เทรนด์รักษ์โลกแรง! ใช้ชีวิตอย่าง “สมาร์ท” และ “แคร์เวิลด์” ทำอย่างไร

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ทำให้เกิดสังคมที่เน้นการบริโภค มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ไม่มองการเป็นผู้ผลิตและดูแลสิ่งแวดล้อม วันนี้ผู้คนกับธรรมชาติจึงมีช่องว่างกว้างขึ้นและห่างออกไปทุกที

โจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใช้แนวทางของปราชญ์พื้นบ้านเป็นแนวทางการเกษตร เพื่อให้คนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปมีอาหารการกินที่ยั่งยืนพึ่งพาตนเอง มองว่าวันนี้ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคจึงต้องร่วมมือกัน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สะสมมาอย่างยาวนาน

รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองวันนี้ ฝึกให้คนเป็นผู้บริโภคที่ดี แต่ไม่เคยสอนให้คนเป็นผู้ผลิต วันนี้รอบตัวจะเห็นได้ว่าแทบไม่มีใครในฐานะผู้บริโภคที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างทรัพยากรธรรมชาติให้เพิ่มขึ้น มีคนที่ทำงานหนักเพื่อย่อยทรัพยากรออกมาเป็นเงิน

ขณะที่ทรัพยากรมีจำนวน “จำกัด” แต่ทุกคนแข่งกันบริโภคอย่างรวดเร็ว หากยังเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าอีกไม่นานทรัพยากรธรรมชาติก็จะหมดไป และเกิดวิกฤติขาดทรัพยากรที่เป็นเรื่องใหญ่มาก

“ทุกชีวิตต้องอาศัยทรัพยากรเลี้ยงชีวิต ไม่มีใครอยู่ได้หากไม่มีทรัพยากร แต่การใช้ชีวิตของคนในยุคนี้กลับแข่งกันใช้ทรัพยากรให้หมดไปอย่างรวดเร็ว”

โจน จันได

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่ยังใช้มาถึงปัจจุบันและอนาคตต่อไป ที่จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนและก้าวหน้าในอนาคต เป็นการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรอย่างมีสติ เป็นหลักการสร้างทรัพยากรและใช้อย่างพอเพียงไม่ให้หมดไป

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกลับมาพึ่งพาตัวเอง เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปแค่ไหนก็ตาม คนก็ยังต้องบริโภคอาหารและใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายถึงให้คนไปเป็นเกษตรกร ทุกคนสามารถนำทฤษฎีนี้มาใช้ได้ รวมทั้งคนในเมือง เพราะหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง คือการใช้เหตุผล หรือ “สติ” รู้จักพอประมาณ ไม่ตามอารมณ์ เพราะสิ่งที่ไม่ใช่เหตุผล นั่นคือความชอบ หรือ อารมณ์

ปัญหาที่เกิดจากการบริโภคนิยมเกินความจำเป็นก็มาจาก “อารมณ์” เช่น การซื้อสิ่งของ เสื้อผ้า รองเท้า โดยไม่ดูเหตุผลของความจำเป็นในการซื้อว่านำมาใช้หรือไม่ การซื้อเพราะความชอบและอารมณ์ จะสร้างผลกระทบที่ไกลมากต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง

“ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว ทุกอย่าง Smart แต่คนเราก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ใช้สติในการดำรงชีวิตได้เช่นกัน เพียงแต่ลดการบริโภคอย่างขาดสติ ใช้ตามความจำเป็น จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรและช่วยกันสร้างเพิ่มก็จะมีใช้ต่อไป ก็จะอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

101 คิกออฟโปรเจกต์ Sustainable

ถือเป็นโครงการ Smart City ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับโปรเจกต์ 101 True Digital Park ที่อยู่ในโครงการไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์  101 The Third Place ภายใต้การพัฒนาของ MQDC ที่กำหนดแนวทางธุรกิจ 3 เรื่องหลัก คือ World Care การทำงานที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด Community การทำโครงการต้องตอบโจทย์ “ชุมชน” และสังคม Design การออกแบบที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งการใช้ชีวิตแบบ “สมาร์ท”

ณิชา ศรีสงวนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายงานบริหารพื้นที่พาณิชย์ และค้าปลีก ภายใต้การพัฒนาโครงการของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในวันนี้ เป็นสิ่งที่ “ทุกคน” ต้องร่วมมือกันแก้ไข

โครงการ 101 The Third Place และ 101 True Digital Park จึงร่วมกัน “คิกออฟ” โปรเจกต์ Sustainable Fest” แนวคิดการพัฒนาเมืองต้นแบบอัจฉริยะที่ผสมผสานทั้งเรื่องของ Digital, Green Space และ Lifestyle เข้าไว้รวมกันในที่เดียว ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่และมุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนในสังคม

ในโครงการได้จัดกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาขยะ 5 กิจกรรม ที่ผู้บริโภคและผู้อยู่อาศัยในโครงการมีส่วนร่วมได้

1.Bag Sharing ร่วมมือกับ Echolab รณรงค์ให้ลูกค้าลดใช้ถุงพลาสติกในการซื้อสินค้า โดยให้บริการกระเป๋า Bag Sharing สำหรับยืมใช้ตามจุดต่างๆ ภายในโครงการ วัสดุที่ใช้ทำกระเป๋า Bag Sharing เป็นตาข่ายกันฝุ่น (Mesh sheet) ที่ผ่านการใช้งานจริงระหว่างก่อสร้างโครงการต่างๆ ของ MQDC และนำกลับมาใช้เป็นกระเป๋า Bag Sharing ให้บริการลูกค้าสายกรีน เฟสแรกมีกระเป๋าให้ยืมใช้กว่า 3,000 ใบ

2.พื้นผลิตพลังงาน นำเทคโนโลยีที่สร้างพลังงานจากการเดินเท้า (Pavegen) มาใช้เป็นรายแรกในประเทศไทย หลักการทำงาน คือเมื่อเดินผ่าน แผ่น Pavegen จะเปลี่ยนแรงสั่นสะเทือนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ในโครงการ

3.Reverse Vending Machine (RVM) นำเครื่อง RVM มาใช้สำหรับจัดการขยะประเภทขวดพลาสติก โดยใช้เทคโนโลยีบีบอัดขวดให้มีขนาดเล็กลง เพื่อสะดวกจัดเก็บและเพิ่มการรองรับปริมาณขยะได้มากขึ้น เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ผู้บริโภคหันมาคัดแยกขยะและนำมารีไซเคิล

4.Upcycling Display โครงการได้ทำงานร่วมกับ “ศรัณย์ เย็นปัญญา” ดีไซเนอร์และศิลปินแนวร่วมสมัย นำเสนอเรื่องราวของสัตว์นานาชนิดที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะของมนุษย์ ใช้วัสดุเหลือใช้ทั้งหมดนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะกึ่งนิทรรศการ ตกแต่งในจุดต่างๆ ของ 101 True Digital Park

5.สารบำรุงดินออร์แกนิก ซึ่งผลิตจากกากกาแฟ ผัก เปลือกผลไม้ และเศษอาหารภายในโครงการฯ ผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์จากเครื่องย่อยสลายเศษอาหาร ออกมาเป็นสารบำรุงดินออร์แกนิก ช่วยกำจัดขยะในสิ่งแวดล้อม

วันนี้ทุกอุตสาหกรรมและทุกอาชีพสามารถใช้ความถนัดและความสามารถของตัวเอง เพื่อร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมได้ทุกคน