คนไทยเคยมาซื้อ “แอร์เมส เบอร์กิ้น” มือสองใบละ 2 ล้าน! เหตุผลที่ “โคเมเฮียว” ร้านแบรนด์เนมมือสองญี่ปุ่นอยากบุกเมืองไทย

ของสวยๆ งามๆ มักเป็นสิ่งที่คู่กับผู้หญิงอยู่แล้ว นอกเหนือจากตลาดเครื่องสำอางที่โตวันโตคืน อีกหนึ่งตลาดที่กำลังเป็นที่สนใจคือตลาดแบรนด์เนมมือสองซึ่งใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนกระแสเศรษฐกิจมากๆ ด้วยยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ค้องการต้องการประดับตัวเองให้ดูดีมีราคาเข้าสังคมได้ แม้เป็นมือสองก็ตาม เพราะราคาจะถูกกว่ามือหนึ่งราว 20-30%

เคยมีการคาดกันว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ลักชัวรีแบรนด์มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.18 แสนล้านบาท และที่น่าสนใจก็คือ ตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสองมีมูลค่าสูงกว่าการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมผ่านช็อป (Official Shop) ถึง 10-20% ไม่รวมตลาดในช่องทางออนไลน์และการซื้อขายกันเองอีกจำนวนมาก ซึ่งทุกช่องทางล้วนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่ใคร จะเข้ามาในธุรกิจนี้ 

หากจำกันได้ในปีที่ผ่านมามีแบรนด์เนมมือสองสัญชาติญี่ปุ่นถึง 2 เจ้าใหญ่ที่บุกเข้ามา โดยร้านที่เข้ามาเปิดเกมรายแรกคือแบรนด์ออฟโตเกียว” 1 ใน 3 รายใหญ่ในตลาดที่ญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามาจับมือกับกลุ่มโรงรับจำนำรายใหญ่เก่าแก่ของไทยอย่าง โรงรับจำนำปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า เปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์ซอยพร้อมกับวางแผนเปิด 6 สาขาภายใน 5 ปี

อีกรายคือโคเมเฮียว เป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดในญี่ปุ่น มีรายได้ 4-5 หมื่นล้านเยน จากภาพรวมตลาดแบรนด์เนมมือสองราว 2-3 แสนล้านเยน อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวด้วย เปิดธุรกิจมานานกว่า 70 ปีแล้วมีสาขารรวมกันทั้งสิ้น 35 สาขา

การเข้ามาของโคเมเฮียวได้เลือกที่จะจับมือกับเครือสหพัฒน์ซึ่งกำลังต้องการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการ หลังจากพบว่าธุรกิจอย่างเสื้อผ้าและแฟชั่นไม่ได้หอมหวานอีกแล้ว จึงต้องหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม

ฮิเดโอะ ทาเคโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สห โคเมเฮียว จำกัด กล่าวว่า เหตุผลหลักที่โคเมเฮียวสนใจมาเมืองไทยเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากฮ่องกงและจีน หลังจากพบว่า คนไทยถือเป็นกลุ่มลูกค้าติด Top 3 สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติที่เดินเข้าไปยังสาขาต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น

เราเคยเจอลูกค้าไทยมาซื้อกระเป๋าแอร์เมส เบอร์กิ้น Limited Edition ในราคาใบละ 2 ล้านกว่าบาท และไม่ได้ซื้อแค่ใบเดียวแต่ยังซื้อสินค้าอื่นๆ อีกด้วย ทำให้โคเมเฮียวมองไทยเป็นโอกาสที่พลาดไม่ได้ อีกทั้งรายอื่นๆ ที่เปิดอยู่แล้วไม่ได้เป็นรายย่อยไม่ใช่รายใหญ่เหมือนกับโคเมเฮียว

ฮิเดโอะ ยังบอกอีกว่าคนไทยนั้นมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ซื้อสินค้าแพงๆ ไปเลย กับกลุ่มที่เข้ามาซื้อสินค้าที่ไม่แพงมากนัก หากจัดโปรโมชั่นราคาเริ่มต้นจะอยู่หลักร้อย ก็มี โดยกระเป๋าเป็นสินค้าที่คนไทยชอบซื้อมากที่สุด รองลงมานาฬิกา ส่วนจิวเวลรี่ไม่ได้เห็นมาก 3 แบรนด์ที่นิยมซื้อคือ “หลุยส์วิตตอง แอร์เมส ชาแนล

และถึงจะมีการแถลงข่าวเซ็น MOU ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีการตั้งบริษัทบริษัท สห โคเมเฮียว จำกัดทุนจดทะเบียน 135 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2018 ที่ผ่านมานี้เอง ที่สำคัญจุดรับซื้อสินค้าเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม บริเวณอาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ โดยนำช่างจากญี่ปุ่น 2 คนเข้ามาประจำ และยังส่งคนไทยไปเรียนรู้งานที่ญี่ปุ่นแล้ว

การเปิดจุดรับซื้อก่อนเพราะโคเมเฮียวไม่ต้องการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะต้องเสียภาษี 20% ทำให้ราคาที่วางขายกระโดดขึ้นมา เรื่องนี้เองก็เป็นความท้าทายที่สุดในเวลานี้ ด้วยคนไทยไม่ค่อยนิยมเอาแบรนด์เนมมาขายเป็นมือสอง

เพื่อแก้โจทย์นี้นอกจากโปรโมตในช่องทางออนไลน์ จึงได้เตรียม Event รับซื้อใหญ่ในวันที่ 18 – 21 กรกฎาคม ที่โรงแรมเอ็มโพเรียม สวีท โดยคาดว่าทั้งมีจะมีสินค้าเข้ามาขายราว 1 แสนชิ้น ถือเป็นจำนวนไม่เยอะเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มีกว่า 1.4 ล้านชิ้น

ขณะที่สาขากำลังอยู่ในระหว่างหาพื้นที่ไม่ไกลจากออฟฟิศมากนัก ต้องการขนาด 150 ตารางเมตร การตกแต่งจะหรูหราเหมือนที่ญี่ปุ่น คาดใช้งบราว 30 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ทันภายในปีบี้ ฐานลูกค้าที่วางไว้เบื้องต้นอายุ 35-50 ปี ผู้หญิงเป็นหลัก 70% ที่เหลือเป้นผู้ชาย โดยเป็นคนไทย 70% อีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน

ส่วนแผนในระยะยาวต้องการเปิดอีก 3 สาขา ในทำเลเช่นชิดลม หรือพร้อมพงษ์ เป็นต้น.