“สิงห์ เอสเตท” เนรมิตสวรรค์กลางทะเล “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” รีสอร์ตครบวงจรตอบโจทย์ตลาดหรู-กลุ่มไมซ์

ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์
โซ/ มัลดีฟส์ (SO/ Maldives)
  • “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” รีสอร์ตกลางทะเลสีครามของ “สิงห์ เอสเตท” ได้ฤกษ์เปิดตัวโรงแรมแห่งที่ 3 โซ/ มัลดีฟส์ ที่จะเข้ามาต่อจิ๊กซอว์ให้โครงการครบเครื่อง ดึงตลาดหรูได้ครบทุกเซ็กเมนต์
  • ดันพื้นที่ “เดอะมาริน่า” ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม “ไมซ์” ด้วยอีเวนต์ฮอลล์ขนาดใหญ่ใกล้สนามบิน
  • ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลรอบรีสอร์ตอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ฯ OECMs

โครงการ “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” เมกะโปรเจ็กต์ภายใต้การพัฒนาของ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์​ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ในเครือ บมจ.สิงห์ เอสเตท เริ่มเปิดสู่สายตานักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2562 ประเดิมด้วยโรงแรม 2 แห่งที่เปิดบริการก่อน คือ “ฮาร์ดร็อค โฮเทล มัลดีฟส์” จำนวน 178 ห้อง และ “ทราย ลากูน มัลดีฟส์” จำนวน 198 ห้อง รวมถึงพื้นที่ “เดอะมาริน่า” บริการท่าจอดเรือยอชต์ และเป็นพื้นที่รีเทลที่ตั้งร้านอาหาร สปา ร้านขายสินค้า ฯลฯ มากกว่า 20 ร้าน

ล่าสุดโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ เริ่มเปิดบริการโรงแรมใหม่ในอาณาจักร คือ “โซ/ มัลดีฟส์” จำนวนห้องพัก 80 ห้อง ใช้เงินลงทุนมูลค่ากว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยรีสอร์ตแห่งนี้ SHR มีการร่วมทุนกับบริษัท Wai Eco World Developer (WEWD) ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือตระกูล Wai ที่ทำธุรกิจด้านอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมา ร่วมกันพัฒนาเป็นรีสอร์ตระดับไฮเอนด์ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Island Couture”

ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์
บรรยากาศในห้องพักแบบ Overwater Villa ที่ โซ/ มัลดีฟส์

“ไมเคิล มาร์แชล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SHR เปิดเผยว่า โรงแรม “โซ/ มัลดีฟส์” ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้ทั้งโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ครบครอบคลุมนักท่องเที่ยวทุกเซ็กเมนต์และความต้องการมากขึ้น เพราะโรงแรมทั้ง 3 แห่งในโครงการมีคอนเซ็ปต์และระดับราคาแตกต่างกัน ช่วยให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวระดับบนได้หลากหลาย ดังนี้

  • ทราย ลากูน มัลดีฟส์ – พักผ่อนในบรรยากาศสงบ สบาย เหมาะกับกลุ่มครอบครัว ราคาห้องพักเฉลี่ย 500-600 เหรียญสหรัฐต่อคืน
  • ฮาร์ดร็อค โฮเทล มัลดีฟส์ – สนุกไปกับบรรยากาศคึกคัก แสงสี ดนตรี และปาร์ตี้ในสไตล์ฮาร์ดร็อค ราคาห้องพักเฉลี่ย 600-700 เหรียญสหรัฐต่อคืน
  • โซ/ มัลดีฟส์ – ออกแบบเพื่อสาวกแฟชั่น ให้ทุกวันคือรันเวย์ เก๋และมีสไตล์ เหมาะกับคู่รัก ราคาห้องพักเฉลี่ย 850-900 เหรียญสหรัฐต่อคืน
ทราย ลากูน มัลดีฟส์
ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์
ห้องพักแบบ Overwater Villa ในฮาร์ดร็อค โฮเทล มัลดีฟส์

โดยก่อนหน้านี้โรงแรมทราย ลากูน มัลดีฟส์และฮาร์ดร็อค โฮเทล มัลดีฟส์ ถือว่าสร้างผลประกอบการในระดับที่น่าพอใจ เมื่อปี 2566 มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 85-95% ในหน้าไฮซีซัน (กันยายน-เมษายน) และเฉลี่ย 60% ในหน้าโลว์ซีซัน (พฤษภาคม-สิงหาคม)

ขณะที่โซ/ มัลดีฟส์ ไมเคิลเชื่อว่าจะเข้ามายกระดับให้ทั้งโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น จากการออกแบบและสร้างแบรนด์ที่ช่วยยกระดับราคาขึ้นไปสู่ระดับลักชัวรี ราคาห้องของโซ/ มัลดีฟส์จะช่วยดันให้อัตราค่าห้องพักรายวันเฉลี่ย (ADR) ของทั้งโครงการรวมกันเติบโตขึ้น 15-20% และส่งผลให้รายได้จาก “มัลดีฟส์” สูงขึ้น คาดจะคิดเป็นสัดส่วน 35% ในรายได้รวมของ SHR ปี 2567

 

เจาะตลาดบลูโอเชียนกลุ่ม “ไมซ์” ชูอีเวนต์ฮอลล์ใหญ่ใกล้สนามบิน

อีกส่วนที่ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ต้องการสร้างฐานให้แน่นขึ้น คือการเจาะตลาด “ไมซ์” (ธุรกิจสัมมนา, ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล, งานประชุม และอีเวนต์) ซึ่งถือว่าเป็น “บลูโอเชียน” ของมัลดีฟส์ เนื่องจากมีความต้องการโดยเฉพาะในตลาดงานแต่งงานและประชุมบริษัท แต่ในมัลดีฟส์มีสถานที่ที่รองรับได้ไม่มากนักและ “ทำเล” มีบทบาทสูงในการตัดสินใจ

พื้นที่เดอะมาริน่า

ที่ตั้งของครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์นั้นอยู่ในพื้นที่หมู่เกาะคาฟุ (Kaafu Atoll) และเอ็มบูดู ลากูน (Emboodhoo Lagoon) ซึ่งอยู่ห่างจากมาเล่ เมืองหลวงของมัลดีฟส์และที่ตั้งสนามบินไม่มาก ใช้เวลาโดยสารเรือสปีดโบ๊ทเพียง 15 นาที ทำให้ในกรณีที่จะจัดอีเวนต์รวมคนจำนวนมาก ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์จะได้เปรียบกว่ารีสอร์ตที่ต้องนั่งเรือไปไกลหรือต้องนั่งเครื่องบินทะเล (sea plane) ออกไป

เหตุนี้บนพื้นที่ “เดอะมาริน่า” บริษัทจึงออกแบบให้มีอีเวนต์ฮอลล์ จุคนได้สูงสุด 400 คน เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มไมซ์โดยเฉพาะ

อีเวนต์ฮอลล์ ในเดอะมาริน่า

นอกจากนี้ ไมเคิลกล่าวว่าปีนี้จะมีการโปรโมตเดอะมาริน่ามากขึ้น เป้าหมายต้องการให้เป็นที่นิยมในกลุ่มแล่นเรือยอชต์ และเป็นจุดแวะของลูกค้าที่อาจจะไม่ได้พักในรีสอร์ตบนครอสโร้ดส์ แต่ต้องการแวะมาทานอาหารระหว่างทางไปหรือออกจากสนามบิน

 

อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล วางเป้าเป็น OECMs

ความท้าทายอีกประการในการพัฒนาครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คือ พื้นที่สัมปทานทั้งหมดที่ SHR ได้รับนั้นเป็นการสร้างเกาะแบบ ‘man-made’

สิ่งนี้หมายถึง SHR จะมีอิสระการออกแบบเนรมิตเกาะ แต่ส่วนที่ยากคือต้องรักษาและฟื้นฟูเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของธรรมชาติให้คงอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาถึงมัลดีฟส์ไม่ได้ต้องการจะอยู่แต่ในรีสอร์ตสวยๆ เท่านั้น แต่พวกเขาต้องการผจญภัยชมความงามของโลกใต้ทะเล ได้สัมผัสประสบการณ์จากธรรมชาติด้วยเช่นกัน

ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและลองฟื้นฟูปะการังด้วยตนเอง

โจทย์ข้อนี้ทำให้ SHR มีการแต่งตั้งทีมพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลให้เข้ามาศึกษาและวางแผนการฟื้นฟูปะการังและสัตว์น้ำตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มสร้างเกาะขึ้น ประจำการทั้งในพื้นที่ที่มัลดีฟส์และวิจัยข้อมูลจากในไทย

ปัจจุบันทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลยังคงประจำอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลบนเดอะมาริน่า ดูแลฟื้นฟูปะการังให้กลับมามีชีวิต 479 ตารางเมตรเมื่อปี 2559 ล่าสุดเพิ่มมาเป็น 8,011 ตารางเมตรเมื่อปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 16 เท่าในเวลา 7 ปี กลายเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำตามธรรมชาติทั้งฉลาม เต่าทะเล และปลาสารพัดพันธุ์

แนวปะการังรอบรีสอร์ตที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

ไมเคิลกล่าวว่า ความพยายามเหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์เป็น “พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง” หรือ OECMs ที่ได้รับการรับรอง ความหมายคือเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพหรือระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

โดยทาง SHR ได้เซ็นบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ของมัลดีฟส์ ไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ตั้งเป้าที่จะรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในพื้นที่ 3.15 ตารางกิโลเมตรจากทั้งหมด 10 ตารางกิโลเมตรของโครงการครอสโร้ดส์ให้งดงามยั่งยืน

 

ลุ้นแผนขยายสนามบินของ “มัลดีฟส์” ดันการท่องเที่ยว

ด้านภาพรวมการท่องเที่ยวมัลดีฟส์ ไมเคิลกล่าวว่า มัลดีฟส์ถือว่ามีความแข็งแกร่งในระดับโลก มักจะติด ‘Top 10’ สถานที่ท่องเที่ยวในฝันของคนทั่วโลก เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวกลางทะเลยอดฮิตเคียงคู่กับบรรดาเกาะในทะเลแคริบเบียน ทะเลเมดิเตอเรเนียน และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรอินเดีย

ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์
บรรยากาศริมสระว่ายน้ำที่ โซ/ มัลดีฟส์

กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ จะเป็นนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย สหราชอาณาจักร อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง รวมถึงระยะหลังเริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวจากอีกฟากโลกอย่าง บราซิล และ สหรัฐอเมริกา เข้ามาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของมัลดีฟส์คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง “สนามบินนานาชาติ” ให้รองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวได้ จากปัจจุบันสนามบินแห่งชาติเวเลน่าสามารถรองรับได้เพียง 1-2 ล้านคนต่อปี ทำให้รัฐบาลมัลดีฟส์อยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนต่อขยายเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 7.5 ล้านคนต่อปี

ไมเคิลกล่าวถึงโครงการขยายสนามบินนี้ว่า เป็นโครงการที่ธุรกิจโรงแรมในมัลดีฟส์ต่างต้องการเป็นอย่างยิ่ง และคาดว่ารัฐบาลจะเร่งก่อสร้างเพื่อให้เปิดใช้ได้ภายในสิ้นปี 2567

โครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์นั้นยังมีพื้นที่ให้ขยายได้อีกมาก ไมเคิลระบุว่าพื้นที่สัมปทานที่ได้รับมีการสร้างเกาะไว้ทั้งหมด 9 เกาะ ปัจจุบันใช้ไปเพียง 3 เกาะเท่านั้น ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างวางแผนพัฒนาในอนาคต จะก่อสร้างเพิ่มตามจังหวะการเติบโตของการท่องเที่ยวในมัลดีฟส์ แต่ในปีนี้บริษัทจะมีการรีโนเวตและกลับมาให้บริการโรงแรมของ SHR บนเกาะโคนอตตา ทางใต้ของประเทศมัลดีฟส์อีกครั้ง