โลกของเรามีขนาดเท่าเดิม แต่การขยายตัวของจำนวนประชากรกลับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 7,000 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เป็น 9,000 ล้านคน ในปี 2593 ในขณะที่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่การบริโภคก็ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาวิกฤติการใช้ทรัพยากรในอนาคต ทฤษฎีของการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน ภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
หลายประเทศทั่วโลก ต่างนำทฤษฎี และแนวทางการปฏิบัติ ในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ภายในประเทศ ที่เน้นคุณค่าของวัตถุดิบ ทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ที่ต้องรักษาให้คงไว้ให้นานที่สุด โดยมีการสร้างของเสียที่ใช้หรือบริโภคให้นำกลับมาใช้ใหม่หมุนเวียนในระบบ และประเทศที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ ประเทศในแถบยุโรป (เยอรมัน) ประเทศในแถบเชีย (ญี่ปุ่น) เป็นต้น
สำหรับแนวคิดนี้ ประเทศไทย กำลังเร่งผลักดัน การนำระบบ เศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้อย่างจริงจัง ผ่านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อให้สอดรับกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของไทย ที่มุ่งสู่ BCG Model โดย B (Bio Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ, C (Circular Economy) หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G (Green Economy) หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศระยะยาวหรือ ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ เร่งเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางนพมาศ ช่วยนุกูล ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึง นโยบายรัฐต่อการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ CircularEconomy ว่า จะมีส่วนสำคัญในการปรับโครงสร้างการผลิตที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจโดยเน้นการผลักดันให้โรงงานก้าวสู่โรงงาน 4.0 ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสีย/วัสดุเหลือใช้ในประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่เป็นสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 6 ด้านคือ 1. นโยบายและมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐ 2.ความตระหนักรู้ของภาคเอกชน 3. การขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน 4.เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ในด้านที่เกี่ยวข้อง โดยภาคเอกชนและภาคการศึกษาต้องเข้ามามีบทบาทนำในการพัฒนาด้านต่างๆ 5. เครือข่ายนำร่องที่เป็นต้นแบบพัฒนา 6. การแสวงหาพันธมิตรในการพัฒนาทั้งภายในและนอกประเทศ
ในขณะเดียวกัน ความเห็นของ ศ.ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า หลายประเทศได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเดนมาร์ก คาดการณ์ว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จะสามารถสร้างอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP สูงขึ้นถึง 0.8-1.4% ได้ในปี 2578(2035) ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนนัก แต่ภาคธุรกิจรายใหญ่ของไทยหลายแห่งได้นำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าสู่ระบบการปรับโครงสร้างทางธุรกิจมากขึ้น
จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยนั้นเอาจริงเอาจังมากขึ้น ที่จะเร่งรัดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม ด้วยการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้โดยเฉพาะการนำมาปรับเปลี่ยนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย และเมื่อหันมามองธุรกิจเอกชนตัวอย่างที่เด่นชัดซึ่งได้ประกาศการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นรากฐานการพัฒนาองค์กร คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดย GC กำลังเดินไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ประกอบด้วย 1. เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตภายในโรงงานที่มีการนำหลัก 5Rs ได้แก่ Reduce ลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และRefuse การปฏิเสธการใช้ มาใช้ในทุกกระบวนการผลิตของโรงงาน ตั้งแต่การการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำความร้อนเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ในระบบการผลิต เป็นต้น โดยทุกระบบในองค์กรเป็นไปอย่างบูรณาการ ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สามารถลดต้นทุนในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. การเป็นผู้ริเริ่มทำโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยการนำขยะขวดพลาสติก จากท้องทะเลและชายฝั่งมาผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสมผสานการออกแบบและดีไซน์ มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสินค้า กลุ่มแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ
3. การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติกที่ใช้วัตถุดิบจากพืช อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ให้เป็นพลาสติกทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ GC มุ่งหวังเพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่า และประโยชน์สูงสุด และมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง ท้ายที่สุดจะเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งเสริมระบบเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืนในที่สุด
ดังนั้นการทำ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป เพราะนี่คือ จุดเริ่มต้นของทุกคนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการนำหลักการดังกล่าวเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยให้เห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างสมบรูณ์แบบ
#เศรษฐกิจหมุนเวียน #CircularEconomy