จุดจบของทุนนิยม

บางคนเรียกวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐอเมริกาที่กำลังลุกลาม ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องล่มสลายลง ว่าเป็น “สึนามิการเงิน” เพราะไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ต้องเจอพิษสงกับวิกฤตครั้งนี้ แต่ยังลุกลามไปยังสถาบันการเงินในยุโรปและเอเชีย ต้องล้มไม่เป็นท่า ทำเอารัฐบาลของชาติต่างๆ ต้องวิ่งวุ่นหาเงินอัดฉีดเงินเพื่อพยุงสถานการณ์เอาไว้

สถาบันการเงินแต่ละรายที่เจอปัญหาก็ไม่ธรรมดา ล้วนแต่เป็นระดับบิ๊กที่มั่นคงเอามากๆ อย่าง เลแมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วย AIG บริษัทประกันวินาศภัยยักษ์ใหญ่ รวมถึงการล้มของธนาคารฟอร์ติส แบงก์ใหญ่จากยุโรป ทำเอาเมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย ที่มีฟอร์ติสถือหุ้นอยู่ ต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน หลังจากที่บริษัท เอไอเอ ประกันชีวิตอันดับ 1 ของไทย ต้องเจอพิษสงจากบริษัทแม่ AIG ที่เจอวิกฤตการเงินจนต้องพึ่งพาเงินจากเฟดมาช่วยกู้สถานการณ์

ใช่แต่สถาบันการเงินเท่านั้นที่ล้มลงราวกับโดมิโน ยังลุกลามไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกต้องตกอยู่ในภาวะถล่มทลายจนต้องสั่งปิดทำการแบบกะทันหัน กลายเป็นหายนะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

วิกฤตการณ์ครั้งนี้ สะท้อนชัดเจนถึงความล้มเหลวของระบอบทุนนิยม ที่มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา ต้นตอของระบอบทุนนิยมเสรี ที่ได้สร้างนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น กรณีหุ้นกู้ CDS ที่เป็นหนึ่งในปัญหาวิกฤตครั้งนี้ มาจากการสร้างกลไกระบบเงินทุนที่ไม่เป็นจริง จนกลายเป็นต้นตอของวิกฤตการณ์รอบนี้

จะว่าไปแล้ว ประเทศไทยยังไม่เจ็บหนักเหมือนกับบางประเทศ อย่าง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายธุรกิจเข็ดหลาบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การกู้เงินนอกมาลงทุนมีไม่มาก ปัญหาทางการเมือง และการตรวจสอบปัญหาการคอรัปชั่นเป็นไปอย่างเข้มข้น การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ประเภทเมกะโปรเจกต์มีไม่มาก

แต่ในไม่ช้าไทยก็คงหนีไม่พ้นกับวิกฤตรอบนี้ เอาแค่ตลาดหุ้นไทยเวลานี้ก็เริ่มย่ำแย่แล้ว ลูกค้าผู้เอาประกันชีวิตเองก็ขาดความเชื่อมั่น สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มหนาวๆ ร้อนๆ อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องพึ่งเงินทุนจากนอกก็ต้องเริ่มควานหาแหล่งทุนใหม่ ธุรกิจส่งออกต้องเจอศึกหนักแน่ เพราะหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าเจอพิษวิกฤตกันเป็นแถว หากไม่รับมือให้ดี งานนี้มีสิทธิ์ย่ำแย่ไปตามๆ กัน

นี่คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้กับประชาชน หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ใช้ชีวิตอยู่บนความเป็นจริง ไม่ลงทุนเกินตัว หรือเกินความเป็นจริง อยู่บนพื้นฐานหรือหลักความเป็นจริงของเงินทุน มาเป็นแนวทางในการนำพาประเทศให้พ้นภัยจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

POSITIONING ฉบับนี้ จะพาไปค้นหาคำตอบกับที่มาของวิกฤตการเงินสหรัฐฯ และผลกระทบทุกแง่มุม ตามดูชีวิตผู้บริหารเลแมนฯ ในไทยว่าเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร และธุรกิจประกันชีวิตของไทยที่ได้รับผลกระทบกับวิกฤตครั้งนี้ไปเต็มๆ พวกเขาจะมีวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร เราเชื่อว่า เป็นสกู๊ปอีกชิ้นที่ผู้อ่านพลาดไม่ได้