“เอสซีจี” เปิดแผนเด็ด เดินหน้ากลยุทธ์ด้านดิจิทัลสตาร์ทอัพ หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น


ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว SCG ได้ขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์โดยเฉพาะการเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  เพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ดีและเร็วขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ผ่านแผนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการเปิดรับนวัตกรรมภายนอก โดยบริษัทร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ “AddVentures by SCG” และการพัฒนาสตาร์ทอัพภายในองค์กร โดยสตาร์ทอัพสตูดิโอ “ZERO TO ONE by SCG”  ขณะเดียวกันการมุ่งเน้นด้าน Data Analytics ซึ่งจะช่วยทำให้การทำงานภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้นด้วย เพื่อขับเคลื่อน SCG สู่เป้าหมายของการเป็น Data Driven Organization

ดร.จาชชัว แพส SCG Corporate Innovation Director และ Managing Director of AddVentures by SCG กล่าวว่า “เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ลูกค้าเปลี่ยน SCG ต้องไม่หยุดนิ่ง นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) ซึ่ง SCG ดำเนินการมาโดยตลอดแล้ว เรายังมุ่งทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเน้นการพัฒนาและสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ ซึ่งมีศักยภาพในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้เอสซีจีสามารถสร้างโซลูชั่นสินค้าและบริการให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้องค์กรได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น

เปิดรับความร่วมมือจากภายนอก หา New Growth Engine ให้กับองค์กร

เพื่อให้ Digital Transformation เป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น SCG จึงให้ความสำคัญกับการเปิดรับนวัตกรรมจากภายนอก (Open Innovation) โดยมี AddVentures by SCG  ซึ่งเป็น Corporate Venture        Capital   (CVC)  ทำหน้าที่เสริมศักยภาพและร่วมลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพ    ทั้งในไทยและภูมิภาคที่โดดเด่นอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรและขุมพลังเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะ  ภายใต้แนวคิด “Your Innovation, We Scale” โดยมีขอบเขตการลงทุนในธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่

1.Industrial – เช่น เกษตรอัจฉริยะ, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, การบริหารซัพพลายเชน และการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

2.B2B – B2B / B2C – เช่น อีคอมเมิร์ซ, การบริหารซัพพลายเชนทางด้านการเงิน และตลาดกลางขนส่งออนไลน์

3. Enterprise – เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล, ปัญญาประดิษฐ์, การทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยใช้ช้อมูล, การก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ, การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหลากหลายช่องทาง ผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน (Omni-Channel) , AR / VR

“เพราะนวัตกรรมต้องมีหลายตัวเลือก  และเราเชื่อว่านวัตกรรมทำคนเดียวไม่ได้ หรืออาจจะทำได้แต่ก็ช้าไปไม่ทันการณ์ ดังนั้นจึงต้องมีความร่วมมือกับภายนอกเยอะๆ นั่นจึงเป็นที่มาของการ Collaboration ต่างๆ กับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจที่ชัดเจน ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพภายนอกที่ SCG ให้การสนับสนุน อาทิ BUILK และGETLINKS เป็นต้น โดยระบบนิเวศที่ AddVentures by SCG เน้นเป็นพิเศษได้แก่ อาเซียน (เน้น ไทย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และเวียดนาม), จีน, อินเดีย, อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา โดยความร่วมมือกับสตาร์ทอัพตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นใน 3 รูปแบบ ได้แก่

1.การลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Fund of Fund) และการลงทุนตรงในสตาร์ทอัพ (Direct Investment) ที่มีแนวทางสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของ SCG ไปทั้งสิ้น13 ราย แบ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุน 2 ราย และการลงทุนตรงในสตาร์ทอัพ 11ราย โดยคาดว่าภายในปี 2562 นี้ จะมีการลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มอีกประมาณ 4-6 ราย

2.การสร้างความร่วมมือแบบธุรกิจร่วมทุน (Joint Venture Partnership) กับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเติบโต (Growth stage) เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้ SCG  โดยนำเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศมาใช้ในไทย หรือต่อยอดไปใช้ในภูมิภาคอื่นด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและทดลองตลาดกับสตาร์ทอัพทั้งสิ้น 6 ราย เพื่อสร้างธุรกิจและโอกาสใหม่ๆ ให้กับเอสซีจี

3.การสร้างความร่วมมือในฐานะคู่ค้า (Commercial Partnership) กับสตาร์ทอัพ โดยนำผลิตภัณฑ์หรือบริการมาใช้กับธุรกิจต่างๆ ของเอสซีจีแล้วกว่า 100 ราย เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปั้นสตาร์ทอัพดาวรุ่งภายใน ดันไอเดียเด็ดปั้นเป็นธุรกิจจริง

จริงอยู่แม้ Open Innovation จะทำให้องค์กรได้นวัตกรรมที่เร็วกว่า แต่ในระยะยาวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมที่เกิดจากการคิดค้นภายใน SCG จึงได้นำแนวคิดและวิธีการทำงานของสตาร์ทอัพมาปรับใช้ ด้วยการทำโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพภายใน และสร้าง Digital Mindset ให้เกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร โดยมี “ZERO TO ONE by SCG” ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสตูดิโอที่เน้นการสร้างธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพขึ้นมาจากไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เป็นผู้พัฒนาสตาร์ทอัพตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early stage) โดยแบ่งระยะของการผลักดันสตาร์ทอัพอย่างเป็นระบบ ได้แก่

1.ระยะฟักไข่ (HATCH) เน้นการเริ่มทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาปัญหา และทดสอบความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานั้น

2.ระยะเดิน (WALK) เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ พร้อมทั้งทดสอบตลาดและโมเดลธุรกิจ

3.ระยะบิน (FLY) เน้นการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแบบฉบับของธุรกิจสตาร์ทอัพ
ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพภายในร่วมโครงการนี้ 50 ทีม อยู่ในระยะ HATCH 15 ทีม, ระยะWALK 7 ทีม และระยะ FLY อีก 4 ทีม คาดว่าภายในปี 2562 นี้ จะสามารถสร้างธุรกิจใหม่จากสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 4-6 ราย

“ภารกิจของเราคือต้องการฟักไข่ออกมาเป็นไก่หรือนกที่บินได้ ถือเป็นการลงทุนเพื่อปลุกปั้นไอเดียของพนักงานภายในภายใต้การทดสอบ เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาสตาร์ทอัพในระยะต่างๆ   โดยรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละระยะ เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้แนวทางในการดำเนินงานด้วย  Playbook  การจัด Mentoring Session เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวจากกูรูซึ่งเป็นสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในวงการ ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน และการดำเนินการทางบัญชีและกฎหมาย เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากสตาร์ทอัพทีมไหนผ่านไปจนถึงขั้น FLY ก็จะขยายขนาดในการลงทุนต่อไป เพราะถือว่ามีศักยภาพที่จะเป็นธุรกิจใหม่ของ SCG ได้ หรือกระทั่งเป็น Innovation Catalyst ให้กับธุรกิจหลักของ SCG”
หนึ่งในตัวอย่างผลผลิตจากโครงการนี้ คือ BETTERBOX ซึ่งอยู่ในระยะ WALK ที่มีแนวคิดของการทำธุรกิจจากกระแสสุขภาพที่มาแรง และคาดว่าจะกลายเป็นกระแสหลักในไม่ช้า จึงผุดธุรกิจสตาร์ทอัพภายในนี้ขึ้นมาภายใต้แนวคิด Eat Healthier, Be Happier  เจาะตลาดของว่างและเครื่องดื่มที่ดีกว่าต่อทั้งกายและใจ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคว่าทุกครั้งที่กินขนม นอกจากจะได้รับคุณประโยชน์ด้านโภชนาการตามที่ต้องการแล้ว ยังอร่อยอีกด้วย


โดยจัดทำในรูปแบบของชั้นวางขนมเพื่อสุขภาพ พร้อมข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนแคลอรี่ที่ได้รับจากการบริโภคแต่ละหน่วย เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อบริโภค ตั้งคู่กับตู้เครื่องดืื่ม โดยมีขั้นตอนการซื้อง่ายๆ เพียงจ่ายเงินผ่านคิวอาร์ โมบาย แบงกิ้งธนาคารใดก็ได้ส่วนสาเหตุที่ไม่เลือกใช้เวนเดอร์ แมชชีน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคนิยมที่จะหยิบจับสินค้ามาพลิกอ่านรายละเอียดส่วนประกอบต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ
ปัจจุบันหลังดำเนินการมาได้ราว 4 เดือน มี BETTERBOX ตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานทั้งภายในและภายนอกเอสซีจี จำนวน 6 แห่ง มีแบรนด์ขนมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกว่า 100 แบรนด์ ที่หากินได้ยากในร้านสะดวกซื้อทั่วไป  พร้อมนำเสนอสินค้าในราคาที่เข้าถึงง่าย เริ่มต้นที่ 30-149 บาท
โดยข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภคจะมีส่วนช่วยในการทำให้แบรนด์ต่าง ๆ พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ต้องการทั้งสุขภาพและความอร่อยในเวลาเดียวกันได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น และหาก BETTERBOX ได้รับผลตอบรับดีจะขยายจุดจำหน่ายเพิ่มเติม พร้อมทั้งเล็งขยายไปในช่องทางใหม่ๆ เช่น ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นช่องทางที่มีผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

เน้น Data Analytics เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร

เท่านั้นยังไม่พอ การพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ SCG ให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อให้การทำ Digital Transformation ประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น  ด้วยการทำ Technology Integration ทั้งการใช้ Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค รวมทั้งการประยุกต์ใช้ AI (Artificial Intelligence), ML (Machine Learning), AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) และ Blockchain เพื่อให้กระบวนการทำงานและบริการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ Data ที่จะช่วยทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานต่างๆ ดีขึ้น และรวดเร็วขึ้น ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งเน้นสู่การเป็น Data Driven Company” คุณจาชชัว กล้าวเน้นย้ำปิดท้าย

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสามารถดูได้ที่  http://bit.ly/2KokDWn