ผ่า Vision “ปิติ ภิรมย์ภักดี” กับภารกิจปั้น “Food Factors” เสาหลักที่ 6 ของ “สิงห์”

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาของ  “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดคือการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในองค์กร จนนำไปสู่การแบ่งธุรกิจออกเป็น 6 เสาหลัก ได้แก่

1.ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 2.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 3.ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 4.อสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์เอสเตท 5.ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน และ 6.ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส

สำหรับ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส”(Food Factors) ถือเป็นเสาใหม่ ที่เกิดจาการปรับโครงสร้าง รวบรวมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ยังกระจัดกระจายมาอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ เพื่อให้มีความแข็งแรงและเดินไปในทิศทางเดียวกัน

“ธุรกิจอาหารไทย” นอกจากจะเป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่องแล้วอาหารยังเป็นวัฒนธรรมที่ซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน ที่สำคัญอาหารไทย มีอิทธิพลอย่างมากในเวทีโลก ดังนั้นผู้ที่จะมาดูแลฟู้ด แฟ็คเตอร์สจึงต้องมีความเข้าใจในอาหารอย่างลึกซึ้ง หน้าที่นี้จึงตกเป็นของปิติ ภิรมย์ภักดีที่มี Passion ความรัก และความหลงใหลในอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

หากสิ่งนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายอยู่ไม่น้อย เพราะโจทย์ที่ปิติได้รับคือการทำให้ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต “Take off” ให้ได้ภายใน 3 ปี

คำถามที่ตามมาคือจะ “Take off” ในรูปแบบไหน ? เป็นไปได้ไหมที่ซื้อกิจการอื่นด้วยดีลหมื่นล้านปิติ บอกว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ แต่ตัวเองยังไม่พร้อม ยังมีข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ดังนั้นสิ่งที่ทำมาตลอดปีครึ่งที่เข้ามาบริหาร จึงเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมธุรกิจที่แข็งแรงเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งที่ไม่จำเป็นตัดทิ้งไป

ปัจจุบันปรับไปได้ 95% โดย บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ที่ครอบคลุมธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึง ปลายน้ำคือ

1.Food Retails หรือธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้การดูแลของ บริษัท เอสคอมพานี จำกัด ประกอบด้วย ร้าน Est.33 , ร้าน Farm Design และร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji

2.Product & Production ซึ่งมีหลายบริษัทอยู่ในส่วนนี้ ได้แก่บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัดและบริษัท เฮสโก ฟู้ด จำกัดรับผิดชอบพัฒนาและผลิตโปรดักท์ออกสู่ตลาด ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C โดยมีลูกค้าเป็นแบรนด์ชั้นนำมากมาย อาทิ Made By TODD , Minor Food , King Power , Sodexo , ALDI,

และบริษัท ข้าวพันดี จำกัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวพันดี และโปรดักท์ที่ทำมาจากข้าว เช่น ข้าวนึ่งเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

ไม่ใช่แค่นั้นยังมีการตั้ง “Food Innovation Center” ศูนย์นวัตกรรมในการวิจัยและละพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในหมวดหมู่สินค้าใหม่ๆ เช่น สินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to eat : RTE) อาหารพร้อมปรุง (Ready to cook : RTC) 

โดยมีเทคโนโลยีเครื่องมือที่ถูกออกแบบเฉพาะ พร้อมทีมงานมืออาชีพที่สามารถรองรับลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ

รวมไปถึงในอนาคตวางแผนจะสร้าง “Food Valley” นิคมอุตสาหกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับความร่วมมือกันระหว่าง สิงห์คอร์เปอเรชั่น, สถาบันอาหาร, SME BANK และ สสว.บนพื้นที่รวมประมาณกว่า 2,000 ไร่ ในจังหวัดอ่างทอง

ทั้งหมดนี้คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า  5,000-8,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

การเข้ามาดูแล ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ให้ความสำคัญกับการเติบโตเป็นหลัก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คือการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการตั้ง บริษัท เอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด โดยจะเข้ามาเนินธุรกิจทางด้านดิจิทัล และการใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงสินค้าให้ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ขณะเดียวกันหนึ่งในหัวใจที่จะทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สามารถเติบโตอย่างแข็งเกร่งอยู่ที่ “ระบบโลจิสติกส์” ดังนั้นนอกจากดูแลฟู้ดแฟ็คเตอร์สปิติจึงรับอีกหน้าที่ในการดูแล บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติสติคส์ จำกัด ภายใต้ชื่อ BevChain Logitics ให้บริการทางด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า และด้านการจัดส่งสินค้า

แม้วันนี้ฟู้ด แฟ็คเตอร์สจะยังมีรายได้ราว 400 – 500 ล้านบาท แต่ปิติเชื่อว่าภายใน 3 ปีรายได้จะก้าวกระโดดสู่หลัก 5,000 ล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิ 8-15% ได้ไม่ยาก

หลังจากนั้นคาดหวังมุ่งทะยานสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท ก่อนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นอีก 1 เสาหลักที่เข้ามาเสริมแกร่งธุรกิจของ “สิงห์ต่อไป