วิถีเฮลท์ตี้ชาวไทย เลือกอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพมากกว่าออกกำลังกาย

ในยุคที่ผู้บริโภคไทยตื่นตัวกับเทรนด์การดูแลสุขภาพ สะท้อนจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เดินหน้าปรับสูตรลดหวาน อาหารคลีน ธุรกิจฟิตเนสแบรนด์ดังเดินหน้ารุกขยายสาขาเอาใจชาวเฮลท์ตี้  

รายงานของ “นีลเส็น” เกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต (Health and Wellness) ของผู้บริโภคในประเทศไทยล่าสุด พบว่าวิถีเฮลท์ตี้ของคนไทยเลือกรับประทาน “อาหาร” หรือ “เครื่องดื่ม” เพื่อสุขภาพมากกว่าการออกกำลังกาย แนวโน้มนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

วิราจ จูทานิ ผู้อำนวยการแผนกวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Insights) บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประชากรสูงวัย, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, การขยายตัวของสังคมเมือง หรือการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตและการใช้โทรศัพท์มือถือที่สูงขึ้น ส่งผลต่อความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ปัจจุบันไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพ ในการดูแลตัวเองประกอบด้วย 5 ด้าน คือ 1. อาหาร 2. เครื่องดื่ม 3. อาหารเสริม 4. การออกกำลังกาย/กิจกรรม 5. การใช้แอปและแกดเจ็ตออกกำลังกาย

ผู้บริโภคไทย “ส่วนใหญ่” บอกว่าพวกเขาดูแลสุขภาพอย่างน้อย 1 ใน 5 วิธี เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารเสริม ออกกำลังกาย และใช้แอปหรือแกดเจ็ตต่างๆ เพื่อวัดและสังเกตการณ์การออกกำลังกาย

วิราจ จูทานิ

เลือกอาหารและเครื่องดื่มดูแลสุขภาพ

ขณะที่ผู้บริโภคมากกว่า 90% บอกว่าพวกเขาบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และมากกว่า 80% บริโภคอาหาร ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพเป็นประจำ จะเห็นได้ว่าการบริโภควิตามิน, แร่ธาตุ หรืออาหารเสริมอื่นๆ รวมถึงการออกกำลังกายและเล่นกีฬา การใช้อุปกรณ์ในการวัดการออกกำลังกายนั้นมีอัตราการเข้าร่วมที่ต่ำกว่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอยู่มาก

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงแนวโน้มด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยที่เปิดโอกาสให้กับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพเติบโต ปัจจุบันนี้ยังมีพื้นที่สำหรับการผลักดันการเข้าถึงและการเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผลิตภัณฑ์ หรือบริการด้านสุขภาพอยู่ โดยที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการมอบความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ และเพิ่มการสื่อสารด้านสุขภาพอย่างละเอียดชัดเจนให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ

ส่อง 4 เทรนด์ดูแลสุขภาพคนไทย

  1. ปัจจัยการป้องกันกระตุ้นดูแลสุขภาพ

ผู้บริโภคชาวไทยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านการป้องกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม หรืออาหารเสริม อีกทั้งยังมีเหตุผลอื่น เช่น การลดน้ำหนักหรือจากปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง หรือความดันโลหิตสูง

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง คาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตคิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตทั่วโลกในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 60% ในปี 2544

2. เลือกอาหารสุขภาพและรสชาติดี

เมื่อพูดถึงอาหารและของว่างเพื่อสุขภาพ คนไทยส่วนใหญ่เลือกผัก สลัด และอาหารคลีน 34% และธัญพืช ถั่ว อาหารที่ใช้ข้าวสาลี 28% ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกอาหารและขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องรสชาติที่ดีและหาซื้อง่าย

ส่วนเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ คนไทยส่วนมากจะนึกถึง Functional Drink และน้ำผัก ผลไม้ สมุนไพร เป็นหลัก

3. โอกาสตลาดอาหารเสริม

พบว่าการเลือกรับประทานอาหารเสริม ของผู้บริโภคไทย มองว่าเป็นการเติมสารอาหารที่ขาดจากการบริโภคอาหารประจำวันและการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และบางคนรับประทานอาหารเสริม เนื่องจากคาดว่าจะได้รับประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม

รายงานยังพบอีกว่าความถี่ในการบริโภคอาหารเสริม ประเภทวิตามินและแร่ธาตุหลัก คือ 12 ครั้งต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ โดยที่วิตามินซี แคลเซียม และวิตามินรวม เป็นอาหารเสริมยอดฮิต 3 อันดับแรก และมีความถี่ในการรับประทานสูง

4.รายการทีวีและผู้เชี่ยวชาญแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ

จากข้อมูลยังพบว่ารายการทีวีและข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ พยาบาลเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสูงสุด 2 อันดับแรก เวลาที่ผู้บริโภคแสวงหาข้อมูลด้านสุขภาพ โดยคนไทยส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลด้านสุขภาพจากรายการทีวี

“การเล่าสู่กันฟังและโซเชียลมีเดีย ก็มีบทบาทสำคัญ บทความบนอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊กและยูทูบ ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้บริโภคเท่านั้น ที่ใช้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์เป็นแหล่งข้อมูล จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตในการเพิ่ม touch-point และการกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคจากฉลากผลิตภัณฑ์และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญค่อนข้างสูงเกี่ยวกับ “คำศัพท์เฉพาะ” ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีจำกัด

ตัวอย่าง ผู้บริโภคตระหนักในระดับสูงเกี่ยวกับคำว่า “ส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งหมด”  “ไฟเบอร์สูงและหรืออุดมไปด้วยไฟเบอร์” และ “โปรตีนสูงหรือมีโปรตีน” แต่มีเพียง 1 ใน 4 ที่ยอมรับว่า มีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับประโยชน์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางที่เหมาะสมและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ด้วยการอธิบายที่เข้าใจง่าย และชัดเจน เพื่อสร้างความต้องการของผู้บริโภค

ในยุคที่สังคมและโลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอเพื่อสุขภาพ นอกจากการติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค “ผู้ผลิต” จำเป็นต้องหาข้อเสนอที่มีคุณค่าและสำคัญต่อผู้บริโภค รวมถึงเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตในอนาคต