ยักษ์ใหญ่แบรนด์เนม “LVMH” รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2024 ยอดขายหดตัว 3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยทำรายได้ไป 1.9 หมื่นล้านยูโร
Reuters รายงานว่าผลประกอบการครั้งนี้ถือเป็นสภาวะยอดขายหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า LVMH จะยังคงแข็งแรงต่อต้านสภาพเศรษฐกิจหดตัวได้ และน่าจะยังเติบโตได้อีก 2% ในไตรมาสที่ผ่านมา
Jean-Jacques Guiony ซีเอฟโอ LVMH กล่าวว่าเหตุที่ผลประกอบการบริษัทสินค้าลักชัวรีตกต่ำลงหลักๆ เป็นเพราะกลุ่มลูกค้า “จีน” ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงเกิดโรคระบาด โดยยอดขายกลุ่มประเทศในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) นั้นยอดตกถึง 16% หนักขึ้นจากไตรมาส 2/2024 ที่ยอดตก 14%
ส่วนตลาดญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ดีเช่นกัน LVMH เปิดผลประกอบการว่ายอดขายตลาดญี่ปุ่นตกลง 20% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะค่าเงินเย็นแข็งขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่ปกติจะช้อปสินค้าแบรนด์เนมที่ญี่ปุ่น เลือกที่จะลดหรือไม่ซื้อกันมากขึ้น
เมื่อเจาะตามหมวดสินค้าแล้วจะเห็นว่าแผนกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง ซึ่งมีแบรนด์หลักคือ Louis Vuitton และ Dior คือหมวดที่ยอดขายตกหนักกว่าค่าเฉลี่ยบริษัท โดยยอดขายลดลง 5% และหมวดนี้คือหมวดสำคัญของ LVMH เพราะคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายรวม และมีสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 ของผลกำไรบริษัท
- CEO ‘Burberry’ แบรนด์ลักชัวรีโดน ‘เด้ง’ หลังยอดขายดิ่ง 21%
- ครึ่งปีแรก 2024 “Swatch Group” กำไรตก นาฬิกาลักชัวรีขายอืดในจีน-เงินฟรังก์แข็งค่ากระทบยอด
ก่อนหน้านี้มีช่วงหนึ่งที่บริษัทสินค้าลักชัวรีสามารถโกยรายได้ได้สูงมาก เพราะลูกค้าเน้นซื้อสินค้าแบบ ‘ช้อปล้างแค้น’ หลังจากโรคระบาดทำให้คนต้องติดอยู่กับบ้าน ไม่ได้ใช้เงินมานาน แต่เมื่อปี 2023 ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณว่าการช้อปล้างแค้นเริ่มจะเสื่อมความนิยมไป โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่างจีนที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนัก ปัจจุบันต้องหวังพึ่งว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนจะสามารถหมุนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และดีจนทำให้ลูกค้ากลับมาต้องการสินค้าไฮเอนด์อีกครั้ง
เฉพาะในตลาดจีนนั้นเห็นได้ชัดว่ากลุ่มลักชัวรีกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก การขายบนอีคอมเมิร์ซมีอัตราการยกเลิกสินค้าและขอคืนสินค้าสูงขึ้น เริ่มมีการแข่งขันลดราคา และมีการแข่งขันจากแบรนด์ท้องถิ่นที่ทำราคาถูกกว่า
สำนักข่าว Bloomberg ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า สาวจีนวัย 35 ปีคนหนึ่งที่ทำงานด้านการเงินในเมืองกวางโจว ที่ผ่านมาเคยมีงบช้อปปิ้งกระเป๋ารองเท้าหรูขั้นต่ำ 300,000 บาทต่อปี แต่เมื่อปีที่แล้วบริษัทของเธอตัดโบนัสลง 50% ทำให้เธอต้องลดงบช้อปปิ้งลง และไม่ซื้ออะไรที่ราคาเกินกว่า 25,000 บาทมานานแล้ว แต่เธอจะหันไปให้รางวัลตัวเองด้วยการท่องเที่ยวแทน