้ความสำคัญกับ Big Data ที่จะถูกนำมาใช้สำหรับพัฒนาและปรับปรุงทั้งรูปแบบร้าน สินค้า ไปจนถึงบริการ และทำโปรโมชั่นแบบรายวันให้ตอบความต้องการของลูกค้า
อย่างปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับโฉมร้าน Katsuya สาขาเซ็นทรัลเวิล์ด ให้เป็นแฟลกชิปสโตร์ มีการปรับบรรยากาศภายในร้านให้สามารถถ่ายภาพได้โชว์บนโซเชียลได้ เพื่อตอบโจทย์คนยุคออนไลน์
รวมถึงมีการปรับเมนู ด้วยการเพิ่มรีฟิลให้สามารถเติมข้าว เติมซุปได้ไม่อั้น ซึ่งหลังจากปรับโฉมไปเมื่อเดือนธันวาคม ปรากฏว่า ยอดขายขึ้นเท่าตัว ทำให้เตรียมจะขยายสาขาในโมเดลใหม่นี้เพิ่มอีก 10 สาขา
“Katsuya เป็นทงคัตสึเบอร์หนึ่งในญี่ปุ่นที่นำเสนอความคุ้มค่ามาตลอด แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงมากมาย บวกกับพฤติกรรมของคนไทยกับคนญี่ปุ่นต่างกัน ทำให้นำเสนอไปกับเจ้าของสิทธิ์ว่า ถ้าเป็นโมเดลเดิมคงไม่เติบโตไปมากกว่านี้ จึงเสนอที่จะปรับปรุงในหลายเรื่อง โดยสิ่งที่ปรับมาจาก Big Data ที่เรามี”
ขณะที่แบรนด์ Ootoya นอกจากการขยายสาขาใหม่แล้ว ในปีนี้จะมีการแตกแบรนด์ลูก นั่นคือ Ootoya Shabu เป็นร้านชาบูที่รวมอาหารสไตล์ healthy คาดว่า จะเปิดตัวประมาณช่วงกลางปี นี้ ซึ่งถือเป็นร้านชาบูภายใต้แบรนด์ Ootoya แห่งแรกของโลก
นอกจากนี้ มีแผนจะปรับสาขาเดิมของ Ootoya ให้เป็น Ootoya Premium นำเสนอเมนูพรีเมียมที่ไม่เคยขายในร้านมาก่อน ในราคาเข้าถึงง่าย
สำหรับ Pepper Lunch วางแผนจะปรับ Mood and tone จากร้านโทนสีดำให้มีความสว่างและมีความสนุกสนานมากขึ้น เพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
นอกจากการบุกในเซ็กเม้นท์ร้านอาหารญี่ปุ่นแล้ว ช่วงไตรมาสสองของปีนี้ จะมีนำเปิดแบรนด์ใหม่ในเซ็กเมนต์อาหารเกาหลีเข้ามาเปิดในไทย ได้แก่ Hanam Pig ร้านปิ้งย่างอันดับหนึ่งจากเกาหลี ที่ตอนนี้เจรจาคืบหน้าไปแล้ว 80-90%
การนำร้านปิ้งย่างจากเกาหลีมาเปิดครั้งนี้ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Asian Cuisine ของ CRG ไม่ได้มองว่า เป็นการขยับที่ ‘ช้าไป’ เพราะการจะนำแบรนด์ใดเข้ามา ทางบริษัทฯ จะคำนึงการมีศักยภาพของแบรนด์นั้นต้องสามารถอยู่ได้ในระยะยาว และต้องขยายสาขาไปได้ไกล
สำหรับภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ ยังมีการเติบโตที่ดี ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันรุนแรง ส่วนใครจะอยู่รอดได้นั้น นอกจากคุณภาพแล้ว สิ่งสำคัญคือ ‘ต้องเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้น’ และ ‘นำเสนอในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ’ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โลกและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว