ปี 2018 ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Nielsen ได้ระบุว่า “ตลาดน้ำผลไม้” มีมูลค่า 11,279 ล้านบาท ลดลงถึง 11% เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร และตลาดเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากภาษีความหวานในเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มรุนแรงมากขึ้นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
แต่นั้นไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด! แท้จริงแล้ว “ผลไม้สด” ในเมืองไทยไม่ได้หายาก จึงเป็นเหตุผลที่ผู้บริโภคมองว่า “กินน้ำผลไม้ได้อะไร?” สู้กินสดๆ ไม่ดีกว่าเหรอ อีกทั้งยังไม่ได้มีคุณสมบัติที่เด่นชัด ตัวอย่างเช่น “กาแฟ” กินแล้วได้กาเฟอีนช่วยให้สดชื่นทันที
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโจทย์หลักที่ “ทิปโก้” ซึ่งระบุว่าเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่ง 30% ในตลาดน้ำผลไม้ 100% หรือเซ็กเมนต์พรีเมียมมูลค่า 4,500 ล้านบาท ต้องเร่งแก้ไขจึงเป็นที่มาของการปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ในรอบ 10 ปี
เริ่มต้นด้วย 2 รสชาติน้ำส้มและน้ำสับปะรดพันธุ์หอมสุวรรณ ซึ่งเป็นพันธ์ุที่ทิปโก้พัฒนาขึ้นมาเอง เดิมขายเป็นลูกในซูเปอร์มาร์เก็ตและส่งออกเป็นหลัก
เอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า
“ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่ากินน้ำผลไม้เพื่ออะไร สดชื่นหรือคุณประโยชน์ กลายเป็นความท้าทายของทิปโก้ที่ต้องทำให้ชัดเจน ขณะเดียวกันมีความกังวลเรื่องน้ำตาล แต่น้ำผลไม้ 100% ปรกติไม่ได้ใส่อยู่แล้ว จึงต้องค้นหาสายพันธ์ุที่ให้ทั้งคุณประโยชน์และน้ำตาลน้อยด้วย”
ขณะเดียวกันเทรนด์การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรง ทิปโก้จึงสนใจที่จะลงมาเล่นในตลาดนี้ด้วย ผ่านการนำสินค้า “เครื่องดื่มไฮโปรตีน” กลับมาขายอีกครั้ง โดยเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วได้ทดลองวางขายเครื่องดื่มไฮโปรตีน “ทิปโก้บีท” (Tipco Beat) สกัดจากถั่วพีสีเหลืองจากประเทศแคนาดา ราคา 35 บาท ขายในร้านสะดวกซื้อ
ผลปรากฏว่าทำยอดขายไม่ดีเท่าที่ควร? “เอกพล” ยอมรับว่าความผิดพลาดเกิดจากวางตลาดเร็วเกินไป ในวันนั้นพฤติกรรมของผู้บริโภคในเรื่องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไม่ได้เด่นชัดมากนัก แต่วันนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สังเกตได้จากงานวิ่งที่ทิปโก้จัดเองปีแรกยังมีคนมาราว 1,500 คน คาดปีนี้จะมีกว่า 4,500 คน แสดงว่าคนให้ความสนใจมากขึ้น ส่วนการวางขายเครื่องดื่มไฮโปรตีนจะเกิดขึ้นภายในปีนี้
นอกจากเครื่องดื่มแล้วทิปโก้ได้สนใจเรื่อง “อาหารสุขภาพ” อีกด้วย ปัจจุบันคนสนใจกินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นและกินแทบทุกมื้อ ต่างจากเมื่อก่อนจะกินแค่บ้างมื้อเท่านั้น
เมื่อ 1 ปีก่อนจึงได้เปิดร้าน “August Organic Eatery” เน้นขายอาหารออร์แกนิกและอาหารคลีนในราคาเฉลี่ย 120 – 150 บาทต่อจาน ปัจจุบันมี 3 สาขาที่เมกาบางนา, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3 และเซ็นทรัลเวิลด์
การทำร้านอาหารยังถือเป็นช่วงทดลองเพราะยังมีโจทย์ยากเรื่องฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มไม่ได้แมส อีกทั้งราคาที่แพงกว่า 20 – 30% จึงต้องค่อยๆ ปรับกันไป
ในส่วนของรีเทลยังมีร้านเครื่องดื่ม Squeeze Juice Bar by Tipco ขณะนี้มีทั้งหมด 40 สาขา โดยทิปโก้วางแผนเพิ่มฟอร์แมตร้านใหม่ๆ เน้นขยายไปในโรงพยาบาล ซึ่งสาขาที่มีแล้วขายดีเป็นอย่างมาก และยังเตรียมเพิ่มเมนูอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์หลายๆ ธุรกิจ ฟากทิปโก้ได้เตรียมรับมือผ่านการค้นหาสตาร์ทอัพเพื่อเข้ามาช่วยธุรกิจ เช่น การสกัดสารสำคัญ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง และอาหาร
โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยลดโรคที่ไม่ติดต่อร้ายแรง เช่น เบาหวาน ความดัน ขณะนี้ได้ทำอาหารมาทดลองกับพนักงานบ้างแล้ว
การทำธุรกิจของทิปโก้วันนี้ต้องมองกลับด้าน ด้วยคนรู้จักน้ำผลไม้และน้ำแร่ออร่าดีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อคือถามว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วค่อยออกสินค้าเข้าไปอุด
ความร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นอีกแนวทางในการแสวงหาธุรกิจใหม่ จะมีทั้งการเข้าไปเป็นลูกค้า หรือเข้าไปถือหุ้น 10 – 20% ตอนนี้มีคุยแล้วหลายรายทั้งในและต่างประเทศ
ภาพรวมของ “ทิปโก้” ในปีที่ผ่านมามีรายได้ 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องดื่ม 2,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 1,400 – 1,500 ล้านบาท เป็นน้ำผลไม้ ที่เหลือ 500 – 600 ล้านบาท เป็นน้ำแร่ออร่า อีก 1,700 ล้านบาท เป็นสับปะรดกระป๋องที่เหลือ 800 ล้านบาท มาจากธุรกิจอื่นๆ ปี 2019 ตั้งเป้าโต 4-5%