ตลกร้ายที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ คือคนไทยมีสถิติการอ่านปีละ 8 บรรทัด แต่จากผลสำรวจการอ่านในปี 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ยืนยันแล้วไม่เป็นความจริง
ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมาทุกๆ 3 ปี จะมีการจัดทำผลสำรวจการอ่านขึ้น สำหรับครั้งล่าสุดในปี 2561 ได้สำรวจช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน กลุ่มตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือนกระจายทุกจังหวัด อายุ 6 ปีขึ้นไป โดยนับการอ่านหนังสือ หรือบทความทุกประเภททั้งนอกเวลาเรียน นอกเวลาทํางาน และ ช่วงเวลาพัก
นับรวมการอ่านผ่านออนไลน์ ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ SMS E-Mail ยังมีโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Line Instagram Twitter ) ยกเว้นการอ่านข้อความที่เป็นการสนทนา/ติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลหรือหน้าที่การงานพบว่า
คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปมีอัตราการอ่าน 78.8% หรือจำนวน 49.7 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 77.7% แบ่งเป็นผู้ชาย 79.7% และผู้หญิง 77.9% วัยรุ่นอ่านมากที่สุด 92.9% เฉลี่ย 109 นาทีตามด้วยวัยเด็ก 89.7% เฉลี่ย 83 นาที, วัยทำงาน 81.8% เฉลี่ย 77 นาทีและวัยสูงอายุ 52.2% เฉลี่ย 47 นาที
10 จังหวัดอ่านมากสุด
โดยจังหวัดที่มีการอ่านมากที่สุด 10 อันดับได้แก่
- กรุงเทพมหานคร 92.9%
- สมุทรปราการ 92.7%
- ภูเก็ต 91.3%
- ขอนแก่น 90.5%
- สระบุรี 90.1%
- อุบลราชธานี 88.8%
- แพร่ 87.6%
- ตรัง 87.2%
- นนทบุรี 86.6%
- ปทุมธานี 86.2%
หากแยกเป็นภาพจะพบว่าในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุดคิดเป็น 92.9%, ภาคกลาง 80.4% ภาคเหนือและภาคอีสาน 75% และภาคใต้ 74.3%
อ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน
ที่น่ายินดีคือคนไทยใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 66 นาทีต่อวัน ซึ่งจริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2554 ที่มีเพียง 35 นาทีต่อวัน
ประเภทของหนังสือที่อ่านมากที่สุดคือโซเชียลมีเดีย/ SMS/อีเมล์ 69.2%, หนังสือพิมพ์ 60.5%, ตํารา/หนังสือ/เอกสาร/ บทความที่ให้ความรู้ต่างๆ/ ความรู้ทั่วไป 48.9%,
วารสาร/เอกสารประเภทอื่นๆที่ออกเป็นประจํา 40.3%, หนังสือ/เอกสาร/บทความเกี่ยวกับคําสอนทางศาสนา 38.1% และนิตยสาร 31.1%
หนังสือเล่มไม่ตาย แต่นิยมอ่านออนไลน์
นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า “หนังสือเล่มยังไม่ตาย!” ในช่วงเวลา 3 ปีนี้แม้ความนิยมการอ่านสื่อออนไลน์จะอยู่ที่ 75.4% เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้าที่มี 54.9% ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี และค่าอินเทอร์เน็ตที่ถูกลง
โดยพฤติกรรมการอ่านแบ่งเป็นโซเชียลมีเดีย 68.1% เว็บไซต์ 15.2% หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 6.5% แอพพลิเคชั่น 2.5% แอพพลิเคชั่นไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 1.0% อีเมล 0.8% ซีดี/ดีวีดี 0.3% อื่นๆ 7.2% จากการสังเกตจะเห็นว่าสัดส่วนหนังสือและสื่อออนไลน์มีสัดส่วนที่ใกล้กันมากขึ้น
แต่อัตราการลดลงของการอ่านหนังสือเล่มกลับไม่สูงเท่าไรนัก เพราะจากการสำรวจยังคงมีคนอ่านหนังสือเล่มอยู่ถึง 88% จากครั้งก่อนอยู่ที่ 96.1% โดย 17.4% กลุ่มตัวอย่างบอกว่าซื้อหนังสือเป็นเล่ม ในรอบปีที่ผ่านมาหากแยกลงไปตามภาคจะพบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการซื้อที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26.3% ตามด้วยภาคกลาง 17.8% และภาคเหนือ 14.5% เป็นต้น
วันเพ็ญ พูลวงษ์รอง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า
สถิติการอ่านของคนไทย มีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในปีนี้เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล แน่นอนว่าการอ่านผ่านสื่อออนไลน์ ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ย่อมต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้
อย่างไรก็ตามผลสำรวจยังบอกอีกว่ามีจำนวนประชากรไทยที่ไม่อ่านหนังสืออยู่กว่า 21.2% หรือราว 13.7 ล้านคนแบ่งเป็นผู้ชาย 20.3% และผู้หญิง 22.1% ซึ่งในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่าชอบดูทีวี 30.3% ไม่ชอบอ่านหนังสือหรือไม่สนใจ 25.2% อ่านไม่ออก 25.0% สายตาไม่ดี 22.1% ไม่มีเวลาอ่าน 20.0%
และเมื่อจำแนกตามช่วงวัยพบว่าเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปีมีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล เมื่อไปดูในเด็กอายุ 15-24 ปีกลับพบว่าไม่ชอบการอ่านหนังสือถึง 34.9% ขณะที่วัยผู้ใหญ่ 25-50 ปีที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึง 32.8%
สะท้อนว่าหลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น จนถึงทำงานและเกษียณอายุคนกลุ่มนี้ ยังขาดนิสัยรักการอ่านและยังแสดงให้เห็นว่า การปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทย อาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร นับเป็นความท้าทายที่หน่วยงานด้านการส่งเสริมการอ่าน ต้องกลับไปแก้โจทย์ และหาแนวทางในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านกันต่อไป