แกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์ (“แกร็บ”) ประกาศเชิญชวนสตาร์ทอัพไทย ร่วมสมัครโครงการ ‘แกร็บ เวนเจอร์ส เวโลซิตี (Grab Ventures Velocity หรือ GVV)’ ซึ่งเป็นโครงการของแกร็บที่มุ่งส่งเสริมสตาร์ทอัพในระดับ post-seed ซึ่งเริ่มมีการดำเนินงานไปบ้างแล้วให้สามารถเติบโตต่อไปได้
‘แกร็บ เวนเจอร์ส (Grab Ventures)’ เป็นโครงการสร้างและผลักดันการร่วมลงทุนของแกร็บ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 โดยโครงการ ‘แกร็บ เวนเจอร์ส เวโลซิตี’ ภายใต้ แกร็บ เวนเจอร์ส มุ่งเปิดโอกาสให้เหล่าสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงฐานผู้ใช้ทั่วภูมิภาคของแกร็บ รวมถึงความรู้และทรัพยากรด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถทดสอบและขยายการให้บริการได้ภายในเครือข่ายธุรกิจของแกร็บ
ภายหลังความสำเร็จของโครงการ แกร็บ เวนเจอร์ส เวโลซิตี ในครั้งแรก ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แกร็บ ได้เปิดรับสมัครโครงการที่ 2 แล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนสตาร์ทอัพประมาณ 1,000 ราย และตั้งเป้าว่าภายในปี พ.ศ. 2580 จะมีจำนวนสตาร์ทอัพทั้งหมด 10,000 ราย ภายใต้โครงการ GVV แกร็บมุ่งที่จะยกระดับระบบนิเวศการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และเชื่อมต่อพวกเขากับพาร์ทเนอร์และนักลงทุน รวมถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการจับคู่ธุรกิจระหว่างสตาร์ทอัพไทยกับระบบและเครือข่ายธุรกิจอันหลากหลายของแกร็บ ซึ่งสอดรับเป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างศูนย์กลางทางด้านดิจิทัลให้ประเทศไทย
GVV โครงการที่ 2 จะจัดระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2562 ภายใต้ธีม ‘สร้างพลังให้ผู้ประกอบการรายย่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Empowering Micro-Entrepreneurs in Southeast Asia)’ โดยจะเปิดรับสมัครใน 2 สาขา สำหรับสาขาแรกคือ ‘สร้างพลังให้เกษตรกร (Empower Farmers)’ ซึ่งเน้นการหาโซลูชันด้านนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนเกษตรกร ให้สามารถนำเสนอผลผลิตสดใหม่ที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่เข้าถึงได้ให้กับผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สาขา ‘สร้างพลังให้เกษตรกร (Empower Farmers)’ จะคัดเลือกสตาร์ทอัพ 3 – 5 รายจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมายกระดับห่วงโซ่อุปทานอาหารแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบประเภท เนื้อสัตว์ ผลไม้ ผัก ฯลฯ โดยโครงการมุ่งเน้นจับกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีไอเดียธุรกิจในการช่วยจัดหาวัตถุดิบและผลิตผลที่สดใหม่ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาทิ ร้านอาหาร ร้านขายของชำ หรือให้กับผู้บริโภคโดยตรง
สำหรับสาขาที่สอง ‘สร้างพลังให้ธุรกิจขนาดเล็ก (Empower Small Businesses)’ นั้น เน้นค้นหาสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านโซลูชันนวัตกรรมที่จะสนับสนุนธุรกิจของผู้ค้าขนาดเล็กในการลดค่าใช้จ่าย และระบบการทำงานง่ายขึ้น หรือช่วยเพิ่มรายได้ โดยสตาร์ทอัพในสาขานี้จะได้ทดสอบระบบโซลูชันกับเครือข่ายผู้ประกอบการของบริษัท Kudo ในประเทศอินโดนีเซีย
สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 สาขาจะมีโอกาสได้ทดสอบระบบโซลูชันภายในเครือข่ายธุรกิจของแกร็บ นอกจากนั้น สตาร์ทอัพยังสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงที่ปรึกษาระดับสูง ทั้งภายในและภายนอกของแกร็บ โดยสตาร์ทอัพเหล่านี้ จะมีโอกาสเข้ามาช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อยกระดับทรัพยากรของ แกร็บแพลตฟอร์ม (GrabPlatform) ผ่านช่องทางการเชื่อมต่อ API บนระบบคลาวด์ของแกร็บ และทรัพยากรของ Kudo ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวไกลไปอีกขั้น
นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “วงการสตาร์ทอัพไทยกำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร (AgTech) ทั้งนี้ แกร็บ เวนเจอร์ส เวโลซิตี (GVV) ถือเป็นโครงการที่มอบโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้สตาร์ทอัพไทยได้ขยายและทดสอบโซลูชันภายใต้เครือข่ายธุรกิจและระบบของแกร็บ เราเชื่อว่าการนำร่องโซลูชันนวัตกรรมภายใต้ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันและเข้าใจได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม การขนส่งอาหาร การส่งพัสดุด่วน และบริการด้านธุรกรรม จะช่วยธุรกิจของสตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโต และยังเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน โดยเป้าหมายสูงสุดของเราคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างโอกาสในการทำงาน รวมถึงสร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน”
นายคริส เหยา ผู้อำนวยการ แกร็บ เวนเจอร์ส ให้ความเห็นว่า “ในโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เราได้ทดสอบสิ่งใหม่ๆ หลายอย่างบนแอปพลิเคชันของแกร็บ ซึ่งในปีที่ 2 เรามองหาสตาร์ทอัพที่จะสร้างพลังให้กับผู้ประกอบการรายย่อยด้วยโซลูชันที่โดดเด่น โดยผู้ประกอบการรายย่อยอาจจะเป็นเกษตรกร หรือร้านค้าขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราตระหนักดีถึงความท้าทายต่างๆ ที่สตาร์ทอัพด้านนี้ต้องเผชิญ เพราะการที่จะขยายอุปทาน อุปสงค์ และแพลตฟอร์มการดำเนินงานไปพร้อมกันนั้นทั้งใช้เวลานานและใช้เงินเป็นจำนวนมากในการแก้ปัญหา โครงการ GVV จึงมุ่งช่วยให้เหล่าสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ผ่านฐานผู้ใช้อันกว้างขวาง รวมถึงทรัพยากรในภูมิภาคของแกร็บ นอกจากนั้น สตาร์ทอัพในสาขาสร้างพลังให้ธุรกิจขนาดเล็ก จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการชั้นนำของ Kudo ได้”
ผู้ประกอบการชั้นนำของภาครัฐได้เข้าร่วมในระบบนิเวศนี้แล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น IMDA, ESG, EDB และ EDBI ของสิงคโปร์ รวมถึง MENKOMINFO และ BEKRAF ในอินโดนีเซีย ด้วยการจับมือกับโครงการ GVV
สตาร์ทอัพไทยที่สนใจสามารถสมัครร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ทาง ventures.grab.com/gvv
เกี่ยวกับ แกร็บ
แกร็บ (Grab) คือผู้นำด้านซูเปอร์แอปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของลูกค้า ในปัจจุบัน แอปพลิเคชันแกร็บได้ถูกดาวน์โหลดบนโทรศัพท์มือถือมากกว่า 144 ล้านเครื่อง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ ร้านค้า และผู้แทนกว่า 9 ล้านราย แกร็บยังมีเครือข่ายการให้บริการขนส่งทางบกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยได้ให้บริการการเดินทางไปมากกว่า 3 พันล้านเที่ยวตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ในปี 2555 นอกจากนี้ แกร็บยังนำเสนอบริการการเดินทางแบบออนดีมานด์ที่หลากหลายที่สุดในภูมิภาค และครอบคลุมบริการรับส่งอาหารและจัดส่งพัสดุสินค้า ทั่วทั้ง 336 เมืองใน 8 ประเทศ