ปัจจุบันทั่วโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่อย่างรวดเร็ว โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนเพื่อเพิ่มมาตรฐานในการบริการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั่วไป ผู้ให้บริการด้านสุขภาพทั่วโลกต่างพยายามก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้านการสนับสนุนและปรับปรุงการด้านธุรกรรม โดยไม่ได้มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงการทำงานที่ต้องติดต่อกับผู้ป่วยโดยตรง
“เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุและการดูแลผู้ป่วยภายหลังการรักษาพยาบาล”คุณณัฐศักดิ์ โรจนพิเชฐ ผู้อำนวยการที่ปรึกษาธุรกิจของเคพีเอ็มจีประเทศไทยกล่าว “การผสมผสานของเทคโนโลยีขั้นสูงสามารถนำมาใช้ได้ในหลายด้านของการดูแลสุขภาพ โดยผ่านการรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์จาก ไอโอที (Internet of Things) และอุปกรณ์สำหรับสวมใส่ (wearable devices) เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (analytic tools) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความถูกต้องแม่นยำในการใช้ยา และกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์ (Robotic Process Automation) จะสามารถช่วยให้โรงพยาบาลและผู้ให้บริการด้านสุขภาพมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุได้”
การบริหารจัดการธุรกิจในรูปแบบใหม่นี้เป็นสิ่งท้าทายสำหรับองค์กรและผู้นำองค์กรในแง่การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างระหว่างผู้ให้บริการที่ประสบความสำเร็จและผู้ให้บริการที่ไม่ประสบความสำเร็จในทศวรรษหน้า แรงกดดันด้านต้นทุนและความคาดหวังด้านคุณภาพแสดงให้เห็นว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลยนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การคาดหวังในเทคโนโลยีใหม่มักถดถอยลงเนื่องจากต้องเผชิญกับความยุ่งยากของการใช้งานในช่วงแรกซึ่งทำให้ประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการปรับตัว เรามักเห็นประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีใหม่เมื่อผ่านการใช้งานเป็นเวลาสองปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น ภาวะการตกต่ำทางดิจิทัล (digital dip) มักเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากถูกลดขนาดลงหรือถูกยกเลิกการใช้งานไปในที่สุด
จากการวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีในธุรกิจการดูแลสุขภาพทั้งในกรณีที่ประสบความสำเร็จและที่ไม่ประสบความสำเร็จ พบว่า การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่การแทนที่ระบบแอนะล็อก (analog) ด้วยระบบดิจิทัล แต่เป็นการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบริการ และปรับปรุงโครงสร้างการให้บริการ โดยการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้จากข้อมูลที่มี
ในรายงาน Digital health: heaven or hell? เคพีเอ็มจีระบุ 7 บทเรียนสำคัญจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถเอาชนะความท้าทายในด้านต่าง ๆ
- การเปลี่ยนแปลงต้องมาก่อน: การเปลี่ยนแปลงเกิดจากมุมมองในการทำงานใหม่ ๆ ไม่ใช่เกิดจากตัวเทคโนโลยีเอง เทคโนโลยีต้องเข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ในทางกลับกัน นี่คือบทเรียนพื้นฐานที่เสริมสร้างทุกสิ่ง
- ปัญหาเกิดจากบุคคลไม่ใช่ปัญหาจากเทคโนโลยี: ปัญหาส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญตลอดกระบวนการการเปลี่ยนแปลงคือปัญหาที่เกี่ยวกับบุคคล ไม่ใช่ปัญหาเกิดจากด้านเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีประสบการณ์และความสามารถในการจัดการการเปลี่ยนแปลง
- การออกแบบระบบ: การออกแบบระบบยังไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร เทคโนโลยีจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ผู้ใช้งานต้องเผชิญ ไม่ว่าผู้ใช้งานนั้นจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพก็ตาม ซึ่งจำเป็นต้องออกแบบระบบด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งในตัวงานและความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน
- ลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูล: บ่อยครั้งที่มีการลงทุนในระบบดิจิทัลสูง แต่มองข้ามความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมมาได้ เลยไม่เห็นผลของการลงทุน
- การทำซ้ำและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง: แม้จะมีการออกแบบอย่างระมัดระวัง แต่การทำซ้ำหลายครั้งในการออกแบบระบบนั้นเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งนี้คือกระบวนการที่ต่อเนื่องและอาจต้องทำซ้ำหลายรอบ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเรื่องยากลำบาก กว่าระบบจะเริ่มคืนทุน
- สนับสนุนการทำงานร่วมกัน: การไม่สามารถแบ่งปันและรวมข้อมูลระหว่างระบบที่ต่างกันเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิธีการประสานงานไปจนถึงการกำหนดมาตรฐานการทำงานร่วมกันจะช่วยเร่งให้การปฏิบัติงานดิจิทัลประสบผลสำเร็จ
- ระบบการจัดการข้อมูลที่ดีและกระบวนการด้านความปลอดภัยของข้อมูล: การแบ่งปันข้อมูลต้องการการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่มีภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ จำเป็นต้องมีการดำเนินการในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูลอย่างปลอดภัย
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษา เราดำเนินงานใน 153 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 207,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในบริษัทสมาชิกทั่วโลก บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเคพีเอ็มจีจะถือเป็นสมาชิกของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล (KPMG International) เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทสัญชาติสวิส ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกเคพีเอ็มจีเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และมีอิสระตามกฎหมาย
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,700 คน