เซเว่น-อีเลฟเว่น เปิดเกมใหม่ ดึงโชห่วยซบอก

ท่ามกลางความร้อนระอุของสงครามค้าปลีก “โชห่วย” กลายเป็นหน่วยเล็กๆ ที่มีพลังดึงดูดค้าปลีกขนาดใหญ่ให้มารุมรักอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยเฉพาะปฏิบัติการล่าสุดของ 7-Eleven ในการจัดตั้ง “สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการค้าปลีกทุนไทย” จนเปลี่ยนนิยามค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรดกับเทรดดิชันแนลเทรดมาเป็น “ค้าปลีกทุนไทยกับค้าปลีกทุนต่างชาติ” หยิบยกความเป็นทุนไทยมาแย่งชิงความได้เปรียบและแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโชห่ยที่มีเจ้าของเป็นคนไทยทั้งสิ้น

การเดินเกมหนักและแรงเกิดขึ้นหลังจากปล่อยให้เทสโก้ โลตัส ขยายตัวทุกรูปแบบมาหลายปี และตกเป็นผู้ร้ายค้าปลีกทุนต่างชาติที่เป็นต้นเหตุแห่งการล่มสลายของโชห่วยไทย จนแม็คโครฉีกตัวเองด้วยการประกาศจุดยืน เป็น ”มิตรแท้โชห่วย”

เรื่องราวพลังแห่งเครือข่ายค้าปลีกของ 7-Eleven ครั้งนี้จึงน่าติดตามว่าจะปฏิบัติการเอาใจโชห่วยอย่างไร และเพราะเหตุผลใดเป็นสำคัญ

7-Eleven แบรนด์นอก แต่ก็ทุนไทย

7-Eleven ปฏิบัติการเขย่าวงการค้าปลีกไทย เมื่อแยกตัวออกมาตั้ง “สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการค้าปลีกทุนไทย” หรือ DTRA แม้จะก่อตั้งมาตั้งแต่ต้นปี 2552 แต่เพิ่งแถลงข่าวหลังจากนั้นร่วม 7 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการยื่นร่างพรบ.ค้าปลีกเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้งแบบพอดี

สุวิทย์ กิ่งแก้ว สวมหมวกสองใบ คือ เป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และรับบทเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ขณะที่รายชื่อคณะกรรมการสมาคม จำนวน 5 ใน 9 เป็นคนของเครือซีพีและพันธมิตรธุรกิจ โดยขณะนี้มีสมาชิกอย่างเป็นทางการ 20 กว่าราย (เกือบครึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพีและพันธมิตรธุรกิจ) โดยสมาชิกอื่นๆ ล้วนแต่เป็นห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเจ้าของเป็นคนไทยทั้งสิ้น คือ ตั้งฮั่วเส็ง โฮมโปร และวิลล่ามาร์เก็ต แน่นอนว่าย่อมไม่มีกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งมี ”ธนภณ ตังคณานันท์” ที่รั้งตำแหน่งนายกสมาคมค้าปลีกไทยอยู่ รวมถึงกลุ่มเดอะมอลล์และสยามพิวรรธ์ด้วย

“สุวิทย์” ยืนยันว่า ซีพี ออลล์ ก็ยังคงเป็นสมาชิกของสมาคมค้าปลีกไทยอยู่ เช่นเดียวกับสมาชิกรายอื่นของ DTRA ที่มีสิทธิเป็นสมาชิกของสมาคมค้าปลีกไทยได้เช่นกัน แต่ตัวเขาเองจะค่อยๆ ลดบทบาทในสมาคมค้าปลีกไทยลงเพื่อหันมาทุ่มเทให้กับ DTRA อย่างเต็มที่สมกับที่ซีพี ออลล์ เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งเหตุผลหลักที่ต้องมี “DTRA” ก็เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับค้าปลีกทุนไทยรายย่อย เพราะที่ผ่านมาข้อเสนอ และคำขอความช่วยเหลือจากสมาคมค้าปลีกไทยไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าที่ควร

“การสร้างอำนาจต่อรองใหม่นี้” ทำให้ 7-Eleven หวังเต็มที่ว่าจะดึงผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์กว่า 400,000 ราย จากทั้งหมดที่คาดว่ามีสูงถึง 680,000 ราย เข้าอยู่ในเครือข่ายได้ง่ายขึ้น

” ไทยช่วยไทย ให้มีศักยภาพแข่งขันกับทุนนอก แต่อาจยังไม่รวมถึงขั้นการจัดซื้อสินค้าร่วมกัน ส่วนที่กำลังวางแผนไว้คืออาจมีบัตรสมาชิกร่วมกัน”

ส่วนตัว 7-eleven ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว กลายสภาพจากคู่แข่งมาเป็น ?gพี่ใหญใจดี?h และ ?gเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน?h มาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพโชห่วยจนถึงปัจจุบันจัดมาแล้ว 5 ครั้ง และยังมีเป้าหมายที่จะจัดเป็นโครงการต่อเนื่อง

โออิชิ เถ้าแก่น้อย คือ Case Study ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งในฐานะผู้ได้รับการหยิบยื่นโอกาสจาก 7-Eleven จนประสบความสำเร็จทั้งในตลาดโมเดิร์นเทรดและเทรดดิชันแนลเทรด

ยักษ์แปลงร่างเป็นมด

การหันมาบอกรักโชห่วยแบบสุดใจเช่นนี้ ประเมินกันว่า 7-Eleven อาจต้องเตรียมการรับมือกับโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ที่เตรียมลงสู้ศึกในรูปแบบคอนวีเนียนสโตร์ มินิสโตร์ และมินิซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น เพื่อเจาะเข้าไปประชิดติดชุมชนเหมือนที่ 7-Eleven ทำ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมความสะดวกสบายในการจับจ่ายสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็เป็นความเปลี่ยนแปลงทิศทางธุรกิจอันเนื่องมาจากข้อกำหนดของกฎหมาย (ดูล้อมกรอบ กฎที่ไม่เป็นธรรม?) ที่ไม่ให้โมเดิร์นเทรดขยายสาขาขนาดใหญ่ใจกลางเมืองและในชุมชนได้

ส่งผลให้ทั้งมินิ บิ๊กซี คาร์ฟูร์ซิตี้ และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส รวมถึงท็อปส์ เดลี่ ประกาศรุกสู่สาขาไซส์เล็ก แต่ก็ยังไม่สามารถขยายสาขาได้มากแม้จะมีทุนหนาก็ตาม เพราะสุดท้ายก็ยังติดขัดกฎหมายที่กำหนดขนาดของร้านค้าขนาดเล็กต้องขออนุญาต คือ พื้นที่ 120-299 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 1 กม.ไม่กำหนดระยะเวลาเปิดปิด และต้องมียอดขายรวมเกิน 1,000ล้านบาทขึ้นไป ยกเว้นตลาดสดและสหกรณ์สามารถเปิดได้อิสระ

ในมุมของผู้ประกอบการถือว่าเป็นกติกาที่เข้มงวดมาก เอาแค่เฉพาะ “ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 1 กม.” ก็ทำเอาปวดหัวไปตามๆ กัน ในขณะที่ 7-Eleven ยังยิ้มกว้างกว่าใคร เพราะปักธงมาก่อนรายอื่นมานานจนมีเครือข่ายที่น่ากลัว ไม่เว้นแม้แต่ใกล้วัดใกล้โรงเรียนก่อนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้น

แต่ 7-eleven ก็ประมาทไม่ได้ เพราะถึงแม้จะรวมกันทุกรายแล้วก็ยังมีสาขาห่างจาก 7-Eleven นับสิบเท่า แต่จากข้อจำกัดในแง่ของกฎหมายดังกล่าว ทำให้เกิดโมเดลแปลกใหม่จากโมเดิร์นเทรดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เกมนี้จึงต้องบี้กันอย่างมันหยดทั้งฝ่าย 7-Eleven ที่โดนสั่นคลอน และฝ่ายโมเดิร์นเทรดอื่นๆ ที่ต้องการช่องทางเกิดจนได้ ที่สำคัญคือทุกฝ่ายต่างน่ากลัวเพราะมีสายป่านยาวด้วยกันทั้งสิ้น

กฎที่ไม่เป็นธรรม?

ธนภณ ตั้งคณานันท์ นายกสมาคมค้าปลีกไทย วิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจค้าปลีก – ค้าส่ง ฉบับใหม่ที่คาราคาซังมานาน ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรด และมีความเข้มงวดจนเกินไปจนแทบจะขยายธุรกิจใหม่ไม่ได้เลย

นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายใหญ่กว่ากฎหมายอื่นที่มีการควบคุมอยู่แล้ว เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ทำให้เห็นว่ากฎหมายค้าส่งค้าปลีกเป็นกฎหมายซ้ำซ้อน ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมต่อโมเดิร์นเทรด โดยเฉพาะมาตราต่อไปนี้

มาตรา 20 (1) ธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งที่มีขนาดพื้นที่ของสถานประกอบธุรกิจ ขายสินค้าแห่งใดแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป

(2) ธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งที่มียอดรายได้หรือประมาณการรายได้ของทุกสาขาในปีภาษีที่ผ่านมา หรือประมาณการรายได้ของแผนธุรกิจในปีแรกรวมกันตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป หรือตามจำนวนที่กำหนดเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา หรือ

(3) ธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งซึ่งผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งตาม (1) หรือ (2) ให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิอย่างอื่น เพื่อประกอบธุรกิจภายในระยะเวลาหรือเขตพื้นที่ที่กำหนด และการประกอบธุรกิจนั้นอยู่ภายใต้การส่งเสริมและควบคุมตามแผนดำเนินธุรกิจของบุคคลที่อนุญาตนั้น โดยผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิดังกล่าว

สาระใน พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ จะมี 3 ประเด็นหลัก คือ

1.จัดระบบโครงสร้างธุรกิจ โดยกำหนดการขออนุญาตตั้งหรือขยายสาขาออกเป็น 4 ขนาด ได้แก่ ประเภท ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่มาก พื้นที่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป ตั้งระยะห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 10 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง ร้านค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,000-2,999 ตารางเมตร ตั้งห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 5 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง ร้านค้าขนาดกลางพื้นที่ 300-999 ตารางเมตร ตั้งห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 กม. เวลาเปิดปิด 12-16 ชั่วโมง และร้านค้าขนาดเล็ก พื้นที่ 120-299 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 1 กม.ไม่กำหนดระยะเวลาเปิดปิด และต้องมียอดขายรวมเกิน 1 พันล้านบาทขึ้นไป ยกเว้นตลาดสดและสหกรณ์สามารถเปิดได้อิสระ

2.มีคณะกรรมการกำกับดูแล 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการกลาง เพื่อกำกับกรอบกติกา ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายสาขา ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

3.จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) โดยเก็บจากกำไร 1% ของผลประกอบการ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลโดยเฉพาะ
เบนเข็มธุรกิจ ได้ทั้งกำไร ได้ทั้งความต่าง

ก่อนหน้านี้ 7-Eleven อยู่ในฐานะ “ศัตรู” ตัวฉกาจของโชห่วย และเพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์ของ 7-Eleven แตกต่างจากโมเดิร์นเทรดรายอื่นๆ มากนัก 7-Eleven จึงปรับทิศทางธุรกิจจากคอนวีเนียนสโตร์ที่เน้นขาย Grossery มาสู่ธุรกิจอาหารมากขึ้น จากร้านสะดวกซื้อก็กลายเป็นร้านอิ่มสะดวก อันเป็น Positioning ใหม่ของ 7-Eleven ขณะที่ร้านโชห่วยขายสินค้าคละเคล้ากันไปโดยสัดส่วนอาหารจะน้อยกว่า Grocery

การตั้งต้นเป็นพี่ใหญ่คอยดูแลน้องๆ อย่างโชห่วยด้วยความต่างจึงสมจริงมากขึ้น ขณะที่มีสามารถทำกำไรมากขึ้น

“หันมาเน้นอาหารมากขึ้น เพราะมีกำไรสูง 30-40% เครื่องดื่มกำไร 50% และที่สำคัญมีการหมุนเวียนตลอดเวลา เช่น อีซีโกที่เริ่มตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้มียอดขาย 2,000,000 แพ็กต่อเดือน แต่ถ้าเป็น Grocery บางที 7 ปีก็ยังอยู่ (หัวเราะ) และมีกำไรเฉลี่ย 11% ดังนั้นสัดส่วนของ Grocery จะถดถอยไปเรื่อยๆ” ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอก

ปิยะวัฒน์บอกว่า ก่อนหน้าตั้งเป้าปรับสัดส่วนของอาหารเป็น 70% Grocery เป็น 30% แต่ตอนนี้ปรับใหม่เนื่องจากเห็นศักยภาพของธุรกิจอาหารมากขึ้น และภายใน 3 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 85% ขณะที่ Grocery จะลดลงเหลือเพียง 15% เท่านั้น โดยสินค้า Home Care ได้ถูกลดสัดส่วนลงมาก

และนี่คือทิศทางธุรกิจที่จะทำให้ 7-Eleven ฉีกหนีโชห่วยมากขึ้น หมายความว่าภาพลักษณ์ของพ่อพระก็จะชัดเจนขึ้นด้วยเพราะขายสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ชนกับโชห่วย

ดึงโชห่วยแปลงร่าง ”แฟรนไชส์”

แฟรนไชส์ 7-Eleven ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เริ่มจากการอาศัยเครือข่ายนักธุรกิจผู้กว้างขวางในท้องถิ่น ด้วยการให้สิทธิช่วงในอาณาเขต (Sub Area License) 4 ราย คือ ภาคเหนือตอนบน บริษัท ช้อยส์ มินิสโตร์ จำกัด ของ ตระกูลตันตรานนท์ แห่งเชียงใหม่ รับผิดชอบเปิดร้าน 7-Eleven ในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ภาคใต้ตอนบน บริษัท งานหนึ่ง จำกัด ขยายในเขตภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ และตรัง ภาคใต้ตอนล่าง บริษัท ยะลาศรีสมัย ขยายร้านในเขตยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริษัท ซี.เอ็น.บี (1993) ขยายร้านในเขตอุบลราชานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอำนาจเจริญ

ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 7-Eleven ยังลงทุนเอง และเป็นแฟรนไชส์ซี่รายย่อยเปิดดำเนินการ ดังนั้นในพื้นที่ดังกล่าวจึงยังสามารถเพิ่ม Sub Area License ได้อีก

แม้ว่า 7-Eleven จะมีกลยุทธ์ขยายเครือข่ายใยแมงมุมให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการแปลงร่างร้านสาขาที่บริษัทฯลงทุนเองให้เป็นร้านแฟรนไชส์สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ เข้าทำนองว่าตกลงปุ๊บ มีร้านปั๊บทันทีเหมือนเสกได้

ส่วนทุนท้องถิ่น ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยเก่าอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจรจา แปลงร่างเป็น 7-Eleven แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีโชห่วยอีกมหาศาลที่มีศักยภาพพอจะเป็นแฟรนไชส์ซี่ของ 7-Eleven แต่ยังไม่พร้อมหรือยังคิดว่าได้ข้อเสนอที่ไม่ดีพอ ร้านโชห่วยเหล่านี้ล้วนมี “ทำเลที่ตั้ง” โดดเด่น ถือเป็นทำเลเกรดบีที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือเป็นทำเลที่เจาะซอกซอนเข้าไปในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือ เจ้าของร้านโชห่วยล้วนมีใจบริการและ Sense of Belonging สูง ซึ่งหากยินยอมเป็นแฟรนไชส์ซี่ของ 7-Eleven ก็ย่อมทุ่มเทเต็มที่มากกว่าร้านที่บริษัทฯ ลงทุนเอง ซึ่งจะส่งผลให้มียอดขายต่อสาขาเพิ่มสูงขึ้นด้วย

อนิษฐา ธนมิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักแฟรนไชส์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปัจจุบัน 7-Eleven มีร้านแฟรนไชส์ราว 2,344 สาขา หรือราว 45% ของจำนวนสาขาทั้งหมด 5,000 สาขา และสิ้นปี 2552 จะมี 5,200 สาขา ทั้งนี้เป้าหมายในปี 2553 คือ จะเพิ่มสัดส่วนของร้านแฟรนไชส์เป็น 48% และทุกปีจะเพิ่มสัดส่วน 3% ต่อเนื่อง โดย 5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วน 60% มากกว่าสาขาที่บริษัทฯ ลงทุนเอง

โดยเงินลงทุนเบื้องต้นของการเปิดร้านแฟรนไชส์ 7-Eleven คือ 1,500,000 บาท (ค่าประกัน 1,000,000 ล้านบาท) แต่จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา (6 ปี และ 10 ปี แล้วแต่ประเภท) ถึงขั้นเปิดศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

“เงินลงทุนลดลง เป็นโอกาสสำหรับคนทั่วไปมากขึ้น จากเดิม 3,500,000 บาท”

7-Eleven โชว์จุดขายด้วย Know-how ด้านการค้าปลีกที่เหนือกว่าโชห่วย โดยเฉพาะระบบ IT ที่เรียกกันว่า Store System การใช้ช่องทางขายอื่นอย่าง 7-Catalog ที่มีสินค้ากว่า 10,000 รายการ ทำให้ 7-Eleven สำแดงพลังแห่งเครือข่ายทุนไทยได้อย่างน่ากลัว

หากจะว่าไปแล้วนโยบายการดำเนินธุรกิจของ 7-Eleven ที่ญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากเมืองไทย มิหนำซ้ำยังพัฒนาก้าวไกลไปจนถึงขั้นมีแฟรนไชส์ซี่เกือบ 100% จากจำนวนสาขาทั้งหมด 12,000 สาขา ขณะที่สหรัฐอเมริกากว่า 80% เป็นร้านแฟรนไชส์

7-Eleven ในไทยกำลังเร่งไล่ตามทิศทางธุรกิจนี้อย่างไม่ลดละ เพราะเป็นโมเดลขยายธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำกว่าลงทุนเอง

อิทธิพลต่อสังคมและการเมือง

7-Eleven ยังเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ด้วยยอดขายรวมของซีพี ออลล์ กว่า 100,000 ล้านบาทนั้นไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น หากแต่ถูกคาดหวังให้เป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญในการทำโพลล์ระดับมหภาคของ “ปัญญาสมาพันธ์” ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไรที่มีซีพี ออลล์ เป็นต้นคิดและให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า แนวคิดในการก่อตั้งปัญญาสมาพันธ์เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนที่ปัญญาสมาพันธ์นี้จะเกิดขึ้นในปี 2551 ตั้งเป้าเป็นโพลล์ชั้นนำของประเทศ และใช้พลังแห่งเครือข่ายค้าปลีกเป็นจุดแข็งในการเก็บกลุ่มตัวอย่างจากแต่ละสาขาที่มีกว่าครึ่งหมื่นแห่งทั่วประเทศด้วยข้อมูลแบบ Real time ทำให้โพลล์ของปัญญาสมาพันธ์มีขนาดของกลุ่มตัวอย่างมหาศาลและสามารถจัดทำโพลล์ในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างมีอิมแพคไม่แพ้สำนักโพลล์ชื่อดังอื่นๆ

“50,000 ชุด ก็ทำได้แป๊บเดียวเสร็จ ต่อให้เจ้าอื่นทำ 400-800 ชุด ซึ่งถูต้องตามหลักวิชาการก็ตาม ก็ไม่มีพลังหรือน่าเชื่อถือเท่ากลุมตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่และกระจายครอบคลุมทั่วประเทศได้”

ก่อศักดิ์บอกว่าปัญญาสมาพันธ์เป็นองค์กรที่ซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนในเรื่องของกำลังคน สถานที่ และงบประมาณ และทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานวิจัยด้วย

ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการ 7-Eleven เฉลี่ย 1,200 คนต่อสาขาต่อวัน เป็นทราฟฟิกที่น่าสนใจและหากรวมทุกสาขาจะมีผู้ใช้บริการอย่างต่ำ 6,000,000 คนต่อวัน หรือเกือบ 10% ของประชากรไทยเลยทีเดียว

พลังเครือข่ายของ 7-Eleven จึงมีอิทธิพลไม่เฉพาะเศรษฐกิจ หากแต่รวมถึงอิทธิพลต่อสังคมและการเมืองด้วย

ทางเลือก ทางรอด

ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจค้าปลีกไทยมีกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แม้ GDP ในปี 2552 จะติดลบ แต่ธุรกิจค้าปลีกเติบโตราว 3% และเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ โดยสัดส่วนของโมเดิร์นเทรด คิดเป็น 500,000 ล้านบาท หรือราว 30-40% ขณะที่เทรดดิชันแนลเทรด ซึ่งรวมถึงโชห่วยด้วยนั้นมีสัดส่วนสูงถึง 60-70% เลยทีเดียว

สุดท้ายแล้ว ธนภณบอกว่าไม่ว่าจะเป็นโมเดิร์นเทรด หรือเทรดดิชันแนลเทรด หากต้องการอยู่รอดก็ต้องปรับตัว อย่าหยุดนิ่งเฉยและต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ และจุดขายที่ไม่เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น

“โชห่วยมีเสน่ห์ที่ร้านค้าสมัยใหม่ไม่มี คือ ความผูกสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในชุมชน เป็นมิติที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกและเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โชห่วยอยู่รอดและเติบโตได้ แต่ยังต้องปรับตัวในแง่ของการคัดเลือกสินค้าที่แตกต่างจากโมเดิร์นเทรด แต่ที่ผ่านมาเขามักไม่มีโอกาสคัดเลือกสินค้าด้วยตัวเอง ซัพพลายเออร์บริษัทต่างๆ จะเป็นผู้นำเสนอให้”

“ในส่วนของโมเดิร์นเทรด เช่น ท็อปส์ เดลี่ สาขาโชคชัย 4 เปิดติดกับตลาดเลย แต่ก็อยู่ได้เพราะขายสินค้าที่แตกต่างจากในตลาด ถ้าไปขายผักสด ขายเนื้อสัตว์แข่งกับพ่อค้าแม่ค้าก็สู้เขาไม่ได้อยู่ดี” เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพ

ขณะที่เมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการสื่อสารทางการตลาดและองค์กร พีแอนด์จี ประเทศไทย บอกว่า อย่างไรก็ตามโชว์ห่วยก็ยังอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เพราะมีเสน่ห์ในแง่ของการบริการและเป็นต้นแบบแห่ง CRM ที่โมเดิร์นเทรดต้องเรียนรู้และศึกษาอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันยอดขายของพีแอนด์จีก็มาจากโมเดิร์นเทรดและเทรดดิชันแนล เทรดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

แสดงให้เห็นว่าซัพพลายเออร์ยังต้องพึ่งพาโชห่วยซึ่งเป็นหัวใจของชุมชนอยู่มาก เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าในทั้ง 2 ช่องทางแตกต่างกัน

เจ้าของร้านโชห่วยรายใหญ่บนถนนพระอาทิตย์บอกว่า เธอเคยโดนทาบทามจาก 7-Eleven อยู่หลายครั้งให้เป็นแฟรนไชส์ซี่ แต่เธอเลือกที่จะเป็นเจ้าของร้านโชห่วยไม่ติดแอร์มากกว่า แม้จะโดนประกบติดจาก 7-Eleven ถึง 4 สาขา แต่ก็ยังยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน ด้วยหัวใจบริการและการคัดสรรสินค้าที่แตกต่าง ขนมไทยหลากชนิด ของเล่นเด็ก ลูกอม และเครื่องดื่มบางชนิด ไม่มีขายในร้านอิ่มสะดวกดังกล่าว

“กระทบบ้าง แต่ก็ยังพออยู่ได้ แต่ก็ต้องปรับตัวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่ชอบซักถามพูดคุยจนกลายเป็นคนคุ้นเคยกันไปแล้ว คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ยาม เขาไม่นิยมซื้อของที่ 7-Eleven หรอก เขาก็มาที่เรา”

สุดท้ายแล้วคำถามที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งหาคำตอบคือ แล้วโชห่วยไทยจะเข้มแข็งได้อย่างไร โดยไม่กีดกันบรรดาโมเดิร์นเทรด เพราะแม้จะมีความแตกต่าง แต่ก็หาใช่น้ำกับน้ำมันที่จะอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนไม่ได้