ภาพ : facebook.com/muji.thailand/
หลังจาก 30 ปีของการทำธุรกิจ MUJI ได้ค้นพบดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ เรียบง่ายในสไตล์มินิมอล โดยเชนเสื้อผ้าจากดินแดนอาทิตย์อุทัยโด่งดังในเรื่องปรัชญา “การไม่มีแบรนด์” ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพยาวนาน และตัดโลโก้แบรนด์ออกจากสินค้า แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เอกลักษณ์นี้กำลังย้อนกลับมาทำร้าย MUJI เสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กำไร” ที่หดหายไป
ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่ากว่าทศวรรษที่ผ่านมา MUJI ได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทอดยาวจากโตรอนโตถึงเซี่ยงไฮ้ โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากปี 2013 ถึงปี 2018
ในขณะที่ยอดขายอยู่ในขาขึ้น แต่น่าแปลกที่ Ryohin Keikaku บริษัทแม่ของ MUJI กลับรายงานว่า ยอดขายจากต่างประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% กลับทำ“กำไร” ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี
MUJI กำลัง “สูญเสียความสนใจของลูกค้า” ในประเทศจีน
การลดลงส่วนใหญ่เกิดจากความจริงที่ว่า MUJI กำลัง “สูญเสียความสนใจของลูกค้า” ในประเทศจีน จากแบรนด์ที่ออกแบบสินค้าคล้ายคลึงกัน เช่น Miniso, NOME และอื่นๆ มากมาย คู่แข่งเหล่านี้ภาคภูมิใจในการนำเสนอสุนทรียศาสตร์ที่เป็นกลางเหมือนกับของ MUJI แต่ขายใน “ราคาที่ต่ำกว่า” มาก
แต่ความแพงนี้มีที่มาไม่น่าแปลกหากสินค้าที่ขายในต่างประเทศจะมีราคาที่สูงกว่าที่ขายในบ้านเกิดด้วยตัวแปรที่ชื่อว่า “ภาษี” ซึ่งมีอัตราที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของ “ราคา” จึงกลายเป็นแรงกดดันที่สำคัญของ MUJI
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นสำนักข่าว Bloomberg ได้เดินเข้าไปในร้านของ MUJI ที่เซี่ยงไฮ้ โดยหยิบ “สมุดบันทึกเล่มเล็ก” ขึ้นมาแล้วพบว่า ในเมืองจีนมีราคาขาย 25 หยวน (3.64 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 112 บาท) เมื่อเทียบกับราคาที่ขายในญี่ปุ่นพบว่าแพงกว่าเล็กน้อย โดยมีราคาอยู่ที่ 315 เยน (2.92 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 90 บาท)
ราคาของสมุดยังถือว่าสมเหตุสมผลแต่เมื่อเทียบกับสินค้าอีกชนิดอย่าง “พัดลมพกพา” กลับพบว่า ราคา “แตกต่าง” กันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ MUJI วางขายในราคา 190 หยวน (27.64 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 854 บาท) แต่ถ้าคุณเดินไปที่ Miniso จะสามารถซื้อสินค้าชนิดเดียวกันนี้ในราคาเพียง 39.9 หยวน (27.64 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 179 บาท) เท่านั้น
ตั้งสำนักงานพัฒนาสินค้าสำหรับ “ชาวจีน” โดยเฉพาะ
เพื่อต่อสู้กับความแตกต่างของราคา ระหว่างร้านค้าในบ้านเกิดและร้านค้าในต่างประเทศ MUJI มีแผนที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ในประเทศที่พวกเขามีอยู่ ตัวอย่างเช่น ตั้งใจที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอินเดียมากกว่า 200 รายการ
ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตบางส่วนกำลังถูกย้ายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้นทุนแรงงานลดลง แต่ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างจะยังคงทำในประเทศญี่ปุ่น เช่น “เครื่องสำอาง” เนื่องจากสามารถควบคุมวัสดุดิบได้ดีกว่า
การปรับตัวเช่นนี้สะท้อนว่า ในที่สุดแบรนด์ก็ยอมรับว่า “ผลิตภัณฑ์ของตัวเองไม่ได้เหมาะกับทุกคนบนโลก” และยังต้องเปลี่ยนการรับรู้ด้วยว่าผู้คนทั่วโลกกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ของ MUJI เพียงเพราะนั้นคือ MUJI นักออกแบบในโตเกียวอาจไม่คุ้นเคยกับความต้องการของชาวจีนดังนั้น MUJI จึงต้องหาวิธีคิดเช่นจีนและการออกแบบสำหรับชาวจีนโดยเฉพาะ
Satoru Matsuzaki ประธานของ Ryohin Keikaku ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MUJI ยอมรับอย่างสุดซึ้งว่า MUJI จะต้องส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ “จำเป็นหรือขาดหายไปจากวิถีชีวิตของผู้บริโภคชาวจีน” เนื่องจาก “พวกเขาซื้อเรา (เพียงผู้เดียว) ในฐานะแบรนด์ MUJI”
เพราะฉะนั้นภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ MUJI กำลังจะเปิดสำนักงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่นี่พนักงานท้องถิ่นจะศึกษาแนวโน้มการใช้ชีวิตของชาวจีน และหวังว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคในตลาดที่มีกำไรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก