กสทช. เคาะราคา ใบอนุญาตคลื่น 700 MHz 2.5 หมื่นล้าน ให้ 3 ค่ายมือถือขยาย 5G ดีเดย์ ทีวีดิจิทัลขอคืนคลื่น 10 พ.ค.

ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องการขอคืนใบอนุญาตนั้น กสทช. แจ้งความต้องการขอคืนมาที่ กสทช.ภายใน 10 พฤษภาคมนี้ และจะมีการทำหลักเกณฑ์การชดเชยให้ด้วย

กสทช.เตรียมเปิดประมูลคลื่น 700 MHz ที่จะเรียกคืนมาจากกิจการทีวีดิจิทัล จำนวน 45 x 2 MHz ที่จะแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15×2 MHz ภายในเดือนมิ.ย. 2562 นี้

จากการชี้แจงของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในการชี้แจงกับบรรดาผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัล ตามประกาศ คสช. 4/2562 ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลนั้น

ในส่วนของกิจการโทรคมนาคมนั้น ฐากรกล่าวว่า ที่มาของคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ มาจากการทำหนังสือร้องเรียนของทั้งผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย เอไอเอส ทรู และดีแทค และกลุ่มทีวีดิจิทัล ที่ทำไปยัง คสช.

โดย เอไอเอสและทรู ได้ทำหนังสือถึง คสช.เมื่อ 21 กันยายน 2560 ขอให้ยืดชำระการประมูลคลื่น 900 MHz ในงวดที่ 4 ที่เป็นงวดใหญ่วงเงินของเอไอเอส 63,774 ล้านบาท และทรู 64,433 ล้านบาท ในปี 2563 ออกไปอีก 7 งวด (ราคารวม VAT)

ในขณะที่ดีแทคส่งหนังสือถึง คสช.วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ขอให้ยืดการจ่ายเงินค่าคลื่น 900 MHz เช่นกัน โดยวงเงินงวดที่ 4 ที่ต้องชำระในปี 2565 อยู่ที่ 32,126 ล้านบาท ให้แบ่งออกเป็นงวดๆ ออกเป็น 15 งวด

ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ส่งหนังสือ คสช. วันที่ 17 ตุลาคม 2560 เพื่อขอให้นำคลื่น 700 MHz ที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ออกมาประมูลด้านโทรคมนาคม เพื่อนำเงินมาเยียวยาให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องย้ายย่านคลื่นออกไป

ตามคำสั่ง คสช. ได้ให้ผู้ประกอบการ 3 ราย เอไอเอส ทรู และดีแทค ที่จะให้มีการยืดการจ่ายเงินการประมูลคลื่น 900 MHz ทั้งหมด จากเดิม 4 งวด ออกเป็น 10 งวด โดยนำวงเงินที่แต่ละรายชนะการประมูลทั้งหมด มาแบ่งชำระเป็น 10 ปี ปีละเท่ากัน

ทำให้ ปี 2563 เอไอเอส จากเดิมที่ต้องจ่าย 63,744 ล้านบาท มาเป็นการจ่ายเงินทั้งหมด 22,269 ล้านบาท และอีก 5 ปีถัดไป จ่ายปีละ 8,095 ล้านบาท จนถึงปี 2568 (ราคารวม VAT)

ทรู จะลดการจ่ายจาก 64,433 ล้านบาท ในปี 2563 มาจ่ายรวม 23,614 ล้านบาท แทน และอีก 5 ปีที่เหลือถัดไป จะจ่ายปีละ 8,164 ล้านบาท จนถึงปี 2568

ส่วนดีแทค จะแตกต่างจาก 2 รายที่ประมูลคลื่นไปก่อน 2 ปี ดังนั้นตามคำสั่งนี้ ในปี 2563 และ 2564 ที่ดีแทคจะต้องจ่ายปีละ 2,151 ล้านบาท และปี 2565 ที่จะต้องจ่าย 32,126 ล้านบาท จะเปลี่ยนมาเป็น ปี 2563 จ่าย 7,917 ล้านบาท และอีก 7 ปีที่เหลือ จนถึงปี 2570 จะจ่ายปีละ 4,073 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทั้ง 3 ค่าย จะต้องแจ้งหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อขอใช้สิทธิดังกล่าวภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ที่จะมีการเรียกคืนจากธุรกิจทีวีดิจิทัล เพื่อนำมาประมูล 5G ด้วย

คลื่น 700 MHz จัดสรร 3 ค่ายมือถือ มิ.ย.นี้ ราคาคลื่นลดลงฮวบ 

ในส่วนของคลื่น 700 MHz ที่จะเรียกคืนจากทีวีดิจิทัลมาประมูล 5G นั้น กำหนดให้ใช้คลื่นในการประมูลทั้งหมด 45 เมก ซึ่งสามารถจัดสรรได้ 3 ใบอนุญาตๆ ละ 15 เมก

ฐากรกล่าวว่า ได้มีการประเมินคร่าวๆ ราคาคลื่น 700 MHz คือ จำนวน 5 เมก 6 พันล้านบาท 1 ใบอนุญาตมี 15 เมก คิดเป็นเงิน 25,000 ล้านบาท โดย 3 ผู้ประกอบการ จะได้ค่าคลื่นประมาณ 75,000 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าว มาจากราคาประเมินคลื่น 900 MHz ที่ กสทช.เคยตั้งต้นไว้เมื่อปี 2558

จากข้อมูลราคาคลื่นที่ กสทช.เคยทำไว้เมื่อคราวเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งแรกในปี 2559 นั้น มีการระบุราคาตั้งต้นของราคาคลื่น 900 MHz จำนวน 10 เมก ไว้ที่ 12,864 ล้านบาท หรือราวเมกละ 1,286 ล้านบาท (ราคาไม่รวม VAT)

แต่ผลการประมูลครั้งนั้น มีการแข่งขันกันสูงมาก และจบลงด้วยราคา 76,298 ล้านบาท ของค่ายทรู และ 75,654 ล้านบาท ของค่าย แจส โมบาย ที่ภายหลังทิ้งการประมูล จน กสทช.ต้องไปขอให้เอไอเอสมาประมูลไปอีกครั้งเพียงรายเดียว ในราคาเดิม 75,654 ล้านบาท และมีการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz อีกครั้งในปี 2561 โดยที่ดีแทคได้คลื่นไป 5 เมก ในวงเงิน 38,064 ล้านบาท (ราคาไม่รวม VAT)

หากคำนวณราคาค่าคลื่นต่อเมก ที่เปิดประมูลไปแล้วคิดเป็น 1 เมก ราคาประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาคลื่นที่สูงมาก จนนำมาสู่การร้องขอ คสช.ให้ช่วยเหลือ เพราะผู้ประกอบการโทรคมนาคมระบุว่า เป็นภาระหนักที่ทำให้ประสบความยากลำบากในการประกอบกิจการ และการเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ที่กสทช.จะเปิดประมูลรอบต่อไป

หากราคาตั้งต้นอยู่ที่ 5 เมก ประมาณ 6 พันล้าน ดังนั้นคลื่น 1 เมก จะมีมูลค่าประมาณ 1,286 ล้านบาทเท่านั้น เป็นราคาที่แตกต่างจากผลการประมูลคลื่น 900 MHz ถึงเกือบ 6 เท่า

ฐากรระบุว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะเรียก 3 ค่ายมือถือมาเจรจาเรื่องการจัดสรรคลื่น 700 โดยจะเป็นการจัดสรรคลื่นแบบล่วงหน้า เพราะกว่าจะได้ใช้คลื่นต้องรอถึง 1 ตุลาคม 2563 ที่จะเป็นการจ่ายเงินค่าคลื่นในปีแรกของทุกราย โดยมีการกำหนดงวดการจ่ายไว้ 10 งวด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2572

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700 ทั้งหมดนี้จะนำไปผูกกับเงินค่าเยียวยาให้กับธุรกิจทีวีดิจิทัลทั้งระบบ ที่จะต้องสละย่านคลื่นนี้ไป

ทีวีดิจิทัล ได้เงินสนับสนุนรวมกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท

ตามประกาศ ม. 44 ระบุว่า ทีวีดิจิทัลทุกช่อง จะได้รับการ ยกเว้น” ไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวี 2 งวดสุดท้าย คืองวดที่ 5-6 เป็นวงเงินรวม 13,622.4 ล้านบาท โดยใช้เงินจากการประมูลคลื่น 700 มาจ่ายให้แทน

อย่างไรก็ตาม สำหรับทีวีช่องที่เหลือ 17 ช่อง ยังต้องมีภาระการจ่ายเงินตามคำสั่งคสช.ในปี 2559 ที่เปิดทางให้มีการผ่อนชำระค่าประมูลได้ โดยมีกำหนดชำระในวันที่ 8 ส.ค. 2562 เป็นเงินรวม 3,215.2 ล้านบาท หากไม่สามารถชำระได้ จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ส่วน 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 7 ช่องเวิร์คพอยท์ และสปริงนิวส์ ที่ได้มีการจ่ายเงินประมูลไปแล้ว ในงวดที่ 5 เป็นเงินรวม 986.6 ล้านบาท จะมีการจ่ายเงินคืนให้แต่ละช่อง โดยพิจารณาตามผลประกอบการ รายที่ผลประกอบการไม่ดีจะได้รับการพิจารณาจ่ายคืนให้ก่อน

โดยที่สปริงนิวส์ ได้ชำระเงินงวดนี้ให้ กสทช.ไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 219.6 ล้านบาท ตามด้วยเวิร์คพอยท์ 395 ล้านบาท และช่อง 7 372 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนในการจ่ายค่าเช่าโครงข่าย หรือ MUX รวมมูลค่า 18,775 ล้านบาท ในระยะเวลา 9 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป เป็นการต่อเนื่องจากคำสั่ง คสช.เดิม ที่ให้ความช่วยเหลือจ่ายค่า MUX ให้ไปถึงสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2563

รวมมูลค่าการให้ความช่วยเหลือจากการไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่าย MUX นี้อยู่ที่ประมาณ 32,437.4 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องการขอคืนใบอนุญาตนั้น กสทช. แจ้งความต้องการขอคืนมาที่ กสทช.ภายใน 10 พฤษภาคมนี้ และจะมีการทำหลักเกณฑ์การชดเชยให้ด้วย

พร้อมจ่าย 431 ลบ. ให้ทำทีวีเรตติ้ง 

นอกจากนี้ คำสั่ง คสช.ยังสนับสนุนในการจัดสรรเงินในการทำ “เรตติ้ง” ทีวี ตามทีกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเคยร้องขอเงินสนับสนุนมาก่อนหน้านี้ โดยงวดแรกอยู่ที่ 431 ล้านบาท กสทช.ก็พร้อมจัดสรรให้ แต่ต้องรอเงินจากการประมูลคลื่น 700 ก่อน และ กสทช.ได้ชี้แจงกับผู้ประกอบการไว้แล้วว่า จะให้การสนับสนุนเมื่อผู้รับใบอนุญาตทุกราย รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อทำเรตติ้ง

ทั้งนี้ กสทช.จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาทั้งหมด 8 ชุด เพื่อเตรียมงานเรื่องนี้ทั้งหมด และทำความเข้าใจกับสาธารณะ ตั้งแต่คณะทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่น 700, การทำหลักประกันการจ่ายค่างวดประมูลใหม่, การชดเชยกลุ่มทีวีดิจิทัล และคณะทำงานเรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนค่าทำเรตติ้ง และกองทุน กสทช.