พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบที่อยู่อาศัยชานเมืองขยายตัว โซนผังเมืองสีเหลืองเด่น เผย 3 ทำเลยอดนิยม มีนบุรี-บางกะปิ มาแรง

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เผยผลสำรวจล่าสุดพบที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองกลับมานำเทรนด์ มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 จากความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่สีเหลืองที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ดีมานด์โตราว 10% สูงกว่าเขตสีส้มที่มีดีมานด์โต 5% ขณะที่พื้นที่สีน้ำตาลและสีแดงมีดีมานด์ลดลง เผย 3 ทำเลโดดเด่น มีนบุรี-บางกะปิ, สายไหม-สะพานใหม่, บางใหญ่-นนทบุรี ยอดนิยม ชี้ที่อยู่อาศัยที่ออกแบบเน้นคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีกำลังมาแรง ล่าสุดพบมูลค่าการลงทุนในโครงการประเภทนี้กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท

นางสาวสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนาพบว่า ในปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยหนุนด้านการพัฒนาระบบคมนาคมอย่างรวดเร็ว ทำให้เทรนด์การมีบ้านชานเมืองเริ่มกลับมาได้รับความนิยม อีกทั้งทำเลชานเมืองหลายแห่งยังมีความพร้อมรอบด้าน ซึ่งหากจำแนกการเลือกอยู่อาศัยตามประเภทการบังคับใช้ที่ดินพบว่า อัตราการเติบโตของความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนอกเขตชานเมืองมีเพิ่มขึ้นมากกว่าเขตในเมือง จากข้อมูลระหว่างปี 2559 – 2561 พื้นที่สีเหลือง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) ความต้องการขยายตัวเป็นอันดับหนึ่งโดยขยายตัวขึ้นราว 10% รองลงมาคือ พื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ขยายตัว 5%ขณะที่พื้นที่สีน้ำตาล (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) และพื้นที่สีแดง (ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม) มีอัตราการขยายตัวลดลง 4.5% และ  4.1% ตามลำดับ สำหรับพื้นที่สีเหลืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯนั้นได้แก่โซนมีนบุรี-บางกะปิ โดยเฉพาะในเส้นกรุงเทพกรีฑา โซนสายไหม-สะพานใหม่ และโซนบางใหญ่-นนทบุรี

โซนมีนบุรี-บางกะปิ โดดเด่นทั้งโครงการบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม เนื่องจากเป็นทำเลที่มีรถไฟฟ้าหลายสายตัดผ่าน ในส่วนของบ้านเดี่ยว พบราคาย้อนหลัง 3 ปี มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 10% โดยโครงการที่เสนอขายส่วนใหญ่เป็นโครงการในระดับบน ราคาเสนอขายเฉลี่ยประมาณ 15 ล้านบ้านต่อหลัง ในปี 2561 มีอุปทานเสนอขายจำนวน 322 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับจำนวน 100ยูนิต คิดเป็นยอดขาย 30% สำหรับคอนโดมิเนียม พบราคาย้อนหลัง 3 ปี มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ในปี 2561 มีอุปทานเสนอขายราว 3,300 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับราว 2,300 ยูนิต คิดเป็นยอดขาย 70% โดยดีมานด์การซื้อคอนโดมิเนียมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 66% จากปีที่แล้ว โดยโซนนี้มีความโดดเด่นเรื่องทำเลที่อยู่ไม่ไกลจาก CBD มากนัก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยเฉพาะในเส้นกรุงเทพกรีฑาที่มีทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีสวนสาธารณะและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการอยู่อาศัย และมีปัจจัยบวกด้านคมนาคมมีถนนสายหลักตัดใหม่ ใกล้ทางด่วนเชื่อมต่อการคมนาคมทุกเส้นทาง เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าในอนาคตได้ถึง 3 สาย คือสายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีแดงอ่อน รวมทั้งแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อให้โซนนี้เป็นทำเลที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในอนาคต

โซนสายไหม-สะพานใหม่ โดดเด่นที่มีดีมานด์ตอบรับค่อนข้างสูง การคมนาคมหลากหลายทั้งการเดินทางด้วยรถยนต์ มีทางด่วนสามารถเชื่อมเข้าเมือง และยังมีรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง โดยในส่วนของบ้านเดี่ยว มีอุปทานเสนอขายจำนวน 771 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับจำนวน 466 ยูนิต หรือคิดเป็นยอดขาย 60% ในส่วนของคอนโดมิเนียมมีอุปทานเสนอขายจำนวน 233 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับจำนวน 189 ยูนิต คิดเป็นยอดขาย 80%

โซนบางใหญ่-นนทบุรี ราคาที่ดินยังไม่สูงมากหากเปรียบเทียบกับทำเลอื่น และมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งหากเดินทางเข้าเมืองจะเป็นสถานีต้นทาง และมีทางด่วนศรีรัชที่เชื่อมวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก โดยโครงการที่เสนอขายส่วนใหญ่เป็นโครงการบ้านเดี่ยว โดยคอนโดมิเนียมไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก สำหรับบ้านเดี่ยว มีอุปทานเสนอขายจำนวน 1,270 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับ697 ยูนิต หรือคิดเป็นยอดขาย 55% ในส่วนของคอนโดมิเนียมมีอุปทานเสนอขายจำนวน 570 ยูนิต อุปสงค์ให้การตอบรับจำนวน77 ยูนิต คิดเป็นยอดขาย 14%

นอกจากนี้ โครงการที่กำลังได้รับความนิยมจะเป็นโครงการที่มีแนวคิดเน้นคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีบนสังคมคุณภาพ (Well-Being Community) ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการหันมาดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการด้านการแพทย์ โดยจากผลวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มองภาพการลงทุนโครงการในกลุ่มนี้จากอดีตถึงปี 2560 คิดเป็นมูลค่ารวม 21,000 ล้านบาท

“ท่ามกลางการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ที่ประชากรส่วนใหญ่ต่างต้องการความสะดวกในการเดินทางมาทำงานในเขตศูนย์กลางธุรกิจ เหตุผลดังกล่าวประกอบกับพื้นที่การพัฒนาโครงการมีน้อยลง (หรือมีอยู่จำกัด) ส่งผลให้ที่ดินย่านกลางเมืองมีราคาสูงจนคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ยาก การย้ายครอบครัวไปอยู่ย่านชานเมืองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยมีเหตุผลประกอบคือต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงดูบุตรหลาน มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ สวนสาธารณะที่ดี และมีสังคมที่น่าอยู่ รวมทั้งในตอนนี้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองด้วยทางเลือกที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้แหล่งงานใหม่ๆก็เริ่มขยายไปสู่พื้นที่ในแถบชานเมือง จึงดึงดูดให้ผู้คนหันมานิยมที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองมากขึ้น” นางสาวสุวรรณีกล่าว