เจาะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ในวันที่ “อินเทอร์เน็ต”เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ในยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในวงกว้างและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่“แบรนด์” ต่างๆ ต้องทำความเข้าใจถึงสกิลที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ในยุคที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลายเป็น The New Normal และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทุกด้านของผู้บริโภค

นับจากปี 2015 “กรุ๊ปเอ็ม” เริ่มทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เรียกว่าเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต “หน้าใหม่”  (The New Internet Users) ทั่วประเทศ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ ซึ่งขณะนั้นยังมีพฤติกรรมแตกต่างจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มเมืองที่ใช้งานมานาน แต่หลังจากปี 2017 ถึงปัจจุบันที่ประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วนกว่า 80% ต้องเรียกว่าวันนี้พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแต่ละกลุ่มมีความเชี่ยวชาญและแอดวานซ์ขึ้นทุกปี

สกิลใช้เน็ตเชี่ยวชาญ

ผลวิจัยภาพรวมพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัลประจำปี 2019  ในงาน GroupM Focal 2019 ได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ที่วันนี้อยู่ในทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่มีทักษะการใช้งานที่เชี่ยวชาญมากขึ้นในทุกด้าน

ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์

ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวว่าจากการลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศปี 2019  ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่และผู้ใช้เดิมในทุกอาชีพ ทุกวัย มีทักษะใกล้เคียงกัน  และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกกลุ่มย้ำว่าวันนี้ “อินเทอร์เน็ต” เป็นสิ่งที่พวกเขา “ขาดไม่ได้” และ “เป็นสิ่งที่ต้องใช้”

วันนี้พูดได้ว่าอินเทอร์เน็ต เป็นทุกอย่างของการใช้ชีวิต ทั้งการเสพสื่อและคอนเทนต์ ช่องทางการใช้เงินและหาเงิน

การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 2019  ทั่วประเทศ พบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล แพลตฟอร์มที่เรียกได้ว่า “เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต” อีกทั้ง “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ได้กลายเป็นช่องทางปกติของการติดต่อสื่อสาร

ตัวอย่าง อาจารย์ในโรงเรียนใช้ไลน์และเฟซบุ๊กติดต่อกับกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 1,200 คน  ข้าราชการ ส่งเอกสารหรือจดหมายราชการ ผ่านไลน์และอีเมล์ เป็นเรื่องปกติ   หรือการใช้โซเชียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” เป็นช่องทางสื่อสาร รับสมัครงาน  ขายสินค้า ซึ่งมีทักษะการใช้งานที่พัฒนาขึ้นทุกปี

ทรานส์ฟอร์มวิถีการใช้ชีวิต

หากย้อนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนต่างจังหวัดแต่ละวัย จากยุค 90 พบว่าทุกเจนเนอเรชั่น จะอยู่ในภาคเกษตรกรรม  โดยคนรุ่นเก่าจะอยู่ในภาคหัตถกรรม งานฝีมือ  ส่วนคนรุ่นใหม่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม

ก้าวมาสู่ปี 2017  ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัด ทุกเจนเนอเรชั่นยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม  โดยคนรุ่นเก่าเลือกเข้าสู่ภาคบริการในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ  ส่วนคนรุ่นใหม่ มุ่งสู่เส้นทางการเป็นเจ้าของธุรกิจ “อี-เอสเอ็มอี” การค้าขายออนไลน์

มาใน ปี 2019  การเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของคนในต่างจังหวัดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต  ทุกเจนเนอเรชั่น ก็ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม  โดยคนรุ่นเก่ากลับมาสู่ภาคหัตถกรรมอีกครั้ง  ขณะที่คนรุ่นใหม่มีวิถีการใช้ชีวิตทั้งการอยู่ในภาคหัตถกรรมและการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กใช้สื่อออนไลน์ทำธุรกิจและใช้ชีวิตอยู่อาศัยในชุมชน (Community) เพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

ส่องพฤติกรรมเสพสื่อ-คอนเทนต์ยุคดิจิทัล

สำหรับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนทั่วประเทศ ผู้บริโภคบอกว่าช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น วัตถุประสงค์หลักการใช้งาน คือ การเสพความบันเทิง การหาความรู้ และติดต่อกับคนอื่น ๆ และเป็นช่องทางการหารายได้

ด้านพฤติกรรมการเสพสื่อ (Media Now) ปี 2019 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ผ่าน 5 ช่องทางหลัก  ทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ ประกอบด้วย

  • POS  (สื่อ ณ จุดขาย) ยังเป็นสื่อที่ช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ การให้ข้อเสนอคูปองส่วนลด ทั้งคูปองปกติและอี-คูปอง
  • วิทยุ  รูปแบบใหม่การฟังวิทยุ ผ่านยูทูบ และ JOOX  สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเริ่มหันมาฟังวิทยุผ่านยูทูบมากขึ้นเรื่อยๆ และพูดถึง JOOX น้อยลง
  • ทีวี  ปัจจุบันคนยังดูทีวีบ้างกลุ่ม และบางกลุ่มหันไปดูทีวีผ่านยูทูบ, ไลน์ทีวี, แอป Mello ของช่อง 3  ที่ผู้ชมบอกว่าสามารถดูทีวีย้อนหลังได้เร็วกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ
  • สื่อสิ่งพิมพ์ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง  การสำรวจปีก่อนคนยังอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อตรวจลอตเตอรี่ แต่วันนี้หันไปตรวจผ่านช่องทางออนไลน์  พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์สื่อสิ่งพิมพ์วันนี้ได้เปลี่ยนไปอยู่บนช่องทาง เฟซบุ๊ก ฟีด, ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ไลฟ์
  • สื่อนอกบ้าน ปรับเปลี่ยนเป็นป้านโฆษณาดิจิทัล หรือป้ายจอแอลอีดี  กิจกรรมโรดโชว์ รถแห่ ยังเป็นสื่อที่เรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้

โปรแกรมผ่านสื่อ (Media Programme Now) ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในปัจจุบัน

  • ซิทคอม  เรื่อง “เป็นต่อ” ถือเป็นซิทคอมที่อมตะไปแล้ว แม้จะเปลี่ยนช่องและเวลาไปมาก็ตาม แต่เวอร์ชั่นที่เป็นออริจินัลยังได้รับความสนใจจากผู้ชมสูงสุด  เรื่องต่อมาคือ  เสือ ชะนี เก้ง  โดยผู้ชมนิยมดูผ่านยูทูบและไลน์ทีว
  • ละคร ​ เรื่องที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา คือ เมียน้อย ทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25  และ ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง โดยนิยมดูผ่านยูทูบและแอป Mello เพราะหากเป็นละครชองช่อง 3 จะดูได้เร็วกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ
  • ดารา  ที่ได้รับความนิยมตลอดกาล คือ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ  ตามด้วย เบลล่า ราณี แคมเปน และ เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ  ความน่าสนใจ คือคนในจังหวัดนั้นๆ มักจะสนับสนุนดาราที่อยู่ในจังหวัดของตัวเอง อีกทั้งยังชื่นชอบคนที่เป็นแฟนด้วย  เช่น คนชอบ ณเดชน์ คูกิมิยะ ก็จะชอบ ญาญ่า  อุรัสยา เสปอร์บันด์  โดยนิยมติดตามผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก
  • รายการข่าว  นิยมดู ข่าวเช้าช่อง 8 เพราะเป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่หนัก ไม่ซีเรียล เป็นการเล่าไปเรื่อยๆ ตามด้วย ไทยรัฐ ที่นิยมดูผ่านเฟซบุ๊กเพจ
  • รายการกีฬา  คนไทยนิยมสนับสนุนนักกีฬาไทยไม่เปลี่ยนแปลง โดยนิยมกีฬาวอลเลย์บอล และ แบดมินตัน ตามด้วยการดูกีฬาในต่างประเทศ เช่น ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

“แอป”ที่ได้รับความนิยม  (Top Application 2019 in Thai Consumer)

  • ข่าว  ต้องยกให้ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งมีผู้ใช้ากกว่า 50% รองลงมาคือ ยูทูบ,อินสตาแกรมและทวิตเตอร์
  • การสื่อสาร  Line และ Facebook messenger ทั้งคู่มีการใช้งานที่มากกว่า 50%
  • เอ็นเตอร์เทนเม้นท์  ยูทูบและกูเกิล  มีการใช้งานมากกว่า 50% ซึ่งไม่แปลกใจมากนัก เพราะอยากรู้อะไรถามทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ตามด้วย ไลน์ทีวี  Joox  แอป Mello และ Netflix
  • การเงิน  กรุงไทยและกสิกรไทย ครอง 2 อันดับแรกที่มีผู้ใช้มากกว่า 50%  พบว่ากาใช้แอปกรุงไทยจำนวนมากมาจากการรับเงินเดือนของข้าราชการ จากนั้นจะโอนเงินไปยังแอปกสิกรไทยเพื่อใช้งาน  ที่เหลือเป็นแอปSCB, กรุงศรี และ TMB
  • ช้อปปิ้ง  ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และเฟซบุ๊กเพจ  เป็น 2 แอปที่ใช้มากที่สุด มากกว่าแพลตฟอร์ม “อี-มาร์เก็ตเพลส” อย่าง Lazada และ Shopee เสียอีก
  • ค้นหาข้อมูล  กูเกิลและเฟซบุ๊ก
  • ท่องเที่ยว  Traveloka และ Booking.com  สามารถเข้าถึงการจองทุกบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการใช้แอปของสายการบินโดยตรง  แต่ด้วยพื้นที่ของสมาร์ทโฟนที่มีจำกัด จึงเลือกใช้แอป รวมทุกบริการท่องเที่ยวแทน

ต้องบอกว่าพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภควันนี้  ใช้งานด้วยสกิลที่เก่งขึ้นในทุกด้าน และอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค นั่นเท่ากับ “โอกาส”ที่มีอยู่ทุกที่ ทุกช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ในยุคนี้