“หมากฝรั่งคิดคิด” ใช้แฟชั่นชุบชีวิตแบรนด์ เจาะวัยรุ่น Gen Y ก่อนลุยขยายทั้งอาหารและ FMCG

ตลาดหมากฝรั่งในเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในอดีตย้อนกลับไปสัก 10-20 ปีก่อน การเคี้ยวหมากฝรั่งของวัยรุ่นในยุคนั้นคือแฟชั่น มองเป็นความเท่ ความคลู ความชิค จนเมื่อพวกเขาเติบโตไป เด็กรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่พร้อมกับมุมมองที่ไม่อินแบบเดิม หมากฝรั่งกลายเป็นของไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้ปกครองห้ามซื้อ โรงเรียนไม่ให้ขาย

พฤติกรรมเหล่านี้สวนทางกับต่างประเทศ ที่มองการเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นไลฟ์สไตล์ เคี้ยวแล้วช่วยสร้างสมาธิ คลายความเครียด จนไปถึงเคี้ยวเพื่อเลิกบุหรี่ ภาพรวมตลาดจึงยังเติบโต สวนทางกับในเมืองไทยที่เติบโตลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ ตลาดมูลค่าราว 3,000 ล้านบาท เหลือเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้เล่นรายใหญ่ต้องปรับตัวด้วยการลดซับแบรนด์ลง เหลือเพียงแบรนด์หลักๆ ที่ทำยอดขายได้ พร้อมกับดึงดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์เพื่อสร้างยอดขาย โดยแบรนด์ที่ยังเหลืออยู่ก็เช่น เดนทีน ริกลี่ย์ ล็อตเต้ เป็นต้น ส่วนแบรนด์เล็กๆ บ้างก็หายออกจากตลาด บ้างยังอยู่ แต่ยอดขายลดลงไปมากเช่นหมากฝรั่งคิดคิด เป็นต้น

สำหรับ หมากฝรั่งคิดคิดเริ่มวางขายครั้งแรกในปี 1984 โดยบริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จำกัด ซึ่งระบุว่าตัวเองคือโรงงานแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เครื่องจักรผลิตหมากฝรั่งและลูกอม

ในยุคแรกเริ่มนี่ถือเป็นตำนานหมากฝรั่งที่วัยรุ่นไทยในยุค 80 และ 90 น่าจะคุ้นเคยกันดี ผ่านสโลแกนคิดคิด เพื่อนเคี้ยว และรสชาติมินต์ที่มาพร้อมกับแพ็กเกจจิ้งสีเหลืองสดใส แถบคาดน้ำเงินแดงเขียว อันเป็นเอกลักษณ์

แต่ถึงจะเป็นที่รู้จัก คิดคิดก็ไม่รอดพ้นจากภาวะหดตัวของตลาด ยิ่งเป็นแบรนด์เล็กผลกระทบยิ่งมากกว่า ยอดขายลดลงถึง 50% จากที่เคยทำได้ 500 ล้านบาทในปี 2004 มาวันนี้เหลือไม่ถึง 200 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้ที่เคยมีในบริษัทกว่า 80% ปัจจุบันเหลือราว 5% อีก 80% แทนที่ด้วยยอดขายสารความหวาน และอีก 15% มาจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้า

ยิ่งไปกว่านั้นแบรนด์แทบหายไปจากตลาด จนติดอันดับสินค้าในอดีตที่หากินได้ยากในปัจจุบัน หากความเป็นจริงคิดคิดบอกว่าแบรนด์ตัวเองไม่ได้หายไปไหน ยังมีขายอยู่ในช่องทางโชห่วยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ราคาชิ้นละ 1 และ 5 บาท มี 3 รสชาติให้เลือก ส่วนผู้บริโภคมาถามถึงอาจเป็นเพราะไม่ได้ไปร้านเหล่านี้ด้วยในช่องทางโมเดิร์นเทรดเข้าๆ ออกๆ

เนื่องจากทางโมเดิร์นเทรดระบุว่าจะต้องทำโฆษณาในช่องทางทีวี ถึงจะสามารถวางขายได้ แต่เมื่อดูจากยอดขายแล้วไม่คุ้มที่จะทุ่มงบกับการทำโฆษณา ขนาดงบซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 50 – 100 ล้านบาทเพื่อนำมาทำสินค้าใหม่ ยังมองว่าไม่คุ้มการลงทุนจึงไม่ซื้อ ดังนั้นการโฆษณาในทีวีครั้งล่าสุดจึงเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริการงานของทายาทรุ่นที่ 3 มองว่า ชื่อแบรนด์คิดคิด ถือเป็นแบรนด์เอสเซนส์ (Brand Essence) หรือแก่นคุณค่าของแบรนด์ที่กลุ่ม Gen X รู้จักดี และถึงตลาดจะอิ่มตัวแต่แบรนด์ Branding Positioning ความเทรนดี้ยังอยู่ จึงไม่ควรปล่อยให้เงียบหายไปตามกาลเวลา

ในปี 2019 นี้จึงได้ลุกขึ้นมารีเฟรชแบรนด์ ครั้งใหญ่ ด้วยการจับมือกับ สยามเซ็นเตอร์ และ ไทย ดีไซเนอร์ 3 แบรนด์ คือ Fox Pixel (แบรนด์เสื้อผ้าชุดลำลอง Unisex), April Pool Day (แบรนด์ชุดว่ายน้ำวินเทจและ She (แบรนด์กระเป๋าแฮนเมด) นำเอกลักษณ์ของแบรนด์มาออกแบบเป็นสินค้าแฟชั่น

วางขายที่ร้านแอบโซลูทสยามสโตร์ สยามเซ็นเตอร์ชั้น 1 แห่งเดียว ไม่เปิดขายในออนไลน์ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา และจะขายตลอดทั้งปี โดยจะมีคอลเลกชั่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ รายได้จะแบ่งกันระหว่างคิดคิดกับดีไซเนอร์ ซึ่งจากการวางขายไปพบว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ Gen X ส่วน Gen Y ก็เข้ามาซื้อบ้าง

ริศร์สุ แต้มคงคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จำกัด กล่าาว่า

เป้าหมายของการ Collaborate เพื่อจับกลุ่ม Gen Y โดยเฉพาะ ซึ่งหากสามารถเข้าถึงกลุ่มนี้และเป็นกระแสได้ ชื่อของแบรนด์ก็จะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ ทำให้แบรนด์ไม่หายไป และยังสามารถต่อยอดไปทำสินค้าอื่นๆ ได้ด้วย

สำหรับแตกไลน์สินค้าจะเน้นกลุ่มนิชมาร์เก็ตไปเลย ขณะนี้อยู่ในแผน 5 ชนิด ทั้งสินค้าในกลุ่มของอาหาร โดยจะเน้นเพื่อสุขภาพเป็นหลัก เช่นเครื่องดื่มธัญพืช และสินค้าในกลุ่ม FMCG ส่วนชื่อแบรนด์อาจจะใช้คิดคิด หรือ บายคิดคิด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ หรือครึ่งปีหน้าจะต้องเห็นสินค้าออกมาวางขายอย่างน้อย 1 ชนิด

ปีที่ผ่านมา บริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จำกัด มีรายได้ประมาณ 2,800 ล้านบาท ปี 2019 ตั้งเป้า 3,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของรายได้ที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะมาจากการวายขายสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์คิดคิด

ริศร์สุ แต้มคงคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานลูกกวาดเม่งเซ้ง จำกัด