Seven-Eleven ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงแนวทางการลงทุนในปี 2019 จากการปูพรมขยายสาขาวันนี้เปลี่ยนไปเน้นอัปเกรดร้านสาขาที่มีอยู่แล้ว โดยจะแต่งร้าน 6,000 สาขาทั่วญี่ปุ่นด้วยการเพิ่มโซนอาหารแช่แข็งและพื้นที่ติดตั้งระบบชำระเงินด้วยตัวเอง หวังรองรับลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์เร่งรีบมากขึ้น
สำหรับปี 2019 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 บริษัท Seven & i Holdings ต้นสังกัด 7-Eleven ญี่ปุ่นระบุว่า วางแผนเพิ่มจำนวนร้านค้าหรือ store เพียง 150 แห่งเท่านั้น กลยุทธ์ค้าปลีกที่เปลี่ยนไปแสดงถึงการขยายสาขาที่ลดลงมากกว่า 80% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผลจากการเปลี่ยนตัวประธานบริษัทในช่วงที่ 7-Eleven ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั่วประเทศจนทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ 7-Eleven แดนปลาดิบ
การเพิ่มสาขา store หลักร้อยถูกสื่อญี่ปุ่นนำไปเทียบกับแผนของ Seven & i Holdings ที่วางไว้สำหรับ 7-Eleven ญี่ปุ่นในช่วงปี 1977 หรือมากกว่า 40 ปีที่แล้ว ปีนั้น 7-Eleven ญี่ปุ่นมีร้านค้าเพิ่มขึ้น 176 สาขา และเป็นปีที่เจ้าพ่อค้าปลีกเพิ่งเปิดตัวร้านสะดวกซื้อแห่งแรกของประเทศในปี 1974 ซึ่งปูพรมดำเนินการประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นเมื่อแรกเริ่ม
outlet ยังขยายต่อ
ในมุม outlet ซึ่งรวมหน้าร้านย่อย Seven & i Holdings ยืนยันว่าบริษัทมีแผนเปิดตลาดในพื้นที่ใหม่ 900 แห่งในปีงบประมาณ 2019 ลดลง 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สถิติดังกล่าวลดน้อยที่สุดในรอบ 9 ปี คาดว่าจะปิด outlet ราว 750 แห่งทั่วญี่ปุ่น จากทั้งหมดวันนี้ที่พอร์ตโฟลิโอของ 7-Eleven ญี่ปุ่นระบุว่ามี outlet รวมมากกว่า 20,000 แห่ง
การเปลี่ยนกลยุทธ์ค้าปลีกของ Seven & i Holdings ได้รับความสนใจอย่างมากเพราะ 7-Eleven ญี่ปุ่นเป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ สถิติการเพิ่มจำนวน outlet ของ 7-Eleven ทั่วญี่ปุ่นคือ 850 แห่งในปีงบประมาณ 2016, 838 แห่งสำหรับปีงบประมาณ 2017 และ 616 แห่งสำหรับปีงบประมาณ 2018
การเพิ่มขึ้นของ store เพียง 150 แห่งหรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เป็นสัญญาณชัดเจนว่าแทนที่จะเปิดสาขา Seven-Eleven จะมุ่งเน้นไปที่การทำให้ outlet เดิมสามารถแข่งขันได้มากขึ้น จุดนี้ Ryuichi Isaka ประธาน Seven & i อธิบายว่าที่ผ่านมา การลงทุนของบริษัทราว 60% ถูกนำไปใช้กับร้าน store ใหม่ ดังนั้นบริษัทจึงจะเดินหน้าต่อไป ด้วยการเทเงินทุน 60% ไปยังสาขาที่มีอยู่เดิม
ไม่แน่ว่ากลยุทธ์นี้อาจมีผลกับธุรกิจในต่างประเทศของ Seven & i ซึ่งเป็นเจ้าของ 7-Eleven ในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน จุดนี้ Seven & i ยืนยันว่าได้จัดสรรเงิน 145,000 ล้านเยน (ราว 41,000 ล้านบาท) เป็นเงินทุนสำหรับการดำเนินงานร้านค้าในประเทศสำหรับปีนี้ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 30% ต่อปี
7-Eleven ญี่ปุ่นท้าทายรอบด้าน
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแผนสำหรับการเจาะเซ็กเมนต์ Isaka กลับตอบเพียงว่าบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการปัญหาและความท้าทายของธุรกิจ ซึ่งในกรณีของ Seven & i ปัญหาใหญ่ที่รออยู่คือการขาดแคลนแรงงานประจำร้าน ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนจากเดิมที่มักจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มหน้าร้าน มาเป็นการสร้างรายได้จากทางอื่น รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดส่งผลิตภัณฑ์ด้วย
ก่อนหน้านี้ Seven & i ถูกวิจารณ์ว่าเน้นนโยบายเพิ่มสาขาแม้ว่าร้านจะอยู่ใกล้กัน จุดนี้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นมักร้องเรียนว่าไม่เพียงแต่ยอดขายที่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อมีร้านค้าใหม่มาเปิดใกล้เคียง ยังทำให้ร้านเดิมติดตามหาพนักงานได้ยากขึ้นอีกด้วย
สถิติล่าสุดพบว่า ร้าน 7-Eleven มียอดขายเฉลี่ยต่อวันราว 656,000 เยนในช่วงปีงบประมาณ 2018 เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ต่อปี ตัวเลขนี้ยังคงทรงตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนสาขาเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงเวลาดังกล่าว
ในปีงบประมาณนี้ แผนปรับปรุงร้านค้า 6,000 แห่งด้วยการเพิ่มโซนอาหารแช่แข็งและสินค้าอื่นที่นิยมมากขึ้นนั้นถือว่าเป็นจำนวนที่สูงขึ้น 90% ของเป้าหมายที่เคยตั้งมาก่อน เบื้องต้น ร้านค้าทั้งหมดจะติดตั้งระบบชำระเงินด้วยตัวเองหรือ self-checkout ซึ่งจะช่วยให้แฟรนไชส์รับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยร้านสาขาซึ่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 10% จะเริ่มเปิดตัวในปลายเดือนนี้
ปัจจุบัน ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ในญี่ปุ่นเปลี่ยนจากร้านขายเครื่องดื่มและขนมมาเป็นศูนย์บริการที่ทำงานหลายด้าน ไม่เพียงตู้เอทีเอ็ม ยังมีบริการชำระค่าสาธารณูปโภค และอีกหลายบริการที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย บทบาทใหม่ที่ขยายเพิ่มช่วยให้ต้นสังกัด 7-Eleven มองว่ายังต้องเพิ่มหน้าร้านค้าต่อไป และยังแข่งขันต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม 7-Eleven ในญี่ปุ่นยังต้องเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะคู่แข่งรายใหม่ เช่น ร้านขายยาที่เริ่มขายอาหาร และบริการซื้อของออนไลน์ ทั้งหมดนี้เป็นความจำเป็นของ 7-Eleven ทั่วโลกที่ต้องจัดการกับความท้าทายนี้หากต้องการรักษาการเติบโตให้ได้.
เมืองไทยเติบโตสวนทางญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน เมื่อกันกลับมามอง 7-Eleven ในเมืองไทยกลับพบว่า สวนทางกันโดยสิ้นเชิง จากข้อมูลรายได้ปี 2018 ของ “ซีพี ออลล์” ซึ่งเป็นผู้บริหารแฟรนไชส์พบว่า รายได้จากกลุ่มร้านสะดวกซื้อ หรือ “7-Eleven” ถือเป็นรายได้หลักถึง 59% จากธุรกิจทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยทำยอดขายไปทั้งสิ้น 308,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน10.8% หรือ 30,092 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิก็ไม่น้อยหน้าฟันไปเหนาะๆ 19,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 20% เลยทีเดียว
- ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง : รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มไหมคะ? ปี 2018 “7-Eleven” ฟันยอดขาย 3 แสนล้าน กำไรอีกเกือบ 2 หมื่นล้าน
ด้านการขยายสาขา ปีที่ผ่านมา 7-Eleven ขยายรวมทั้งสิ้น 720 สาขา โดยเฉพาะทำเลในชุมชนทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมไปถึงขยายในปั๊มน้ำมัน มีสาขาทั่วประเทศรวมกัน 10,988 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่เป็นของ “ซีพี ออลล์” เอง 4,894 สาขา เพิ่มขึ้น 364 สาขา และสาขาของแฟรนไชส์ 6,094 สาขา เพิ่มขึ้น 356 สาขา
ส่วนยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมในปี 2018 มีอัตราการเติบโต 3.2% พบว่า มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันอยู่ที่ 81,788 บาท มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 69 บาท ในขณะที่จํานวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,185 คน
และในปี 2019 “7-Eleven” วางแผนขยายสาขาไม่น้อยกว่า 700 สาขา วางงบลงทุนสำหรับเปิดสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท และปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ “7-Eleven” ได้กําหนดเป้าหมายใหม่ที่จะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2021
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ ซีพี ออลล์ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (Indicative Term Sheet) กับ 7-Eleven, Inc. สําหรับการได้รับสิทธิ์แฟรนไชสในการจัดตั้งและดําเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชาและประเทศลาว.
ที่มา : https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Japan-s-Seven-Eleven-plans-slowest-expansion-in-40-years