108 ช็อป Survival Network

700 สาขาในวันนี้ คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การดึงโชห่วยมาเป็นเครือข่าย ”108 ช็อป” ให้ได้หมื่นสาขาในอนาคต คือเป้าหมายที่เครือสหพัฒน์หวังไว้ ผ่านกลุยทธ์ “108 ช็อป” ปักธงในธุรกิจนี้ ด้วย “Positioning ร้านสะดวกซื้อพอเพียง” ทำให้ ”โชห่วย” ยังมีลมหายใจ ตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะแปลงร่างเป็นร้านสะดวกซื้อในเครือข่ายของคนไทยแบรนด์นี้ ต่อยอดเฮาส์แบรนด์ ”สหพัฒน์” ได้อย่างลงตัว เป็น ”ทางรอด” ท่ามกลางสงครามค้าปลีกจากต่างชาติที่ระอุอยู่รอบตัว

“โชห่วย สนับสนุนสหพัฒน์มานานกว่า 70 ปี เราก็จะช่วยพวกเขา ไม่เช่นนั้นพวกเขาอยู่ไม่ได้ เพราะพวกเขาสร้างสหพัฒน์มา” คือข้อความที่ ”เวทิต โชควัฒนา” ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณอาทั้ง 2 คือ ”บุณยสิทธิ์ และ บุญเกียรติ โชควัฒนา” 2 ใน 8 พี่น้องตระกูลโชควัฒนารุ่นที่ 2 ที่ขับเคลื่อนธุรกิจของเครือสหพัฒน์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย

ผ่านไปแล้วประมาณ 5 ปี ดูเหมือนว่าไม่เพียงสหพัฒน์จะช่วยเหลือโชห่วยเท่านั้น แต่โชห่วยที่กลายพันธุ์และสาขาที่เครือสหพัฒน์ลงทุนเอง ภายใต้แบรนด์”108 ช็อป” รวมกว่า 700 สาขา คือช่องทางร้านสะดวกซื้อที่ตอบโจทย์ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของ ”สหพัฒน์” ถึงมือลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น และแน่นอนถ้อยความที่ถ่ายทอดครั้งนั้นที่ยังก้องอยู่ในใจของ ”เวทิต” อีกส่วนหนึ่งคือเป้าหมาย 108 ช็อปนับหมื่นสาขา

ขอโลเกชั่นระดับ B ก็โอเค

การเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย มีโจทย์ 2 ข้อที่ ”เวทิต” ต้องตอบ คือ ตลาดนี้มีเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นเจ้าตลาด และกวาดพื้นที่ทำเลทอง เกรด A ที่มียอดบิลวันหนึ่งไม่ต่ำกว่าพันใบ ยอดขายไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นจนถึงแสนบาทไปเกือบหมด 108 ช็อป จึงต้องเลือกพื้นที่ทำเลเกรด B คือคนอาจไม่พลุกพล่านมาก แต่ก็คึกคักพอที่จะมียอดบิลไม่ต่ำกว่า 400 ใบต่อวัน หรือยอดขายไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 บาท

อีกข้อหนึ่งคือการทำให้ให้โชห่วยเข้าใจเจตนารมณ์ของสหพัฒน์ และมั่นใจในการรับแฟรนไชส์ 108 ช็อป สหพัฒน์จึงเลือกเดินเกมลงทุนเปิด 108 ช็อปด้วยตัวเอง และยังทำให้ได้ขนาดธุรกิจที่ใหญ่พอ (Economy of scale) สำหรับระบบการส่งสินค้า จากนั้นจึงเพิ่มแฟรนไชส์และขายกิจการให้เจ้าของพื้นที่ที่สหพัฒน์ไปเช่าพื้นที่เปิดร้าน

จากเงื่อนไขและเป้าหมายนี้ทำให้ 108 ช็อป วาง Positioning ของตัวเองว่าเป็นร้านสะดวกซื้อแบบพอเพียง ที่ต้องการให้โชห่วยลงทุนตามความสามารถของตนเอง และเหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละราย

หั่นราคา แถมไม่มีแป๊ะเจี๊ย

เมื่อเลือกเป็นร้านในพื้นที่ระดับ B ทำให้ 108 ช็อปต้องลงมาเล่นเรื่องราคาในธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อได้ ด้วยการไม่เก็บ “ค่าแฟรนไชส์” เพียงเตรียมเงินไว้ 2-3 แสนบาท สำหรับค่าตกแต่งร้าน ค่าประกัน และค่าบริการระบบต่อเดือน ก็สามารถเปิดร้านได้ทันที หากเลิกกิจการ ถ้าไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ ก็ยังได้เงินค่าประกันคืน 1 แสนบาท

การเข้าง่าย ต้นทุนไม่สูงทำให้ 108 ช็อปขยายตัวเร็วในช่วงแรกๆ แต่ต้นทุนถูกนี้เอง กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ ”เวทิต” บอกว่าทำให้ผู้รับแฟรนไชส์บางคนไม่จริงจังกับการทำธุรกิจ หรือดูแลร้าน โดยเฉพาะรายละเอียดของการดูแลร้านตั้งแต่เวลา การเปิดปิดร้าน ที่ไม่แน่นอน การประหยัดไฟจนร้านไม่สว่างพอ ปิดแอร์ ซึ่งมีส่วนทำให้แบรนด์ของ 108 ช็อปยังดูเป็นร้านสะดวกซื้อที่ไม่เป็นระบบ ขาดความน่าเชื่อถือ

ไอที โลจิสติกส์ เทียบชั้นแบรนด์ใหญ่

“เวทิต” มีพื้นฐานและความชอบด้านไอทีอย่างดี ทำให้การรันธุรกิจร้านสะดวกซื้อของ 108 ช็อปค่อนข้างราบรื่น เพราะสามารถนำระบบโลจิสติกส์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจภายใต้บริษัทซันร้อยแปด ของเครือสหพัฒนพิบูล หรือสหพัฒน์ ที่ “เวทิต” วางระบบไว้มาใช้เป็นเครื่องมือได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะระบบของศูนย์กระจายสินค้า การบริหารสต๊อกและจัดส่งสินค้าให้กับร้านสะดวกซื้อแบรนด์ต่าง ๆ ตั้งแต่แฟมิลี่มาร์ทในอดีต และร้านของเครือข่ายปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่หลายแห่งในปัจจุบัน

“โลจิสติกส์” เป็นอาวุธที่สามารถต่อสู้กับเครือข่ายร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ อย่าง”เซเว่น อีเลฟเว่น”ได้เต็มที่ เพราะสต๊อกสินค้าที่ดีช่วยให้ร้านสะดวกซื้อมีชีวิตชีวา จาก 1.สินค้าไม่ค้างสต๊อก หมุนเวียนเร็ว โดยเฉพาะเมื่อสินค้านั้นเปลี่ยนแพ็กเกจ หรือออกสูตรใหม่ 2.หากสินค้าหมดเร็ว ก็สามารถเติมได้ทันความต้องการของลูกค้า ขณะที่โชห่วยแบบเดิมต้องรอขายจนหมดจึงซื้อของใหม่มาขายได้ หรือสั่งสินค้าล่าช้าจนของขาด และลูกค้าก็เปลี่ยนไปซื้อที่อื่นแทน ขาดความต่อเนื่องในการรักษาฐานลูกค้า

เมื่อคุณซื้อสินค้า 1 ชิ้น ระบบของ 108 ช็อปที่วางไว้แต่ละสาขา ตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ และระบบออนไลน์ จะประมวลผล หากเห็นว่าจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่เทียบกับความต้องการของลูกค้าของสาขานั้นไม่เพียงพอ ระบบจะส่งคำสั่งซื้อโดยอัตโนมัติ (Auto Re-order) มายังศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ทันที ซึ่งพนักงานในศูนย์กระจายสินค้ามีอุปกรณ์พีดีเอในการจัดสินค้า ที่ส่งสัญญาณเข้าระบบผ่าน RFID ใช้มานานกว่า 1 ปีที่ทำให้ประหยัดต้นทุนกระดาษไปได้อย่างน้อยเดือนละ 8 หมื่นบาท และยังมีความแม่นยำในการจัดส่งสินค้าได้มากกว่า

สุดท้ายรถส่งสินค้าของ 108 ช็อป จะสามารถส่งให้ได้วันต่อวัน เพราะความคุ้มทุนที่รถคันนั้นพร้อมไปส่งให้กับร้านสะดวกซื้อแบรนด์อื่นๆ ด้วย

“เวทิต” สรุปความสำคัญของระบบไอทีว่า ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 108 ช็อปอยู่มาได้เพราะมีไอที และระบบการจัดการ

เร่งปรับจุดอ่อนสู้ศึกรอบด้าน

ศึกรอบด้านสำหรับ 108 ช็อป ทำให้ขณะนี้ต้องเร่งแก้จุดอ่อน และเพิ่มจุดแข็งมากขึ้น โดยเริ่มจากพนักงานของร้าน ที่มีเป้าหมายสร้างให้ 108 ช็อปผูกสัมพันธ์กับลูกค้าเหมือนร้านโชห่วย ที่เจ้าของร้านจะรู้จักลูกค้าและครอบครัวของลูกค้าอย่างดี “ยิ้ม ไหว้ ขาน สวัสดี ทักทาย” คือหลักในสื่อสารกับลูกค้า หากสำเร็จจะเกิดยอดขายสินค้าอื่นๆ ตามมา (Plus Sale) ซึ่งเกิดจากการเชียร์ให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น

108 ช็อปต้องดำเนินการ 2 อย่างคือการปลูกฝังพนักงาน ให้เห็นความสำคัญของการเป็นหน้าด่านของบริษัท และการให้ผลตอบแทน หากทำยอดขายได้มากขึ้น ก็จะมีคอมมิชชั่นมากขึ้นในแต่ละเดือน

การเพิ่มกลุ่มสินค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่ง 108 ช็อป กำลังเติมสินค้าประเภทอาหาร Ready to Eat (RTE) ซึ่งถือเป็นสินค้าที่สะท้อนให้เห็นความเป็นร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน รวมไปถึงการเพิ่มบริการจุดชำระเงินค่าบริการต่างๆ นอกเหนือกจากนี้ยังมีระบบบัตรเงินสด ที่เครือสหพัฒน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มทดลองใช้ในกลุ่มพนักงาน

สำหรับจุดอ่อนที่สำคัญคือการสื่อสารและสร้างแบรนด์ ที่ ”เวทิต” รู้ดีกว่าแบรนด์มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเดินเข้าร้านของกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะนี้ 108 ช็อปยังไม่พร้อมสำหรับการสร้างแบรนด์มากนัก ทางออกคือการใช้สื่อที่มีอยู่ในเครือสหพัฒน์ คือทีวีดาวเทียม ”เอส แชนแนล” อีกหนึ่งธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อกลางปี 2552 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากหากมีโอกาสให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถ้าเวลาเอื้ออำนวยเขาก็พร้อมให้ข่าว ถ่ายภาพเต็มที่

ช็อปยิ่งขยาย โอกาสเฮาส์แบรนด์ยิ่งมา

“เวทิต” บอกว่าการเพิ่มสินค้าที่หลากหลาย และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละวัน คือหลักในการบริหารสินค้าในร้าน 108 ช็อป ดังนั้นใน 108 ช็อปจึงมีสินค้าหลากหลายจากผู้ผลิตหลายราย เพราะสหพัฒน์ตั้งเป้าหมายให้เป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจริงๆ ดังนั้นในร้าน 108 ช็อปจึงมีสินค้าของสหพัฒน์ประมาณ 10% ของสินค้าทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มของสินค้าเฮาส์แบรนด์ “108 ช็อป” ที่จำหน่ายเฉพาะใน 108 ช็อป ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ตั้งแต่ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่มียอดขายสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะผงซักฟอกถุงใหญ่ ราคา 129 บาท กลายเป็นสินค้าดี เพราะกลยุทธ์ราคา ทำให้สามารถเพิ่มค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อบิลเป็น 52 บาทได้ ทำให้เห็นว่าโอกาสของสินค้าเฮาส์แบรนด์มีสูง แม้จะไม่ใช่เป้าหมายตั้งแต่ต้นของธุรกิจ 108 ช็อป แต่ก็หมายถึงโอกาสที่เริ่มเห็นมากขึ้นของสินค้าในเครือสหพัฒน์

5 ปีที่ผ่านมา เฉพาะตัวธุรกิจของ 108 ช็อปมีตัวเลขขาดทุนมาโดยตลอด จังหวะก้าวของ 108 ช็อปจึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง และไม่ลงทุนสูงนัก กลยุทธ์คือค่อยๆ ดึงโชห่วยด้วยหลักการติดอาวุธให้ปรับปรุงร้าน เข้าสู่ระบบของสหพัฒน์ เพื่อให้มีกำลังพอต่อสู้กับร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่ และต่างชาติได้ แม้ในปี 2553 จะมีเพียง 1,100 สาขา ที่ดูเหมือนยังมีเส้นทางอีกยาวไกลกว่าจะถึงหลักหมื่นสาขา แต่สำหรับ ”เวทิต” ในฐานะแม่ทัพวันนี้ดูเหมือนว่าเขายังคงมีพลังเต็มที่ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ และติดอาวุธใหม่ให้ ”สหพัฒน์” สำเร็จให้ได้

เปิดร้าน 108 ช้อป
————————————————————————-
บริษัท “ซันร้อยแปด” เครือสหพัฒนพิบูลย์
แบรนด์ 108 ช็อป
คอนเซปต์ ร้านสะดวกซื้อ
Positioning ร้านสะดวกซื้อแบบพอเพียงสำหรับคนไทย
โลเกชั่นหลัก ความหนาแน่นของลูกค้าระดับ B (เฉลี่ยวันละ 400-800 บิล หรือรายได้ต่อวันเฉลี่ย 15,000 บาท)
อาวุธ
-ขยายสาขาโดยใช้ระบบไอทีในการบริหารโลจิสติกส์ และสร้างความสัมพันธ์กับโชห่วยด้วยค่าธรมเนียม และค่าบริการบริหารสต๊อกสินค้าถูกกว่าคู่แข่งเท่าตัว และส่งสินค้าแม้แต่ชิ้นเดียวก็บริการส่งให้
-การบริการลูกค้า เน้นคอนเซ็ปต์ความเป็นกันเอง เปรียบเสมือนเพื่อนบ้าน แบบเดียวกับโชห่วย ภายใต้
หลักปฎิบัติสำหรับพนักงานที่ว่า ”ยิ้ม ไหว้ ขาน สวัสดี ทักทาย” ส่งผลไปถึง Plus Sale หรือพนักงาน
นำเสนอสินค้าอื่นให้ลูกค้าซื้อได้
-กลยุทธ์ราคา จากสินค้าที่ในเครือ
-ช่องทางการสื่อสาร ”เอสแชนแนล” ทีวีดาวเทียมเครือสหพัฒน์ ที่สามารถสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้
สินค้าเด่น เฮาส์แบรนด์ 108 ช็อป เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจน เป็นสินค้า 10% ของสินค้าทั้งหมด
รายได้ต่อบิล – 52 บาท
จำนวนสาขาปัจจุบัน -700 สาขา ลงทุนเองกับแฟรนไชส์อย่างละครึ่ง กรุงเทพฯ 55% ต่างจังหวัด 45%
จำนวนสินค้า -2,000 SKU
เป้าหมาย เพิ่มบริการครบวงจร ด้วยสินค้ากลุ่ม RTE, บริการ-จ่ายค่าสาธารณูปโภค, ซื้อของด้วยบัตรเงินสด
แผนธุรกิจปี 2553 ขยายสาขารวม 400 สาขา แบ่งเป็นลงทุนเอง 200 สาขา แฟรนไชส์อีก 200 สาขา

———————————————————————-
ต้นทุน-รายจ่ายสำหรับผู้ที่รับแฟรนไชส์ 108 ช็อป
1.ต้องเป็นเจ้าของ หรือเช่าพื้นที่ขนาด 20-200 ตร.ม.
2.ค่าออกแบบตกแต่งร้าน 2 แสนบาท (ร้านขนาดใหญ่)
3.ค่าประกันสินค้า 50,000 บาท
4.ค่าประกันระบบ เช่น อุปกรณ์จัดเก็บเงิน คอมพิวเตอร์ ป้ายแบรนด์ 50,000 บาท
5.ค่าบริการระบบบริหารและส่งสินค้าเดือนละ 3,000-6,000 บาท

————————————————————————-

Timeline จำนวนการเปิดสาขา
ปี 2004 เริ่มก่อตั้ง มี 56 สาขา
ปี 2005 556 สาขา
ปี 2006 715 สาขา
ปี 2007 846 สาขา
ปี 2008 975 สาขา
*ปี 2009 700 สาขา
ปี 2010 เป้าหมาย 1,100 สาขา
*ยอดสรุปสาขาที่ยังคงเปิดตัวอยู่ จากหลายปีที่ผ่านมาที่มีการเปิดสาขาแต่ก็มีการปิดตัวไปบ้าง