GMM Studios ลั่นกลองรบ รุกตลาดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนานาชาติ ปั้นคอนเทนต์คุณภาพลง Netflix


ไม่ว่าแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ Content is King อมตะวาจาของ “บิล เกตต์” ที่ปรากฎครั้งแรกบนเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์เมื่อปี 1996 ยังคงเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในปัจจุบันคอนเทนต์ที่ว่านั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน และนั้นคือโจทย์ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์จะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เช่นเดียวกับที่ จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ บริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เปิดฉากรุกตลาดนี้อย่างจริงจัง ประเดิมด้วยซีรีส์ชุด “Sleepless Society” ตอน “แพ้กลางคืน” เขย่าจอในช่องวัน ก่อนที่จะออกฉายใน Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนานาชาติแบบเอ็กซ์คลูซีฟเป็นลำดับถัดไป ดีมานด์คอนเทนต์พุ่ง อยากรุ่งต้องผลิตให้ได้ตามสเป็ค

พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ Head of Studios บริษัท จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้รายละเอียดว่า “จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ ตั้งขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2018 ที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่เป็นคอนเทนต์ โพรไวเดอร์ มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น เพื่อรองรับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่บอกรับสมาชิกระดับสากลแบบ Over-The-Top (OTT) ที่กำลังเฟื่องฟูในกลุ่มผู้เสพคอนเทนต์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Viu,  iflix กระทั่ง Facebook , HBOและ Disney+ ที่เตรียมจะลงมาเล่นในตลาดนี้ ทำให้ในอนาคตจะมีความต้องการคอนเทนต์นานาชาติจำนวนมหาศาลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าจะเป็นคอนเทนต์อะไรก็ได้ไปถมแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้เต็ม

สำหรับในเอเชียความต้องการคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะเป็นคอนเทนน์เกาหลี ญี่ปุ่น จีน และไทย โดยไทยจะอยู่ใน Top 5 หรือ Top 10 ตลอด OTT ทั้งหลายต้องเสาะหาคอนเทนต์เหล่านี้ทั้งในรูปแบบของการซื้อ หรือการร่วมมือด้วยข้อตกลงเฉพาะ กระทั่งการร่วมทุนสร้างตั้งแต่แรก เพื่อให้มีคอนเทนต์ซึ่งก็คือโปรดักส์ที่จะดึงดูดคนดู และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับแพลตฟอร์มตัวเองได้

ส่วนจีนก็มีความต้องการคอนเทนต์จำนวนมากเช่นกัน แต่จีนก็จะมีแพลตฟอร์มของตัวเอง เนื่องจากแพลตฟอร์มที่กล่าวมา ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้ในจีน แพลตฟอร์ม OTT ที่มีคนดูเยอะของจีน ได้แก่ Tencent Video, Youku Tudou และ iQiyi เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสที่จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ต้องไขว่คว้ามาให้ได้

สำหรับความร่วมมือของจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ กับ Netflix ที่เริ่มต้นจากซีรีส์ชุด Sleepless Society พันธุ์ธัมม์ บอกว่าเป็นความร่วมมือที่ตกลงกันตั้งแต่แรกว่าจะทำคอนเทนต์แนวไหน ทาง Netflix ต้องการได้คอนเทนต์อย่างไร คุณภาพเป็นอย่างไร โทนในการเล่าเรื่องจะเป็นอย่างไร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย และมีกำหนดการออกอากาศในรูปแบบใด เรียกว่าเป็นการวางแผนอย่างมีระบบและชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลยทีเดียวต่างจากยุคก่อน ถ้าคอนเทนต์ดี เรตติ้งเด่น ค่อยซื้อไปออกอากาศ

ต้องดูว่าเราเล่าคอนเทนต์ให้ใครดูบ้าง อย่างตลาดละครในไทยโปรไฟล์ของคนดูส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ถ้าเป็นคนดูในแพลตฟอร์มนานาชาติก็จะแตกต่างออกไป ต้องเลือกคอนเทนต์ที่เป็นแนวทางสากล คนในแพลตฟอร์มเหล่านั้นถึงจะอยากดู โทนของคอนเทนต์และการเล่าเรื่องจึงไม่ใช่จะตามใจตลาดไทย 100% คอนเทนต์ต้องดีมีคุณภาพ โปรดักชั่นต้องเนี้ยบ คอนเทนต์รูปแบบเดิมๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในไทย อย่างละครหลังข่าวทั่วไป ไม่ใช่คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์แพลตฟอร์ม OTT ได้เสมอไป เพราะคนดูคาดหวังคุณภาพในระดับสากล

“เมื่อตั้งเป้าออกอากาศในแพลตฟอร์มสากล อันดับแรกจะต้องทำให้มีคุณภาพเทียบเท่าสากลก่อน ไม่ใช่ทำๆไปก่อน เผื่อฟลุ๊ค เพราะถ้าไปเรียงอยู่กับเขา คนดูเห็นหน้าตา ถ้าไม่ได้มาตรฐานก็ยากที่จะถูกคลิก รวมถึงโปรดักชั่น การจัดแสงอะไรต่างๆ อย่าให้รู้สึกว่ามันด้อยกว่าคนอื่น และการเล่าเรื่องต้องเป็นความสนุกที่นานาชาติพึงพอใจ คอนเทนต์ที่มีคุณภาพที่ดี จะต้องมีการเล่าเรื่องแบบสากล ดูแล้วสนุก อย่างซีรีส์ชุดแรกที่เราหยิบมาทำคือ Sleepless Society เพราะคอนเทนต์ที่มักได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะเป็นแนว Suspense หรือแนวลึกลับ ขยี้ปม เล่าเพื่อชวนให้ติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น กึ่งสืบสวนสอบสวน มีหลอนๆ บ้าง ไขปมปริศนาไปทีละนิดทีละหน่อย ถ้าไม่ใช่แอคชั่นก็จะเป็นแนวนี้ที่เป็นคอนเทนต์ที่แพลตฟอร์มสากลให้ความนิยมมาก แต่ถ้าเป็นแอคชั่น เราไม่มีงบขนาดนั้นเพราะต้นทุนสูงมาก จึงไม่เหมาะที่จะนำมาสร้างลงแพลตฟอร์ม OTT รวมถึงคอนเทนต์วัยรุ่น แนวล่อแหลม ท้าทายต่อขนมธรรมเนียม อย่าง Sex Education ที่ฉายทาง Netflix  ซึ่งเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่อยู่บนทีวีลำบากหรือออกอากาศไม่ได้เลย แต่กลับเป็นกระแสโด่งดังใน OTT”

“นอกจากนี้เมื่อเริ่มต้นคอนเทนต์จากต้นน้ำ ก็ต้องทำให้โปรดักชั่นมีคุณภาพ ทั้งการจัดแสง และการตัดต่อต้องสากล ห้ามยืดเยื้อ ภาพต้องสวยงาม รวมถึงโลเคชั่นที่ต้องคัดสรรอย่างดี เรื่อยไปจนถึงเพลงประกอบ ถ้าเป็นละครทั่วไปก็เอาสกอร์เพลงจากไลบรารี่หยิบมาวาง ของเรามาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ อย่าง Sleepless Society ตอนแพ้กลางคืน (Nyctophobia) เราใช้เพลงแค่หลับตา แต่มาทำให้มันหลอนๆ ทุกกระบวนของการทำซีรีส์แนวนี้ จึงเป็น approach เดียวกับที่ทำภาพยนตร์ นั่นคือทำทุกอย่างขึ้นมาใหม่หมด ให้เหมาะสมกับเรื่องนั้น ๆ เพราะเมื่อ Suspense จะต้องทำให้สมบูรณ์แบบทุกองค์ประกอบ ไม่มีขาดตกบกพร่อง นี่เป็นมาตรฐานที่ไปฉายที่ไหนของโลกคนดูก็ชื่นชอบ”

อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ใช้ในการทำละครแนว Suspense สถานีโทรทัศน์ไม่อาจรับได้ เพราะมีต้นทุนสูงกว่าการทำละครปกติถึง 50% สาเหตุที่มากกว่าสองเท่าเนื่องจากระบบการถ่ายทำ ละครไทยใช้สวิทชิ่ง วางกล้อง 3 กล้องจบ แต่ละคร Suspense ในรูปแบบที่จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ ทำในซีนเดียวกันมีการถ่ายทำ 4-5 ครั้ง ละครทั่วไปในหนึ่งวันถ่ายได้ 20 ซีน แต่ถ้าเป็นแนวนี้จะถ่ายได้แค่ 10-15 ซีน เท่านั้น ไหนจะกระบวนการตัดต่อที่ใช้เทคนิคสูงกว่า จึงเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย ถ้าดูครั้งแรกไม่โดนใจก็จบ เพราะมีโอกาสแค่เบรคเดียว อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเมื่อเลือกแนว Suspense แล้วจะหมายถึงการันตีทันทีว่าเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและจะประสบความสำเร็จในแพลตฟอร์ม OTT เนื่องจากต้องทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพสมกับการเป็น Suspense ที่ดีด้วย

การทำซีรีส์รูปแบบนี้มันชี้เป็นชี้ตายกันในครั้งแรกเลย ต้องทำให้เปิดมาดูปุ๊บจบเบรคแล้ว รู้สึกว้าว อยากดูต่อจังเลย เวลาเขียนบทละครแบบนี้จึงต้องเขียนเป็นเบรค เบรคนี้จะต้องจบตรงนั้น เบรคต่อไปจะต้องจบตรงไหน เพื่อให้คนดูอยากติดตามตลอด เพราะคุณมีโอกาสแค่เบรคเดียวเท่านั้น ถ้าจบเบรคปุ๊บแล้วไม่โดนใจ คือไม่รอดแน่ๆ ดังนั้นแต่ละเบรคใช้เวลาแค่ 15 นาทีต้องเอาคนดูให้อยู่หมัด นี่เป็นเงื่อนไขที่แตกต่างจากการเขียนบทละครในบ้านเรา บ้านเราคือลองดูไปก่อนสัก 1-2 ตอน อาจจะยังไม่ชอบ ตอนต่อไปอาจจะชอบก็ได้ แต่การเขียนบทละคร Suspense ต้องเขียนบทให้ฮุคทุกเบรค ให้เกิดความรู้สึกอยากตามอย่างต่อเนื่อง

“จุดเด่นคือเดาไม่ถูก ทำให้คนอยากรู้อยากเห็นในทุกๆ 3-5 นาที ทำให้แทบจะละสายตาไม่ได้ ซึ่งอาจจะยากสำหรับละครทั่วไป ที่คนดูอาจจะเปิดทิ้งไว้ได้ แต่ซีรีส์แบบนี้ต้องตั้งใจดู เพราะมีปมใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ หลังจากออกอากาศไปได้ครึ่งเรื่อง พบว่าผลตอบรับถือว่าเป็นไปได้ตามที่คาดหมาย เทรนด์ในทวิตเตอร์ที่คนดูทวิตกันถึงเรื่องนี้ก็คึกคัก มีการถกเถียง และแสดงความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้น” Sleepless Society ตอนแพ้กลางคืน (Nyctophobia) นำเสนอเรื่องราวของมีนา คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องสูญเสียลูกชายสุดที่รักไป กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอเกิดอาการนอนไม่หลับและกลายเป็นโรคแพ้กลางคืนในที่สุด กระทั่งวันหนึ่งก็เด็กชายคนหนึ่งมาหาเธอ พร้อมกับบอกว่าเขาคืออาร์ม เรื่องราวชวนหลอนนี้ ชวนให้หาคำตอบว่าเด็กชายคนนี้แท้จริงแล้วคือใคร เป็นลูกของมีนาจริงหรือไม่ โดยซีรีส์ชุด Sleepless Society มีทั้งหมด 4 เรื่อง ประเดิมด้วย แพ้กลางคืน มีกำหนดออกอากาศเรื่องละ 3 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม 2562-พฤษภาคม 2563 รวมระยะเวลา 1 ปี พอดิบพอดี

ทีมต้องแกร่งในทุกบทบาท เชี่ยวชาญในทุกหน้าที่

พันธุ์ธัมม์ บอกว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำพาให้ซีรีส์ที่ผลิตสำหรับออกอากาศในแพลตฟอร์มสากลประสบความสำเร็จได้ก็คือ ทีมงานมืออาชีพที่มีทั้งความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ เพราะคอนเทนต์ที่มีคุณภาพย่อมเกิดจากฝีมือในการเขียนบทที่ลุ่มลึก กอปรกับกระบวนการและขั้นตอนโปรดักชั่นต่างๆ ที่จะต้องใช้ทีมงานที่มือถึงจริงๆ

“เรารวมพลทีมงานที่มีคุณภาพระดับแถวหน้า ตั้งแต่ Writer Lab ที่เขาสร้างมาก รวมคนทำภาพยนตร์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญไว้จำนวนมาก ตากล้องจากองค์บาก ได้ผู้กำกับที่ชนะ Hivos Tiger Awards จากรอตเตอร์ดัม ซึ่งเปรียบเสมือนคานส์ของหนังอินดี้ ทีมตัดต่อจากไวท์ไลท์ธรรมดาเขาจะไม่ค่อยตัดต่อละคร แต่จะตัดต่อภาพยนต์ “ทีมเขียนบท Sleepless Society ตอนแพ้กลางคืน (Nyctophobia) เป็นทีมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยผมทำภาพยนตร์ และละครเรื่องโสด สตอรี่ ทางช่องวัน รวมถึงละครชุดของช่องวันที่จะมีตอนจบให้เลือกสองแบบอย่างเมืองมายา ส่วนใหญ่จะเป็นมือเขียนบทในวงการภาพยนตร์แล้วมาทรีทละครให้คล้ายภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีคุณสมเกียรติ วิทุรานิช ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟัก, มะหมา 4 ขาครับ และเป็นผู้เขียนบทเรื่องรักที่รอคอย (October Sonata) ที่ได้รางวัล มาช่วยดูและผมควบคุมการเขียนบทในฐานะผู้กำกับ ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดอีกที”

ด้านทีมนักแสดง นำโดยพลอย เฌอมาลย์, ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์, เจสัน ยัง, ณัฎฐริณีย์ กรรณสูตร, แมทธิว ดีน, ทราย เจริญปุระ และณภัค เจนจิตรานนท์ “ผมเชื่อว่านี่คือการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของพลอยในบทมีนา และน้องแมค ณัฐพัชร์ เล่นเป็นลูกของพลอย ในบทอาร์ม สาเหตุที่เลือกพลอยมารับบทนำ คืออันดับแรกเราเลือกจากฝีมือก่อน ต้องยอมรับว่าคนที่จะเล่นบทนี้ได้ในเมืองไทยมีไม่เยอะ และพลอยคือหนึ่งในนั้น ส่วนชื่อเสียงของพลอยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในผลงานแนวหลอนๆ ก่อนหน้า ก็ถือเป็นผลพลอยได้”

นิชแต่แจ๋ว…เน้นกลุ่มคนกรุงฯ รสนิยมดี มีรายได้สูง ส่วนกลุุ่มเป้าหมายเหมือนกับละครเลือดข้นคนจาง เป็นคนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้สูงเป็นกลุ่มผู้บริโภคชั้นสูงระดับบน(Upper-Uppers) เป็นกลุ่ม Social Elite มีฐานะร่ำรวยอาจจะด้วยมรดกตกทอดหรือจากความสามารถในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้านพฤติกรรมจะไม่นิยมเสพละครไทย แต่อยากเห็นคอนเทนต์แนว Suspense ฝีมือคนไทยบ้าง และหากทำได้ดีก็พร้อมที่จะสนับสนุน แม้ละครแนวนี้จะมีเรตติ้งไม่ถล่มทลาย แม้จะมีจำนวนคนดูไม่เยอะ แต่มั่นใจได้ว่ามีกำลังจับจ่ายใช้สอยแน่นอน “เชื่อว่าเอเยนซี่คงมองเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าสินค้าหรือแบรนด์ โดยเฉพาะ Prestige Product จะต่อท่อแล้วโฆษณากับคนกลุ่มนี้โดยตรงก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และไม่อาจมองข้ามได้ หากเทียบเคียงกับสมัยที่แกรมมี่ทำ รายการทีนทอล์คเป็นรายการวัยรุ่นนิชๆ แต่ทันสมัย โปรดักส์ที่ต้องการกลุ่มเป้าหมายนี้ก็วิ่งเข้าหาถล่มทลาย”

Netflix…โอกาสที่เปิดกว้าง ในน่านน้ำที่ใหญ่ขึ้น

ก้าวสู่ Netflix แพลตฟอร์มนานาชาติชั้นนำ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ โดย Netflix จะออกอากาศเมื่อแพ้กลางคืนทั้งหมด 13 ตอน ออกอากาศทางช่องวันจบแล้ว ในระหว่างนี้หากอยากรับชมต้องเปิดช่องวันชมสดเท่านั้น ไม่มีให้ดูย้อนหลัง และไม่มีออกอากาศในแพลตฟอร์มอื่นใด

“สาเหตุที่เรากำหนดรูปแบบการออกอากาศดังกล่าว สืบเนื่องมาจากข้อตกลงร่วมกันกับ Netflix ซึ่งมีการประเมินผลว่าการที่เอาคอนเทนต์ไทยไปออกทีละตอน กับออกฉายทีเดียวเมื่อจบแล้ว แบบหลังพบว่าคนดูมากกว่า เกิดพฤติกรรมการดูแบบต่อเนื่องยาวนาน (binge-watch) ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่หลับไม่นอน ถือเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่าคอนเทนต์ในทีวีที่ฉายทีละตอน”

สำหรับ Sleepless Society ถือเป็นคอนเทนต์ Exclusive Only เฉพาะ Netflix เท่านั้น หรือเป็น OTT เดียวที่ได้สิทธิ์ออกอากาศ แต่หากสถานีโทรทัศน์ใดต้องการซื้อไปออกอากาศก็ติดต่อมาได้เช่นกัน

“Netflix มองหากลุ่มเป้าหมายที่เป็น Young Adult และวัยรุ่น ปีหน้าวางแผนที่จะผลิตซีรีส์เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ โดยจะคงคอนเซ็ปต์ความหลอน ซ่อนเงื่อนอยู่”

อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่จะจับมือกับ Netflix เท่านั้น แต่จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ พร้อมเปิดโอกาสสำหรับทุกแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น HBO, Disney+ หรือ Viu เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของแต่ละแพลตฟอร์ม โดยปัจจุบันในฐานะคอนเทนต์เราทำให้จีเอ็มเอ็ม, พีพีทีวี ในอนาคตก็มีโครงการที่จะนำเสนอดิจิทัลทีวีช่องอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ ยังเน้นกลยุทธ์ Collaboration ร่วมกับต่างประเทศอีกหลายโครงการ อาทิ ร่วมมือกับจีน นำเรื่อง My Name is Kim Sam Soon ซีรีส์เกาหลียอดนิยมในตำนานมาทำเป็นเวอร์ชั่นไทย ซึ่งสอดรับกับความต้องการของจีนที่จะเน้นคอนเทนต์โรแมนติก คอมเมดี้ และครอบครัว ส่วนคอนเทนต์ต้องห้าม คือ แนวที่ไม่ส่งเสริมศีลธรรมอันดี และเกี่ยวข้องกับการเมือง

“ไม่ใช่ยุคของการทำงานคนเดียวแล้ว เพราะหากร่วมมือกันกับนานาชาติ ก็มีเงินในการทำโปรดักชั่นให้มีคุณภาพมากขึ้น งานที่ผลิตอออกไปก็มีคนดูเยอะขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อบริษัทว่าจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล”

ไม่อยากโดน Disrupt ต้องเริ่มสร้างคอนเทนต์ที่ลายเซ็นของตัวเองตั้งแต่ตอนนี้

เมื่อถาม พันธุ์ธัมม์ ว่าความเคลื่อนไหวของจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ ในครั้งนี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรมคอนเทนต์บันเทิงในไทยอย่างไร คำตอบที่ได้คือ อันที่จริงคอนเทนต์บ้านเราได้รับแรงกระเพื่อมจากต่างประเทศอยู่แล้ว เหมือนวงการภาพยนตร์ที่มีความต้องการจากนานาชาติ ทำให้เกิดการทำงานเพื่อสากล ตั้งแต่องค์บากประสบความสำเร็จ หรือสัตว์ประหลาดที่เป็นต้นแบบภาพยนตร์อินดี้ของไทย และสถานการณ์เหล่านั้นกำลังจะเกิดในวงการคอนเทนต์โทรทัศน์ ใครที่ปรับตัวไม่ทัน ไม่รู้จักสร้างจุดแข็ง หรือนำเสนอจุดเด่นของตัวเองก็จะถูกกลืนหายไปในกระแสธารอันเชี่ยวกรากนี้

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องทะลุน้ำขึ้นมาดูว่ามีตรงไหนบ้างที่เราจะมีช่องที่หายใจ เหมือนถั่วงอกที่ถูกทับไว้ อยากโตต้องถีบตัวขึ้นมาให้ได้ ถ้าไม่ทำช่วงนี้ก็ยากแล้วที่จะเกิดได้ คนที่จะถูกเลือกต่อไปคือกลุ่มที่มีความชัดเจนในลายเซ็นของตัวเอง ว่าโดดเด่นในด้านไหน เช่น เจนจัดในการทำละครชาวบ้าน ,วัยรุ่น หรือ Suspense ไม่มีใครจะเชี่ยวชาญทุกด้าน ดังนั้นการเล่าเรื่องต้องเป็นลายเซ็น (Signature) ที่ชัดเจน คนทำแอคชั่นดี บางทีทำโรแมนติก คอมเมดี้ ไม่ได้เลย มันต้องมีความเฉพาะทาง แม้ตลาดบ้านเราเริ่มจากไม่เฉพาะทาง เริ่มจากแมส แต่ก็จะเป็นโอกาสให้คนทำงานหาช่องทางที่จะทะลุขึ้นมาแจ้งเกิดได้ มีที่ทางในการแสดงฝีมือมากขึ้น ทางช่องก็เริ่มให้โอกาสกับคนเหล่านี้ ทำให้คนทำคอนเทนต์ก็จะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตา มีความหลากหลาย ไม่เหมือนยุคก่อนที่ซ้ำๆ เดิมๆ และหากจะลุยในแพลตฟอร์มสากลยิ่งต้องชัด เขาจะเชื่อว่าคนนี้ทำแนวนี้ได้ดี ก็จะไว้วางใจอยากให้ทำแนวนี้ต่อไป ทั้งหมดของธุรกิจนี้ใช้ความน่าเชื่อถือ และใช้ Portfolio เป็นสำคัญ”