‘ซูชิ’ ครองแชมป์ร้านอาหารญี่ปุ่น ‘ปิดตัวมากที่สุด’ เหตุผู้บริโภคมองหา ‘รสชาติต้นตำรับในราคาย่อมเยา’ สวนทางต้นทุนที่สูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารปี พ.ศ. 2567 จะเติบโตขึ้น 8.9% จากปีก่อน คิดเป็น 5.45 แสนล้านบาท โดยร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะเติบโต 6.9% จากปีก่อน คิดเป็น 2.07 แสนล้านบาท แม้มูลค่าจะเติบโต แต่จำนวนร้านอาหารเปิดใหม่กับปิดตัวแทบจะเรียกได้ว่าแทบ ครึ่งต่อครึ่ง เพราะการแข่งขันที่รุนแรง รวมไปถึง ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เริ่มเห็นการเติบโตของร้านที่ช้าลง

ร้านอาหารญี่ปุ่นเริ่มโตอืด

จากการสำรวจของ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ พบว่า การเติบโตของ ร้านอาหารญี่ปุ่น ในประเทศไทย ปี 2567 ที่ผ่านมาจะเริ่ม ชะลอตัว อันเป็นผลจากการแข่งขัน และสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้มีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดใหม่เพียง 165 ร้าน หรือเติบโต +2.9% รวมทั้งหมดเป็น 5,916 ร้าน โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการเติบโต 2.7% ส่วนในต่างจังหวัดเติบโต 3.1%

สำหรับประเภทร้านอาหารที่ ปิดมากที่สุด ได้แก่

  • ซูชิ เหลือ 1,279 ร้าน -6.8%
  • สุกี้, ชาบู เหลือ 448 ร้าน -1.1%
  • ข้าวหน้าเนื้อ เหลือ 162 ร้าน -4.1%
  • ข้าวแกงกะหรี่, ข้าวห่อไข่ เหลือ 156 ร้าน -1.3%

คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ อธิบายว่า ร้านซูชิซึ่งเป็นประเภทร้านที่มีจำนวนร้านมากที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 โดยปัจจัยที่ร้านซูชิปิดเยอะเป็นเพราะ การแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมามีร้านซูชิคุณภาพดีและราคาไม่แพงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการซูชิที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร้านซูชิที่แข่งขันกันด้านราคา 

ขณะเดียวกัน ต้นทุนก็สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากราคาวัตถุดิบ และค่าแรงต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ร้านซูชิในไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก บางส่วนเป็นร้านแฟรนไชส์ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าอาจจะมีบางร้านที่เลือกจะไม่ต่อสัญญา รวมถึงมีบางส่วนที่เปลี่ยนจากขายซูชิอย่างเดียว ไปขายอาหารประเภทอื่น ๆ รวมด้วย

สำหรับประเภทร้านอาหารที่ เปิดใหม่มากที่สุด 

  • ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น จำนวน 1,439 +6.3%
  • ราเมง จำนวน 802 ร้าน +8.2%
  • อิซากายะ จำนวน 480 ร้าน +9.8%
  • ปิ้งย่าง จำนวน 433 ร้าน +3.8%
  • คาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น 329 ร้าน +13.1%
  • แฮมเบิร์ก จำนวน 151 ร้าน +4.9%
  • อาหารทอด เช่น ทงคัตสึ, เทมปุระ 149 ร้าน +9.6%
  • อุด้ง, โซบะ จำนวน 36 ร้าน +16.1%

“ที่อาหารประเภทเส้นเติบโตเยอะเป็นเพราะคนไทยรู้จักและคุ้นเคย สามารถทานง่าย ไม่ยุ่งยาก วัตถุดิบก็หาง่ายกว่าการทำซูชิ ทำให้ร้านเปิดได้ง่าย ส่วนร้านอิซากายะก็ได้รับความนิยมจากคนไทยมาก เพราะสามรถนั่งกินดื่มได้แบบสบาย ๆ โดยเฉพาะร้านที่เป็นย้อนยุคคนไทยจะชอบ ส่วนร้านคาเฟ่เติบโตได้ดีในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว”

ร้านพรีเมียมหัวละ 1,000+ เพิ่มขึ้นมากที่สุด

เมื่อวิเคราะห์ร้านตามระดับราคาเฉลี่ยต่อหัวพบว่า ร้านที่มีราคาเฉลี่ยต่อหัว 

  • ราคา 101 – 250 บาท (2,057 ร้าน) +3%
  • ราคา 251 – 500 บาท (1,401 ร้าน) +4.4%
  • ราคา ต่ำกว่า 100 บาท (749 ร้าน) +2.4%
  • ราคา 501 – 1,000 บาท (681 ร้าน) -6.4%
  • ราคา มากกว่า 1,000 บาท (270 ร้าน) +13.9% 

“ในไทยสามารถแบ่งผู้บริโภคได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการร้านอาหารที่ราคาไม่สูงมาก และกลุ่มที่ต้องการทานร้านพรีเมียม อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ทานร้านที่ราคาไม่สูงมาก ก็ยอมจ่ายแพงขึ้นได้ในบางโอกาส”

ร้านเฉพาะทางจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตของจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะชะลอตัวลง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค แต่เชื่อว่าจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะยังเติบโตได้ เพราะประเทศไทยมีการรับประทานอาหารญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ชาวไทยจึงคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะใน ต่างจังหวัด ที่ยังมีโอกาสเติบโต

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมากถึง 1 ล้านคน/ปี ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดแนวโน้มของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมพร้อมทั้งค้นหาเทรนด์ใหม่ ๆ ของอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้น มองว่า เทรนด์ต่อไปของร้านอาหารญี่ปุ่นจะเป็น ร้านเฉพาะทาง เช่น ร้านแฮมเบิร์ก HIKINIKU TO COME ที่เพิ่งมาเปิดในไทย เป็นต้น 

ปัจจุบัน ไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นมากเป็น อันดับ 6 ของโลก ตามหลัง จีน (78,760 ร้าน), สหรัฐอเมริกา (26,040 ร้าน), เกาหลีใต้ (18,210 ร้าน), ไต้หวัน (7,440 ร้าน) และ เม็กซิโก (7,120 ร้าน)