“ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร” ติด Top 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการสูงสุด ตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และช่วง 10 เดือนแรก ปี 2567 มีการเลิกกิจการสูงขึ้น 89% เมื่อเทียบกับปีก่อน (อ้างอิงศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ส่วนการเปิดกิจการใหม่มียอดคงที่
สะท้อนว่า “ธุรกิจร้านอาหารในไทยมีการแข่งขันดุเดือดต่อเนื่อง และการอยู่รอดไม่ง่ายอย่างที่คิด”
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 68 กดดันกำไร รายเล็ก-กลางเหนื่อย
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ตลาดร้านอาหารในปี 2568 มีความท้าทายหลายประการ ได้แก่
ประเด็นแรก “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ในปี 2568 ในอัตราแตกต่างกันตามพื้นที่ ประมาณ 7-55 บาท/วัน เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.9% เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ อ.สมุย สุราษฎร์ธานี ค่าแรง 400 บาท/วัน ส่วน กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ 372 บาท/วัน เป็นต้น
โดยปกติค่าแรงพนักงานจะคิดเป็น 20-25% ของต้นทุนร้านอาหาร ซึ่งรับค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่แล้ว จากปัญหาการแย่งแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยว ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว พ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งเอเยนซี ค่าที่พัก และค่าอาหาร 3 มื้อ ตลอดจนค่าประกันสังคมที่ต้องจ่ายคนละครึ่งกับลูกจ้าง
ทำให้จากเดิม ยกตัวอย่าง สมมติค่าจ้างพนักงานอยู่ที่ 9,000 บาท/เดือน อาจต้องปรับขึ้นเป็น 12,000 บาท/เดือน ส่วนพนักงานคนอื่น ๆ ที่มีค่าแรงสูงกว่านั้น ก็ต้องปรับขึ้นให้เท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงรอบปี 2568 ดันต้นทุนทั้งระบบให้ขยายตัว ตั้งแต่ต้นทางจากผู้ผลิต และโรงงาน นำไปสู่การขึ้นราคาค่าวัตถุดิบ ท้ายสุดกลุ่มร้านอาหารต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ‘กดดันอัตรากำไรขั้นต้นร้านอาหารซึ่งมีสัดส่วนเพียง 15% ให้ลดลงไปอีก’
“ปีหน้าอย่าว่าแต่กำไรเลย แค่ประคองตัวให้รอดให้พอมีเงินจ่ายพนักงานก็พอ เพราะยุคนี้ร้านอาหารแค่อร่อยอย่างเดียวไม่พอ ต้องสายป่านยาว ใครที่อ่อนแอ อาจจะหยุดธุรกิจไปก่อน ที่น่าห่วงคือ รายเล็ก-กลาง เขาไม่เหมือนรายใหญ่ที่อยู่ตัวและขายดี”
กำลังซื้อซบ กินเพื่ออยู่รอด งดฟุ่มเฟือย ร้านอาหารแข่งดุแย่งลูกค้า
ประเด็นต่อมา เรื่องกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว ปัจจัยราคา เป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคใช้เลือกซื้ออาหาร อาทิ ช่วงนี้อาจเน้นซื้ออาหารจากตลาดนัดแทนไปกินร้านอาหาร หรือกระทั่งการเลือกสั่งของในราคาย่อมเยา
ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น ร้านขายไก่ย่าง ปกติอาจขายทั้งตัว ก็เปลี่ยนเป็น ขายครึ่งตัว, ขายแยกเป็นส่วนเล็ก ๆ หรือปรับเมนู แพ็กเกจจิ้งใหม่เป็นอีกรูปแบบ แต่ไม่ใช้วิธีติดป้ายขึ้นราคาอาหาร เพราะถ้าขึ้นลูกค้าจะรู้สึกไม่ดีต่อร้าน และยุคนี้การแข่งขันรุนแรง ต้องเน้นรักษาลูกค้า
”การทำร้านอาหารยุคนี้ต้องรอบรู้ เข้าใจทั้งผู้บริโภคว่าต้องการอะไร และปรับตัวให้ทันสภาวะเศรษฐกิจ“
ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อนที่เศรษฐกิจดี และร้านอาหารมีจำนวนน้อยมาก เช่น พื้นที่ กทม. ในอดีตมีร้านอาหารเพียงหลักร้อยร้านค้าเท่านั้น คนมาทีสั่งตั้งแต่เมนูออเดิร์ฟ อาหารจานหลัก ของหวาน ไอศกรีม และน้ำปั่น อัตรากำไรที่ได้ก็มาจากส่วนของเครื่องดื่มที่มีอัตรากำไรสูง เป็นต้น
ทว่าปัจจุบันมีร้านค้าหลักหลายแสนร้านค้า รวมถึงร้านค้าในอากาศบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ทำให้แข่งขันกันดุเดือด ประกอบกับผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง ทำให้สั่งเฉพาะพอกินอิ่ม สัก 2-3 เมนูเท่านั้น งดน้ำปั่นและของหวาน
ร้านอาหารโอเวอร์ซัพพลาย จีนตีตลาดไทย ปิดกิจการเพิ่ม 89%
สอดคล้องกับ ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในทุกระดับราคาและประเภทของอาหาร “ประเทศไทยมีความหนาแน่นของร้านอาหารต่อประชากรอยู่ที่ 9.6 ร้านต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูง”
โดยในปี 2568 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มจะมีจำนวนประมาณ 6.9 แสนร้าน และมีมูลค่าตลาดประมาณ 572,000 ล้านบาท เติบโต 4.8%
การแข่งขันในธุรกิจยังมาจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น (อ้างอิงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) จำแนกตามสัญชาติ ดังนี้
อันดับ 1 ไทย มูลค่า 8,602 ล้านบาท
อันดับ 2 จีน มูลค่า 549 ล้านบาท
อันดับ 3 ญี่ปุ่น มูลค่า 221 ล้านบาท
อันดับ 4 อินเดีย มูลค่า 218 ล้านบาท
อันดับ 5 ฝรั่งเศส มูลค่า 135 ล้านบาท
อันดับ 6 เกาหลีใต้ มูลค่า 108 ล้านบาท
โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีน มีมูลค่าการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น และแนวโน้มการเข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปิด-ปิดกิจการของผู้ประกอบการใหม่และเก่าเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ร้านอาหารปิดตัวเร่งขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ร้านอาหารมีการจดทะเบียนยกเลิกธุรกิจสูงถึง 89% (YoY) ขณะที่การเปิดตัวใหม่ไม่เปลี่ยน แปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน