“สิงห์ เอสเตท” แยก “ธุรกิจโรงแรม” เข้า IPO หวังนำเงินขยายธุรกิจบุกไปทั่วโลก ตั้งเป้าปี 2025 ต้องมี 75 แห่ง

เพื่อสร้างรายได้ให้มั่นคงและลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง “สิงห์เอสเตท” ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้เครือบุญรอดบริวเวอรี่ ที่เพิ่งติดนามสกุลมหาชนได้ 5 ปี จึงแยกธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลักเพื่อทำให้รายได้มาจากทั้งการขาย และแบบต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า Recurring Income ในสัดส่วน 50 : 50

ในส่วนแรกรายได้จากการขายมาจาก “ธุรกิจที่พักอาศัย” ทั้งภายใต้การดูแลของสิงห์เอสเตทเอง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีการโอนอีกมูลค่า 5,000 ล้านบาท และเนอวานาไดอิ จำกัด (มหาชน)

ส่วนที่สอง “ธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก” โดยมี 2 โครงการหลัก คือ สิงห์คอมเพล็กซ์ อัตราการเช่า 90% และซันทาวเวอร์สที่ถูกโยกเข้ากองทรัสต์ SPRIME เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปี 2019

ส่วนสุดท้าย “ธุรกิจโรงแรม” ที่เริ่มต้นด้วยการซื้อ 2 โรงแรมในปี 2014 นำมาบริหารเอง คือ พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท และ สันติบุรี เกาะสมุย มีจำนวนห้องร่วม 227 ห้อง ก่อนจะซื้อเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งโรงแรมในสหราชอาณาจักร จำนวน 29 แห่ง ดำเนินงานภายใต้แบรนด์ Mercure และแบรนด์ Holiday Inn

โรงแรม Outrigger ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมจำนวน 6 แห่งที่ดำเนินกิจการภายใต้แบรนด์ Outrigger และโครงการครอสโรดส์ (CROSSROADS) เฟส 1 ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการบนเกาะจำนวน 3 เกาะ 3 โรงแรมโดยหนึ่งในนั้นเป็นการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆภายใต้ชื่อ SAii เน้นจับกลุ่มลูกค้ากลางค่อนไประดับบน (Upper Mid-scale)

วันนี้รวมๆ แล้ว “สิงห์เอสเตท” มีโรงแรมทั้งหมด 39 แห่ง กระจายอยู่ใน 5 ประเทศ 3 ภูมิภาค ประกอบด้วยในยุโรปที่สหราชอาณาจักร และในเอเซียแปซิฟิกคือไทยมัลดีฟส์และฟิจิ และในแอฟริกาคือมอริเชียส มีอัตราการเข้าพักตั้งแต่ 70 – 80% โดยในปี 2018 มีรายได้ราว 3,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ในภาพรวม

นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิงห์เอสเตทมีจุดมุ่งหมายที่จะนำบริษัทก้าวสู่การเป็น “โกลบอล โฮลดิ้ง คัมปานี” (Global Holding Company) ผ่านกลยุทธ์การขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศการสร้างแบรนด์ในระดับพรีเมียม

ที่ผ่านมาสิงห์เอสเตทดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2014 โดยเริ่มจากมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 9,000 ล้าน ปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 ล้าน (โตเกือบ 700%) และคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ถึง 2 หมื่นล้านภายในปี 2019 เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ตอนแรกในปี 2020

ทั้งนี้ “นริศ” มองว่าธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ UNWTO พบว่าปี 2018 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 1.4 พันล้านคน เติบโตจากปี 2017 ประมาณ 6% โดยภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง

โดยมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 343 ล้านคน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตถึง 7% นอกจากนั้น UNWTO ยังคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวโลกจะยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะเอเชียที่ปี 2019 คาดว่าจะเติบโต 5 – 6%

ด้วยเหตุนี้สิงห์เอสเตทจึงต้องการขยายธุรกิจโรงแรมขึ้นไปอีก แต่หากยังอยู่ภายใต้บริษัทเดิมการเติบโตอาจจะไม่เร็วมากนัก ด้วยเหตุนี้จึงได้วางแผนนำธุรกิจโรงแรมเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้ชื่อ “เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท”

ขณะนี้ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว

หากเป็นไปตามแผนคาดเปิดให้ซื้อขายภายในสิ้นปีนี้ ในจำนวนหุ้นไม่เกิน 40% ของทุนจดทะเบียน 17,000 ล้านบาท ชำระแล้ว 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดวงเงินที่คาดว่าจะได้จากการ IPO

หลังจากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว “สิงห์เอสเตท” ได้ตั้งเป้าขยายโรงแรมเป็น 75 แห่งภายในปี 2025 ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งซื้อและเข้าไปบริหารด้วยตนเอง รับบริหารและซื้อแบรนด์อื่นมาบริหาร (Franchise) หรือร่วมทุน (joint venture)

เดิร์ก เดอไคย์เปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจัยในการพิจารณาเลือกลงทุนในโครงการหนึ่งๆ จะมีทั้งโครงการนั้นอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพหรือไม่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง

โดยจะเน้นใกล้ชายหาดเป็นหลักซึ่งสามารถพัฒนาแบบ Greenfield หรือพัฒนาแบบ Brownfield ในขยาย 100 – 200 ห้องกำลังดี

“เราจะเน้นทำโรงแรมในระดับ 4 – 5 ดาว เพราะอยู่ในช่วงที่สามารถทำกำไรได้ดี อย่างในอังกฤษจะอยู่ราว 4 – 5% ซึ่งถือว่าดีมากแล้วส่วนโรงแรม 6 ดาวคงไม่คำด้วยไม่คุ้มที่จะลงทุนใช้เวลาคืนทุนนานกว่า”