8 พระที่นั่งสำคัญใน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐”

ส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีสถานที่สำคัญซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธีหลายจุด โดยเฉพาะภายในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีสำคัญอื่นๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา

หมู่พระมหามณเฑียร

สำหรับ “หมู่พระมหามณเฑียร” คือกลุ่มพระที่นั่งหลังคาทรงจั่ว สร้างเชื่อมพระที่นั่งประธานสามหลังประกอบไปด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตั้งอยู่เบื้องตะวันออกของเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๒๘ เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ได้ใช้พระที่นั่งสำคัญสำหรับประกอบพระราชพิธี ดังนี้

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ลักษณะเป็นพระมหาปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่เบื้องตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นกลางในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๓๒ ทดแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ภายหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพจนเป็นธรรมเนียม

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กับ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ผนังด้านทิศเหนือประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ด้านหลังพระวิมานเป็นพระทวารเทวราชมเหศวร ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และการเชิญพระสุพรรณบัฎ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งสาคัญในหมู่พระมหามณเฑียร ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยอาคาร ๓ หลังเรียงต่อกันในแนวตะวันออก – ตะวันตก เป็นพระวิมานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จึงใช้พระที่นั่งองค์นี้ สำหรับประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร อันเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ปัจจุบันพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงและเครื่องราชูปโภค

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

เป็นพระแท่น หรือพระที่นั่ง หรือพระราชอาสน์ ทำจากไม้อุทุมพร หรือ “มะเดื่อ” ทรงแปดเหลี่ยมจึงเรียกว่า “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” สลักปิดทองประดับกระจก กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตรหรือสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว ๗ ชั้น ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านมุขตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ประดิษฐานอยู่เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ลักษณะเป็นพระเก้าอี้ถมทอง พนักและเท้าแขนต่อเนื่องกันเป็นกงแบบเก้าอี้จีน สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังปักนพปฎลมหาเศวตรฉัตร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว

เสด็จพระราชดำเนินประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภคและราชสมบัติ

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ภายในหมู่พระมหามณเฑียร

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน 

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญในพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นท้องพระโรงโถง ยกพื้นสูง มีมุขสองข้างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีความสำคัญ อันได้แก่ ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เสด็จพระราชดำเนินพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทรงนมัสการพระรัตนตรัย วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เสด็จออกมหาสมาคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจาก พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ในพระราชพิธีสนานใหญ่ และการฝึกช้าง ลักษณะเป็นพลับพลาโถงทำด้วยเครื่องไม้ มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางทิศเหนือและทิศใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ก่อผนังอิฐฉาบปูนต่อเติมหลังคาเป็นยอดปราสาท พุทธศักราช 2492 มีการต่อเติมสร้างเฉลียงไม้ด้านตะวันออกเป็นสีหบัญชร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มีความสำคัญ โดยในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการ และเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ มีทั้งหมด ๑๑ องค์ แต่ภายหลังเกิดความทรุดโทรม และบางองค์ยากต่อการบูรณะ ปัจจุบันจึงเหลือทั้งหมด ๕ องค์ด้วยกัน คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีความสำคัญ โดยในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะเสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล.

Source