ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาของ “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” คือการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในองค์กร จนนำไปสู่การแบ่งธุรกิจออกเป็น 6 เสาหลัก ได้แก่
1.ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 2.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 3.ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4.อสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท 5.ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน และ 6.ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส
สำหรับ “ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส”(Food Factors) ถือเป็นเสาใหม่ ที่เกิดจาการปรับโครงสร้าง รวบรวมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “อาหาร” ที่ยังกระจัดกระจายมาอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ เพื่อให้มีความแข็งแรงและเดินไปในทิศทางเดียวกัน
“ธุรกิจอาหารไทย” นอกจากจะเป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่องแล้ว “อาหาร” ยังเป็นวัฒนธรรมที่ซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน ที่สำคัญ “อาหารไทย” มีอิทธิพลอย่างมากในเวทีโลก ดังนั้นผู้ที่จะมาดูแล “ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส” จึงต้องมีความเข้าใจในอาหารอย่างลึกซึ้ง หน้าที่นี้จึงตกเป็นของ “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ที่มี Passion ความรัก และความหลงใหลในอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
หากสิ่งนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายอยู่ไม่น้อย เพราะโจทย์ที่ “ปิติ” ได้รับคือการทำให้ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต “Take off” ให้ได้ภายใน 3 ปี
คำถามที่ตามมาคือจะ “Take off” ในรูปแบบไหน ? เป็นไปได้ไหมที่ซื้อกิจการอื่นด้วยดีลหมื่นล้าน “ปิติ” บอกว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ แต่ตัวเองยังไม่พร้อม ยังมีข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ดังนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดปีครึ่งที่เข้ามาบริหาร จึงเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมธุรกิจที่แข็งแรงเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งที่ไม่จำเป็นตัดทิ้งไป
ปัจจุบันปรับไปได้ 95% โดย บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ที่ครอบคลุมธุรกิจอาหาร “ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึง ปลายน้ำ” คือ
1.Food Retails หรือธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้การดูแลของ บริษัท เอสคอมพานี จำกัด ประกอบด้วย ร้าน Est.33 , ร้าน Farm Design และร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji
2.Product & Production ซึ่งมีหลายบริษัทอยู่ในส่วนนี้ ได้แก่ ‘บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด’ และ ‘บริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัด’ รับผิดชอบพัฒนาและผลิตโปรดักท์ออกสู่ตลาด ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C โดยมีลูกค้าเป็นแบรนด์ชั้นนำมากมาย อาทิ Made By TODD , Minor Food , King Power , Sodexo , ALDI,
และ “บริษัท ข้าวพันดี จำกัด” จำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวพันดี และโปรดักท์ที่ทำมาจากข้าว เช่น ข้าวนึ่งเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
ไม่ใช่แค่นั้นยังมีการตั้ง “Food Innovation Center” ศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและละพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในหมวดหมู่สินค้าใหม่ๆ เช่น สินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to eat : RTE) อาหารพร้อมปรุง (Ready to cook : RTC)
โดยมีเทคโนโลยีเครื่องมือที่ถูกออกแบบเฉพาะ พร้อมทีมงานมืออาชีพที่สามารถรองรับลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ
รวมไปถึงในอนาคตวางแผนจะสร้าง “Food Valley” นิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่ได้รับความร่วมมือกันระหว่าง สิงห์คอร์เปอเรชั่น, สถาบันอาหาร, SME BANK และ สสว.บนพื้นที่รวมประมาณกว่า 2,000 ไร่ ในจังหวัดอ่างทอง
ทั้งหมดนี้คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 5,000-8,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต
การเข้ามาดูแล ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ให้ความสำคัญกับการเติบโตเป็นหลัก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คือการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการตั้ง บริษัท เอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด โดยจะเข้ามาเนินธุรกิจทางด้านดิจิทัล และการใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้าให้ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ขณะเดียวกันหนึ่งในหัวใจที่จะทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สามารถเติบโตอย่างแข็งเกร่งอยู่ที่ “ระบบโลจิสติกส์” ดังนั้นนอกจากดูแลฟู้ดแฟ็คเตอร์ส “ปิติ” จึงรับอีกหน้าที่ในการดูแล บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติสติคส์ จำกัด ภายใต้ชื่อ BevChain Logitics ให้บริการทางด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า และด้านการจัดส่งสินค้า
แม้วันนี้ “ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส” จะยังมีรายได้ราว 400 – 500 ล้านบาท แต่ “ปิติ” เชื่อว่าภายใน 3 ปีรายได้จะก้าวกระโดดสู่หลัก 5,000 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิ 8-15% ได้ไม่ยาก
หลังจากนั้นคาดหวังมุ่งทะยานสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท ก่อนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นอีก 1 เสาหลักที่เข้ามาเสริมแกร่งธุรกิจของ “สิงห์” ต่อไป