5 เทรนด์ธุรกิจ “ร้านอาหาร” มาแรงปี 2567 บทวิเคราะห์จาก “CRG”

ร้านอาหาร
(Photo: Shutterstock)
ก่อนหน้านี้ “ณัฐ วงศ์พานิช” นายใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “CRG” เพิ่งประกาศแผนการลงทุนของบริษัทในปี 2567 ภายในงานเดียวกันณัฐยังเผยบทวิเคราะห์ธุรกิจ “ร้านอาหาร” ที่จะเป็นเทรนด์มาแรงในปี 2567 Positioning เก็บหัวข้อที่น่าสนใจมาแบ่งปัน ดังนี้

1.เศรษฐกิจของ “คนอยู่คนเดียว” (Solo Economy)

คนยุคใหม่นิยมอยู่คนเดียวและไปไหนมาไหนคนเดียวมากขึ้น หรือถ้าอยู่เป็นคู่ก็มักจะไม่มีลูก หากมีลูกก็มักจะมีไม่เกิน 2 คน เทรนด์ขนาดครอบครัวที่เล็กลงไปจนถึงการอยู่เป็นโสด ทำให้การดีไซน์ร้านอาหารต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม จำนวนที่นั่งต่อโต๊ะไม่ควรเกิน 4 คน และควรจะมีมุมที่นั่งสำหรับคนมาคนเดียวมากขึ้น

2.กลับมา “ทานในร้าน” (Dine-in)

จากข้อมูลของ CRG เองพบว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาทานอาหารในร้านมากขึ้นตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปี 2567 สัดส่วนการทานในร้าน (Dine-in) คิดเป็น 80% ส่วนสั่งจัดส่งถึงที่ (Delivery) มีสัดส่วน 20% ธุรกิจร้านอาหารเกิดสมดุลใหม่ในสัดส่วนนี้ ทำให้ร้านอาหารที่ยังเน้นส่งเดลิเวอรีเป็นหลักอาจจะไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่หลังโควิด-19 ผ่านพ้น

ผู้บริโภคกลับมาทานในร้าน ทำให้สัดส่วนการขายผ่านเดลิเวอรีลดลง (Photo : Shutterstock)

3.พรีเมียมกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป (Premium become norm)

เทรนด์การยกระดับสตรีทฟู้ดหรืออาหารที่หาทานได้ทั่วไปให้กลายเป็นอาหาร “พรีเมียม” กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก และผู้บริโภคให้การตอบรับดี ตัวอย่างการปรับบิดให้อาหารทั่วไปกลายเป็นพรีเมียม เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อวากิว จากก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท กลับกลายเป็นขายได้ในราคา 300 บาท ผู้บริโภคพร้อมจ่าย

4.กำเนิดมื้ออาหาร “มื้อที่ 5” (The Fifth Meal)

จากเดิมธุรกิจร้านอาหารสามารถแบ่งตามมื้อได้เป็น มื้อเช้า มื้อเที่ยง ของว่างยามบ่าย และมื้อเย็น ปัจจุบันได้เกิด “มื้อที่ 5” ขึ้น คือ มื้อดึก ที่ไม่ใช่แค่ต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทานที่บ้าน แต่เป็นการออกมารับประทานอาหารมื้อใหญ่กันช่วง 3 ทุ่ม – ตี 3 ร้านสุกี้ ชาบู หมูกระทะ ขายดีกันตอนดึกๆ แบบนี้ หรือการเจริญเติบโตของถนนบรรทัดทองก็เกิดจากการออกมาทานมื้อดึกมากขึ้นเช่นกัน

นักล่าหมูกระทะ ตัวอย่างร้านตอบโจทย์ “มื้อดึก” เปิดถึงตี 2 และช่วงขายดีคือช่วงหลัง 4 ทุ่ม

5.ปรับให้เป็นดิจิทัล (Digitalization)

การดำเนินธุรกิจร้านอาหารจะต้องปรับให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น CRG มีการปรับการสั่งอาหารให้ลูกค้าสแกน QR CODE และสั่งด้วยตนเองผ่านระบบดิจิทัล ทำให้ลดต้นทุนแรงงานไปได้ 10% อย่างไรก็ตาม การปรับเป็นดิจิทัลต้องศึกษากลุ่มลูกค้าด้วยเช่นกัน บางร้านที่ฐานลูกค้าหลักเป็นผู้สูงวัยอาจจะไม่เหมาะที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2567 ณัฐยังบอกด้วยว่าคาดว่ามูลค่าตลาดที่มีกว่า 4.8 แสนล้านบาท น่าจะเติบโตได้ 5-7% เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวและส่งออกที่ฟื้นตัวดี อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อควรระวังที่อาจจะกระทบกับคาดการณ์ได้ เช่น อัตราหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก การใช้จ่ายของภาครัฐล่าช้า โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกหากสงครามขยายวงกว้างขึ้น

ด้านความท้าทายอื่นๆ ของภาคธุรกิจร้านอาหาร มองว่าต้นทุนส่วนใหญ่ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าวัตถุดิบ ได้ปรับขึ้นไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2567 จะเหลือเพียงปัญหา “แรงงาน” ที่ค่าแรงอาจจะปรับขึ้นอีก และธุรกิจนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น