- Komehyo จับมือ สหพัฒน์ เปิดร้านรับซื้อ-ขายกระเป๋าและนาฬิกาแบรนด์เนมมือสอง สาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์
- วางเป้าภายใน 3 ปีมี 3-4 สาขา ยอดขาย 300-400 ล้านบาทต่อปี
- เปิดพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยช้อปแบรนด์เนมมือสองในสาขาที่ญี่ปุ่นปีละ 400-500 ล้านเยน ใช้จ่าย 2-3 แสนบาทต่อคนต่อครั้ง
- สินค้ายอดฮิตของคนไทย กระเป๋า Hermes และนาฬิกา Patek Philippe
หลังจากประกาศร่วมก่อตั้ง บริษัท สหโคเมเฮียว จำกัด มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และเริ่มเปิดศูนย์รับซื้อสินค้าในไทยที่ตึกสยามพิวรรธน์เมื่อ 6 เดือนก่อน ในที่สุดร้าน Komehyo (โคเมเฮียว) สาขาแรกในประเทศไทยได้ฤกษ์เปิดร้านขายอย่างเป็นทางการแล้วที่ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมสินค้าเบื้องต้น 1,000 กว่าชิ้น ทั้งกระเป๋าและนาฬิกาแบรนด์เนมขนมาจัดแสดงในร้านและบนหน้าเว็บไซต์
โดย “วิชัย กุลสมภพ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง เปิดเผยว่าฝั่งสหพัฒน์เป็นผู้สนใจ ‘จีบ’ ให้ Komehyo ยอมมาเปิดร้านที่ประเทศไทย เพราะทราบว่าคนไทยไปช้อปในร้านที่ญี่ปุ่นจำนวนมาก และ Komehyo เองเป็นร้านที่ได้รับการยอมรับ จากประวัติก่อตั้งยาวนาน 70 ปีและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น มีขั้นตอนการรับซื้อและขายชัดเจน โปร่งใส เสียภาษีตรงไปตรงมา
“ตอนแรกเขาไม่มั่นใจเพราะกลัวไม่มีคนนำของมาขายให้ แต่เราบอกว่า ตลาดไทยพัฒนาไปมากแล้ว คนไทยเดี๋ยวนี้รู้จักขายมากกว่าเก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้” วิชัยกล่าวถึงเบื้องหลังดีล
บริษัทแม่ฮุบ Brand off Tokyo แล้ว
ฝ่าย “ทาคุจิ อิชิฮาร่า” ประธาน บริษัท โคเมเฮียว จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่แบรนด์ Komehyo เข้ามาเปิดหน้าร้านนอกญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้เคยเปิดสาขาที่ฮ่องกงแต่เป็นศูนย์รับซื้อขายส่ง ไม่มีหน้าร้าน และมี 2 สาขาที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ แต่เป็นดีลร่วมทุนที่ใช้ชื่อแบรนด์ท้องถิ่นของบริษัทจีน ทำให้ไทยเป็นแห่งแรกที่เข้ามาพร้อมแบรนด์ตนเอง
ในญี่ปุ่นนั้น ธุรกิจของ Komehyo ทำเงินปีละกว่า 45,000 ล้านเยน เป็นบริษัทซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองอันดับ 1 ของประเทศ มีมาร์เก็ตแชร์ 18% จากมูลค่าตลาดของมือสองในญี่ปุ่นปีละ 2.5 แสนล้านเยน
แต่เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ในช่วงประชากรลดลง ทำให้บริษัทต้อง หาลู่ทางเติบโตนอกประเทศ จึงตอบรับดีลจากสหพัฒน์ โดยในญี่ปุ่นปัจจุบันมี 39 สาขา และกำลังจะเปิดเพิ่ม 3 สาขาภายในสิ้นปีนี้ แต่ที่จะเปิดเพิ่มนั้นเป็น “ศูนย์รับซื้อ”
ขณะที่ต่างประเทศมีโอกาสเป็นช่องทางจำหน่ายแทน อย่างในไทยจะมีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นด้วย แต่จะเน้นรับซื้อภายในประเทศมากกว่าเพราะการนำเข้าจากญี่ปุ่นจะต้องเสียภาษีเพิ่ม 5% ทำให้ราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ Komehyo เพิ่งเทกโอเวอร์ร้าน Brand off Tokyo คู่แข่งร้านขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง เนื่องจากร้านนี้แม้จะมีสาขาในญี่ปุ่นเพียง 8 สาขา แต่มีสาขาต่างประเทศทั้งไต้หวัน ฮ่องกง และไทยด้วย จะเป็นช่องทางให้ Komehyo ขยายไปต่างประเทศได้เร็วขึ้น
คนไทยช้อปเก่ง ซื้อแบรนด์เนมญี่ปุ่นปีละ 400-500 ล้านเยน
ด้านเป้าหมายในไทย “ฮิเดโอะ ทาเคโอะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเมเฮียว จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปีหน้าทำยอดขาย 54 ล้านบาท และภายในปี 2565 จะขยายเพิ่มเป็น 3-4 สาขา ทำให้มียอดขายแตะ 300-400 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดแบรนด์เนมมือสองไทยที่บริษัทประเมินว่าอยู่ที่ราว 2,000-3,000 ล้านบาท
เป็นตัวเลขที่สูงขึ้น 3 เท่า หากเปรียบเทียบกับข้อมูลของ Komehyo ว่า คนไทยเข้าไปช้อปในสาขาที่ญี่ปุ่นรวมเป็นเงินปีละ 400-500 ล้านเยน (ประมาณ 110-138 ล้านบาท) และในสัดส่วนผู้ซื้อ 15% ของร้าน Komehyo ที่เป็นชาวต่างชาติ คนไทยถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่อันดับ 2 รองจากชาวจีน โดยมีสัดส่วน 20-30% ในกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติทั้งหมด สถิตินี้เป็นสิ่งที่ทำให้การเปิดสาขาไทยน่าสนใจ
ช้อปครั้งละ 2-3 แสนบาท Hermes – Patek แบรนด์ในดวงใจ
ทาเคโอะกล่าวด้วยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคไทย แม้จำนวนคนไม่เยอะเท่าชาวจีนแต่แต่ละคน “จ่ายหนัก” เพราะถ้าคิดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งจะสูงถึง 2-3 แสนบาท!!
โดยแบรนด์ในดวงใจที่คนไทยชื่นชอบจากทั้งหมด 35 แบรนด์ที่ร้านรับซื้อขาย หากเป็นกลุ่มกระเป๋า ได้แก่ 1.Hermes (โดยเฉพาะรุ่น Berkin และ Kelly) 2.Chanel และ 3.Louis Vuitton ส่วนนาฬิกาข้อมือ ได้แก่ 1.Patek Philippe 2.Rolex และ 3.Audemars Piguet
สินค้าที่โชว์ในร้านส่วนใหญ่จึงเป็นของที่ตรงกับความชอบคนไทย และอยู่ในช่วงราคาหลักหมื่นถึงแสนเป็นหลัก แต่ถ้าดูในเว็บไซต์จะพบสินค้าหลักพันบาทให้เลือกเช่นกัน
ใช้ดาต้าเบสให้ราคาตลาด
เมื่อถามว่า Komehyo จะให้ราคารับซื้อดีกว่าร้านมือสองอื่นๆ หรือโรงรับจำนำหรือไม่ ทาเคโอะตอบว่า ‘บอกยาก’ แต่ร้านจะให้ราคาเหมาะสมตามราคาตลาดโลก ใช้ราคาเดียวกับญี่ปุ่น โดยบริษัทมีจุดเด่นด้วยดาต้าเบสการรับซื้อในญี่ปุ่นปีละ 1.6 ล้านชิ้น และมีการติดตามราคาประมูลของแบรนด์เนม ทำให้รู้การขึ้นลงของราคาตลาด
“ของบางชิ้นถ้าเป็นที่ต้องการในตลาด หายาก บางครั้งได้ราคาดีกว่าตอนซื้อมือหนึ่ง แต่ถ้าเป็นของทั่วไปและอยู่ในสภาพไม่ดีนัก ราคาจะอยู่ที่ 20-30% ของราคามือหนึ่ง” ทาเคโอะกล่าว “และของบางอย่างคนไม่รู้จัก ประเมินราคาไม่ถูก แต่เราเชื่อว่าเรารู้จักทุกแบรนด์ทุกรุ่น”