ถอดสูตร “เอ-ไทม์” ผ่าคลื่นลม “วิทยุ” อันผันผวน หาโอกาสโตในยุคดิจิทัล

ปักหลักอยู่ในแวดวงวิทยุมากกว่า 30 ปี สำหรับเอไทม์ท่ามกลางคลื่นลมอันผันผวนที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาติดตัวแดงมากกว่าตัวเขียว” 10 ปีมานี้ข้อมูลจากนีลเส็นระบุว่า ตัวเลขเงินหายไปกว่า 1,300 ล้านบาท ทำให้ข่าวที่ได้รับอยู่เนื่องๆ จึงเป็นการปิดคลื่นมากกว่าจะเปิดใหม่ หรือไม่งั้นก็หันไปลุยออนไลน์เต็มตัว เพราะผู้บริโภคเทไปทางนั้นหมดแล้ว

ยิ่งงบโฆษณาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 ลดลง 1.25% เหลือ 41,000 ล้านบาท ส่วนวิทยุหายไปราว 5% จาก 1,848 ล้านบาท เหลือ 1,758 ล้านบาท แต่เอไทม์ บอกว่าตัวเองนั้นอยู่ในระดับทรงตัวมีการเติบโตอยู่บ้าง อย่างปีที่ผ่านมารายได้รวม 700 ล้านบาท เติบโตราว 10% มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 27.5% จากภาพรวมตลาดที่มี 10 กว่าคลื่นซึ่งเป็นรายใหญ่ๆ ทั้งนั้น

สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจะกำลังเติบโต แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าคนไม่ฟังวิทยุกันเลย ยังมีคนฟังอยู่เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการฟังจากเครื่องรับไปสู่รูปแบบอื่นๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน

เสน่ห์ของวิทยุที่สตรีมมิ่งไม่สามารถทำแทนได้คือ เพลง ดีเจที่พูดให้ฟังเป็นเพื่อน และข่าวสารต่างๆ ที่อัพเดตให้ฟังทุกชั่วโมง ซึ่งวันนี้สิ่งที่เราพบคือกว่า 50% ของการฟังคลื่นมาจากสมาร์ทโฟน ซึ่งมีอัตราการฟังเฉลี่ย 52 นาทีต่อวัน มากกว่าปีก่อนที่อยู่ราว 48 นาทีต่อวันเท่านั้น

ที่ผ่านมาเอไทม์ มีการเตรียมตัวสำหรับเรื่องออนไลน์มาไม่แล้วนับ 10 ปี โดยวันนี้ผ่านจุด Disruption และ Transformation ไป 2-3 ปีแล้ว ซึ่งในส่วนของออนไลน์ได้เริ่มจริงจังตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าการตอบรับเป็นไปได้ดีหากนับทั้ง 3 คลื่นที่มีอยู่มีคนฟังสะสม 16 ล้าน User ต่อเดือน

รายการที่ประสบความสำเร็จก็เช่นพุธทอล์คพุธโทร มียอดฟังสะสม 7 ล้านครั้ง เฉลี่ยอาทิตย์ละ 5 แสนครั้ง โดยรายการนี้มีอายุ 4 ปี หรือจันทร์ช็อคโลกยอดฟังสะสม 5 ล้านครั้ง เฉลี่ยอาทิตย์ละ 8 แสนครั้ง ส่วนแอปพลิเคชั่นมียอด Downloads 5.5 ล้านครั้ง

วันนี้เอไทม์ ระบุว่าตัวเองนั้นไม่ได้อยู่เป็นวิทยุอย่างเดียว แต่เป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ซึ่งธุรกิจได้แตกออกเป็น 6 ขา ทั้งวิทยุจำนวน 3 คลื่นซึ่งทำรายได้กว่า 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% มาจากทั้งแอปพลิเคชั่น ออนไลน์ คอนเทนต์ออนไลน์ โชว์บิซ และการจัดกิจกรรมต่างๆ

โดยสเต็ปต่อไปที่จะทำคือโมเดลธุรกิจ “A-Time Media Solutions 360 องศาที่เป็นมากกว่าวิทยุโดยจะทำคอนเทนต์ที่จากวิทยุ ขยับไปสู่ช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 3 คลื่นต่างมีจุดแข็งของตัวเองทั้งนั้น อย่างกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็มกลุ่มผู้ฟังต้องการความสนุกไปพร้อมกับสาระบันเทิง ชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมและการกุศล

ส่วนอีเอฟเอ็ม 94” เป็นเรื่องของความสนุก มุกขำขัน เปิดเพลงทุกแนว และชิล ออนไลน์คนฟังชอบเปิดเอาไว้เป็นเพื่อนทำงาน นอกจากเพลงแล้วดีเจก็จะพูดคุยเรื่องกิน เที่ยวด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นไปอยู่บนหน้าจอทีวีซึ่งอย่างที่รู้กัน เป็นเซ็กเมนต์ที่ครองงบโฆษณามากกว่า 50% เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับลูกค้าที่จะมาลงโฆษณา ด้วยการเปิดโฆษณาคั่น หรือ Tie-in สินค้าไม่เพียงพอที่จะสร้างความต่างอีกต่อไป ซึ่งอย่างที่รู้กันเรตโฆษณาไม่สามารถเพิ่มได้ จึงต้องปรับแพ็กไปรวมกับการทำอย่างอื่นมากขึ้น เพื่อสร้างความคุ้มค่า

ที่ผ่านมาการต่อยอดไปสู่ทีวีมีบ้างแล้ว เช่นรายการแฉที่ทำมานานกว่า 10 ปี ได้ถูกนำไปทำเป็นรายการ โดยรายการที่มีแนวโน้มขยายคือ พุธทอล์คพุธโทรวางแผนจะนำไปผลิตซีรีส์เบื้องต้นลงไปลงในออนไลน์ก่อน โดยจะลงทุนผลิตเอง หรือรายการอังคารคลุมโปง” เกี่ยวกับการเล่าเรื่องสยองขวัญต่างๆ ก็มีแนวโน้วที่จะหยับมาทำ

ส่วนรายการทอล์คปีหน้าเตรียมเพิ่มรายการอีก โดยหลักของการเลือกว่าจะทำรายการแนวไหน จะมาจากแนวโน้มของของผู้ชม แล้วค่อยเลือกดีเจมาทำหน้าที่ ขณะเดียวกันตัว “ดีเจ” ทั้งหมด 20 กว่าคน นอกจากจัดรายการแล้วก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ให้กับสินค้าได้ด้วย

เร็วๆ นี้เตรียมค้นหาดีเจหน้าใหม่ที่ไม่ได้จัดแค่รายการ แต่ยังต้องรองเพลงหรือเล่นละครได้ด้วย เพื่อซัพพอร์ตสิ่งที่กำลังจะตามมาในอนาคต

นอกจากนั้นแล้วยังมีการเพิ่มโมเดลใหม่ๆ ในการหารายได้เช่นการทำ “วิทยุช้อปปิ้ง” ซึ่งได้ทดลองแล้วกับ “โอช้อปปิ้ง” สิ่งที่พบคือแม้ยอดขายจะน้อยกว่า 50% แต่ทั้งคู่มองว่าจะยังมีลูกเล่นใหม่ๆ ที่จะมาทดแทนในสิ่งที่ทีวีทำไม่ได้