อ่านเกม ”telenor group” ชูภาพพระเอกโทรคมนาคมหนุนเศรษฐกิจโต

ในวันที่ telenor group กำลังเจรจาเพื่อรวมกิจการของ Axiata จากมาเลเซียเพื่อบุกหนักในตลาดเอเชียแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมสัญชาติสแกนดิเนเวียก็ตอกย้ำภาพพระเอกที่ไม่นึกถึงแต่ธุรกิจของบริษัทตัวเอง ด้วยการโชว์ผลการวิจัยที่การันตีว่าเงินลงทุนในเอเชียมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมองค์รวมอย่างยั่งยืน เห็นได้ชัดจากมูลค่าเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องบริการการสื่อสารนั้นเติบโตเกือบเท่าตัว

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ telenor ต้องลุกขึ้นมาย้ำภาพดีงามของตัวเองให้ชัดเจนในตลาดเอเชีย คือสัดส่วนฐานลูกค้าเอเชียที่มีจำนวนมหาศาล ปัจจุบัน telenor group มีผู้ใช้บริการรวมกันกว่า 166 ล้านคนหลังจากปักธงนาน 20 ปีใน 5 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา มาเลเชีย และไทย โดยฐานลูกค้ารวม telenor group ทั้งหมดทั่วโลกนั้นมีเพียง 176 ล้านคนเท่านั้น

จุดนี้ telenor group ย้ำว่าได้ใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะระหว่างปี 2557 ถึง 2560 ที่ตัวเลขลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้ง 5 ประเทศของเทเลนอร์กรุ๊ปพุ่งขึ้นสูงถึง 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เม็ดเงินนี้ทำให้เอเชียเป็นแหล่งรายได้มากกว่า 55% ของรายได้รวมเทเลนอร์โลกราว 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ข้อมูลปี 2561)

โทรคมนาคมเพิ่มโอกาส SME

นอกเหนือจากเงินลงทุน telenor group โชว์จุดยืนมุ่งมั่นในการเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ งานพัฒนาสังคม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของทุกประเทศรวมถึงไทย  

ฮากุน บรัวเซ็ท เชิร์ล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานพันธมิตรและสัมพันธ์องค์กร telenor group Asia กล่าวว่าหน้าที่หลักที่ telenor มองมี 3 ส่วน หนึ่งคือความรับผิดชอบในการทำให้บริการรองรับการใช้งานในระดับโลก สองคือการลงทุนเพื่อให้ผู้ใช้เห็นด้านดีของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และสุดท้ายคือซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อทุกคนร่วมให้และใช้งานข้อมูลผ่านระบบออนไลน์

ทั้งหมดนี้ทำให้ telenor group พยายามบอกโลกว่าแม้เหรียญจะมี 2 ด้าน แต่โทรคมนาคมก็สามารถช่วยให้ SME เข้าถึงตลาดใหม่ได้จริง รวมถึงมีโอกาสมากขึ้นในการส่งออก โอกาสเหล่านี้สามารถวัดได้เป็นรูปธรรมในการศึกษาเรื่อง “The Mobile Effect: How Connectivity Enables Growth” ที่ telenor group ร่วมมือกับบริษัท frontier economics บริษัทวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สัญชาติออสเตรเลีย จนพบว่าบริการทางด้านโทรคมนาคมช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียโดยรวมเติบโตถึง 75%

ทางด้านเจมส์ แอลลัน ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ frontier economics บอกว่าบริการด้านโทรคมนาคมไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่ก่อเกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนสร้างตลาดใหม่ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจมวลรวมของเอเชียเติบโตถึงปีละ 6-12% 

การสำรวจยังพบว่ามูลค่าเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องบริการการสื่อสารเติบโตเกือบเท่าตัว จาก 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็น 7 แสนล้านเหรียญในช่วง 10 ปี (2548-2558) โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดหากบริการโทรคมนาคมมีการพัฒนา คือภาคการเงิน แต่ก็รวมถึงธุรกิจค้าปลีก การศึกษา สาธารณสุขและการขนส่งล้วนได้รับประโยชน์ด้วย เนื่องจากบริการโทรคมนาคมมีอิมแพคสูงมากในสังคม

ประเทศไทยยังไม่เต็มที่

ผู้บริหาร frontier economics ย้ำว่าประเทศไทยยังใช้ศักยภาพโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่ไม่เต็มที่ แม้จะมองว่าไทยมีอันดับในเอเชียที่ดี แต่ถ้าเทียบกับ GVA (Gross Value Added) มาตรฐานไทยกลับมีค่าเฉลี่ยยังไม่สูงนัก แปลว่ารัฐบาลไทยควรจะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้มากขึ้น รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะทำให้ไทยมีศักยภาพการแข่งขันกับประเทศอื่นมากขึ้น

สำหรับ Economic Value Added หรือมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐศาสตร์ที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทยคือราว 68% ตัวเลขนี้อยู่ในเกณฑ์รวมของ Gross Value Added ในตลาดเอเชียที่อยู่ระหว่าง 65-75% แต่ต่ำกว่าปากีสถาน บังกลาเทศ และเมียนมา ที่อยู่ระดับ 70% ขึ้นไป

จุดนี้ telenor group ย้ำว่าสิ่งที่ไทยแตกต่างจากชาติอื่นในเอเชียคือการไร้ Roadmap หรือแผนรายละเอียดการจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาว ประเด็นนี้ telenor group ย้ำว่าถ้าไม่มี Roadmap การวางแผนก็จะไม่ดี ก็จะทำให้การแข่งขันของไทยไม่ดีไปด้วย โดยยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่มีการวางแผนเลยทำให้การบริหารคลื่นความถี่ดีกว่าไทย

ภาคการเงินของมาเลเซียมีการโหมใช้เทคโนโลยีสื่อสารเป็นพื้นฐานในการให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ มากกว่าไทย สำหรับประเทศไทย การสำรวจพบว่าความร้อนแรงอยู่ที่การชำระผ่านช่องทางดิจิทัล หรือ digital payment ที่เติบโตเกือบเท่าตัว จาก 33% ในปี 2557 เป็น 62% ในปี 2560 ขณะที่อัตราการเติบโตของผู้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ mobile wallet เติบโตขึ้นจาก 1% เป็น 8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ด้านภาคการเกษตร การสำรวจพบว่าเกษตรกรไทย 2 หมื่นรายได้รับการอบรม ทำให้เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเพาะปลูกแล้ว คาดว่าจะช่วยกู้วิกฤติ GDP ภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 10% จากอดีตที่มีสัดส่วนสูงถึง 32% ได้ด้วยโครงการดีแทคสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่ดีแทคริเริ่มเพื่อให้บริการข้อมูลทางการเกษตรแก่เกษตรกร

ทั้งหมดนี้ telenor group มั่นใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะบริการโทรคมนาคมเหล่านี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในยุค 5G ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโลกธุรกิจอนาคตอันใกล้.