“KFC” สาขาใหม่ในมือ “CRG” จะปรับเป็น “ดิจิทัล สโตร์” ทั้งหมด ตั้งหน้าจอสั่งอาหารด้วยตนเอง

KFC CRG ดิจิทัล สโตร์
KFC ภายใต้การบริหารของ CRG” วางกลยุทธ์ปรับประสบการณ์ภายในร้าน สาขาใหม่ทั้งหมดหลังจากนี้จะเปลี่ยนเป็น “ดิจิทัล สโตร์” ตั้งหน้าจอทัชสกรีนสั่งอาหารและชำระเงินด้วยตนเอง ปรับป้ายเมนูและโฆษณาในร้านเป็นจอดิจิทัล ด้านสาขาเดิมจะทยอยเปลี่ยนเป็นดิจิทัล สโตร์เช่นกัน ตั้งเป้าปี 2567 มีดิจิทัล สโตร์ครบ 50 สาขา

“ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวถึงกลยุทธ์ใหม่ของร้าน “KFC” ในการอัปเกรดประสบการณ์ภายในร้านให้เป็น “ดิจิทัล สโตร์” โดยระบบการสั่งอาหารและชำระเงินจะปรับมาเป็น kiosk ให้ลูกค้าสั่งและชำระเงินด้วยตนเองได้ผ่านหน้าจอทัชสกรีน และป้ายเมนู-ป้ายโฆษณาภายในร้านจะเป็นหน้าจอดิจิทัลทั้งหมด

“ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)

กลยุทธ์ใหม่นี้ถือเป็นทิศทางจาก “ยัม เรสเทอรองตส์” บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ KFC ที่ให้ไว้กับแฟรนไชซีทั้ง 3 เจ้า คือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ (CRG), เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) และ เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD) ให้ปรับเปลี่ยนหน้าสาขาเป็น “ดิจิทัล สโตร์”

ระบบซอฟต์แวร์และ UX/UI ของหน้าจอ kiosk สั่งอาหารจะเป็นรูปแบบเดียวกันหมด แต่แฟรนไชซีแต่ละเจ้าจะออกแบบร้านและรูปแบบภายนอกของจอด้วยตนเอง

 

เป้าปี 2567 มี “ดิจิทัล สโตร์” ครบ 50 สาขา

เฉพาะ KFC ภายใต้การบริหารของ CRG ปัจจุบันมี 330 สาขา (*หากนับถึงสิ้นปี 2566 จะเปิดจนครบ 335 สาขาตามแผน) ในจำนวนนี้นำร่องปรับเป็นดิจิทัล สโตร์แล้ว 10 สาขา

โดยมีสาขาที่เป็นแฟลกชิปสโตร์คือ “KFC Digital Lifestyle Hub” บนชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ ปรับปรุงจากสาขาเดิมและเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ถือเป็นต้นแบบการปรับเป็นดิจิทัล สโตร์ และโชว์การเปลี่ยนบรรยากาศในร้านให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น

KFC CRG
KFC Flagship Store @ centralwOrld

ปิยะพงศ์ระบุว่า CRG ตั้งเป้าปี 2567 จะเพิ่มจำนวนดิจิทัล สโตร์ของ KFC ขึ้นเป็น 50 สาขา

40 สาขาใหม่ที่จะเป็นดิจิทัล สโตร์ปีหน้า แบ่งเป็น 15 สาขาเปิดใหม่ และ 25 สาขาที่จะปรับปรุงจากสาขาเดิม ใช้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท

แผนในระยะยาว KFC ภายใต้ CRG จะเปิดสาขาใหม่เป็นแบบดิจิทัล สโตร์ทั้งหมด ส่วนการปรับปรุงสาขาเดิมจะทยอยปรับอย่างต่อเนื่อง

 

ลูกค้าสะดวกกว่า – ระยะยาวลดต้นทุนแรงงาน

ปิยะพงศ์กล่าวว่า วิสัยทัศน์จาก “ยัม เรสเทอรองตส์” มองว่า การวางระบบร้านเป็นดิจิทัล สโตร์จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของทุกแบรนด์ร้านอาหารประเภท QSR (Quick Service Restaurant) ภายใน 3 ปี เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ลูกค้าจ่ายเงินสะดวกและเร็วขึ้น, พนักงานบริหารหน้าร้านง่ายกว่าในการเปลี่ยนเมนูและโปรโมชัน, ลดต้นทุนแรงงานได้ในระยะยาว

KFC ดิจิทัล สโตร์
kiosk สำหรับสั่งอาหารและชำระเงินด้วยตนเอง

ปัจจุบันร้านที่นำร่องไปแล้ว 10 สาขา พบว่า 75% ของลูกค้าเลือกใช้งานสั่งอาหารผ่านจอดิจิทัล และ 25% เลือกสั่งอาหารผ่านเคาน์เตอร์ปกติ สะท้อนว่าลูกค้าสะดวกที่จะใช้งาน kiosk มากขึ้น

“เราดูตัวอย่างจากโรงหนังได้เพราะเริ่มเปลี่ยนก่อนเราไปนานแล้ว แรกๆ ลูกค้าอาจยังไม่ชินและยังต้องมีพนักงานคอยประกบทุกเครื่อง แต่ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการใช้งาน ทำให้พนักงานที่คอยอำนวยความสะดวกหน้าเครื่องลดลงได้” ปิยะพงศ์กล่าว

ในระยะยาวอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้าจึงเชื่อว่า ดิจิทัล สโตร์จะลดจำนวนแรงงานประจำร้านได้ เช่น จากเดิม 10 คน อาจลดเหลือ 7-9 คน

อย่างไรก็ตาม CRG ไม่มีแผนปลดพนักงานออก แต่จะเป็นการโยกย้ายตำแหน่งจากแคชเชียร์ไปยังจุดอื่นในร้าน หรือปรับย้ายไปสาขาเปิดใหม่

 

“ไก่ทอด” ยังโตได้แบบ “ดับเบิล ดิจิต”

ด้านตลาดร้านอาหารประเภท QSR ในปี 2566 ปิยะพงศ์ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดรวมกว่า 45,000 ล้านบาท มาจากกลุ่มหลัก 3 กลุ่ม คือ ไก่ทอด, เบอร์เกอร์ และพิซซ่า ซึ่งกลุ่มไก่ทอดเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท และเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ดีในปีนี้

KFC CRG

เฉพาะ KFC ภายใต้ CRG ปี 2566 คาดว่าจะทำยอดขายได้ถึง 7,000 ล้านบาท เติบโต 11% จากปีก่อนหน้า ทั้งจากการขยายสาขาใหม่ การทำโปรโมชันและเมนูใหม่สร้างกระแสในตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงร้านให้น่านั่งมากขึ้น

จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ KFC ของ CRG มีจำนวนลูกค้าสูงขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อนหน้า โดยขณะนี้มีจำนวนออร์เดอร์กว่า 2,000 บิลต่อสาขาต่อสัปดาห์ ส่วนการใช้จ่ายต่อบิลยังอยู่ที่เฉลี่ย 200 บาทเช่นเดิม ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์บริษัทที่เน้นการเพิ่มจำนวนลูกค้ามากกว่าเพิ่มราคาสินค้า

ส่วนสถานการณ์ตลาดร้าน QSR ปี 2567 ปิยะพงศ์คาดว่าค่าเฉลี่ยตลาดน่าจะโตได้ดิจิตเดียว แต่เฉพาะกลุ่ม “ไก่ทอด” น่าจะโต “ดับเบิล ดิจิต” และ KFC ภายใต้ CRG ตั้งเป้ายอดขายเติบโตประมาณ 12% สอดคล้องกับตลาด เพราะมีแผนการเปิดสาขาเพิ่มต่อเนื่อง

ร้าน KFC ภายใต้ CRG มีการขยายไปเมืองรองเพิ่มขึ้นมากในระยะหลังเพราะสามารถขยายไปกับสถานีน้ำมันได้ ปัจจุบัน 330 สาขาที่มีแบ่งเป็น โมเดลร้านในศูนย์การค้า/ไฮเปอร์มาร์เก็ต 200 สาขา, โมเดลร้านในสถานีน้ำมันและตึกแถว 110 สาขา และโมเดลร้านแบบไดรฟ์ทรู 20 สาขา