ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็เร่งผลักดันประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัว ด้วยเหตุนี้ ไมโครซอฟท์จึงเดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นในการมอบโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่ชาวไทยทุกกลุ่มในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อการบรรลุผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยมีเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ
เส้นทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับคนทุกกลุ่ม
นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 – มิถุนายน พ.ศ. 2562 ไมโครซอฟท์ได้สานต่อพันธกิจในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวนกว่า 1,600 คน และเยาวชนจำนวนกว่า 74,000 คน ทั่วประเทศ โดยภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ขยายโอกาสในการเข้าถึงทักษะด้านไอซีทีและทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่เยาวชนกว่า 800,000 คน ที่มีภูมิหลังที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มผู้พิการ และ ผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลอีกด้วย
เตรียมความพร้อมเยาวชนเริ่มต้นที่พื้นฐานและการสร้างให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงความรู้ด้วยเทคโนโลยี
นอกจากความมุ่งมั่นในการจัดฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่เยาวชนอย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังมองเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เราจึงได้สนับสนุนโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Library) ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์บนเว็บไซต์ www.nel.go.th โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง และสำนักงานหอสมุดแห่งชาติ จากความตั้งใจในการพัฒนาคลังองค์ความรู้ดิจิทัลและบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่ออำนวยความสะดวกทุกคนในการเข้าใช้งานและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยไมโครซอฟท์ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Library) ผ่าน 3 ฟีเจอร์หลัก ได้แก่ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ แชทบ็อท และระบบการเรียนออนไลน์ (E-Learning)
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 ไมโครซอฟท์ได้สานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าวด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หน่วยงานรัฐที่ผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างมีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศและภาคเอกชน ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนภาคการศึกษา ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาคส่วนที่มีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีสูงที่สุดก็ว่าได้ โดยไมโครซอฟท์ได้พัฒนากรอบข้อตกลง Education Transformation Agreement หรือ ETA ขึ้น เพื่อวางรากฐานให้กับความร่วมมือดังกล่าวใน 3 ระดับหลักๆ ได้แก่ ระดับนโยบายเชิงบริหาร (Leadership & Policy) การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 (21st Century Pedagogy) และการผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา (Technology Design) โดยกรอบข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสานต่อความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนภาคการศึกษาทั่วโลก ตลอดกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
เปิดเส้นทางสายเทคโนโลยีด้วยการจุดประกายความสนใจในสะเต็มศึกษา
“ภายในอีกสามปีข้างหน้า มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า 95% ของอาชีพในประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และ 65% ของอาชีพสำหรับคนรุ่นต่อไปจะไม่ใช่อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 เราได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 ส่งเสริมเยาวชนไทยพัฒนาทักษะทางดิจิทัลผ่านการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายเยาวชนให้หันมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเตรียมตัวให้พร้อมกับโลกยุคดิจิทัล และยังนับเป็นครั้งแรกที่เยาวชนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การเขียนโค้ดดิ้งในบทเรียนใหม่ล่าสุด Minecraft Voyage Aquatic ผ่านการท่องโลกใต้บาดาลอีกด้วย
ชั่วโมงแห่งการเรียนโค้ด หรือกิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 คน ประกอบด้วยเยาวชน อาจารย์ ผู้ฝึกอบรมในโรงเรียน และผู้พิการจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ
เสริมสร้างความสามารถจากการแข่งขัน พัฒนาตัวเองไปอีกขั้นกับ micro:bit พื้นฐานจากโค้ดสู่ IoT
นอกจากความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับหน่วยงานจากทางภาครัฐแล้ว เรายังได้จับมือกับพันธมิตรภาคเอกชนอย่าง บริษัท สิริเวนเจอร์ส จำกัด ในการจัดกิจกรรมการแข่งขัน “Smart Living with micro:bit” ครั้งแรกในประเทศไทย สนับสนุนเยาวชนให้สร้างสรรค์แนวคิดที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาโครงการด้วยการเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit ของบีบีซี เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยหันมาสนใจเรียนรู้และประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM) มากขึ้น
โลกของเทคโนโลยีเปิดกว้าง เป็นผู้หญิงก็ทำได้!
“รายงานของ World Economic Forum ระบุว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพด้าน AI ทั่วโลก มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง”
เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านดิจิทัลแก่เยาวชนทุกคนอย่างทั่วถึง ไมโครซอฟท์ตระหนักถึงความสำคัญของการลดช่องว่างระหว่างเพศในด้านสะเต็มศึกษาเป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงที่ศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษายังมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งทำให้เสียโอกาสในด้านการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากการขาดมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขาสะเต็มศึกษา อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชั่นเชิงสร้างสรรค์ได้
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับ บริษัท สิริเวนเจอร์ส จำกัด อีกครั้ง เพื่อจัดกิจกรรม #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ #MakeWhatsNext โครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่มุ่งมั่นจะที่สนับสนุนเด็กผู้หญิงในการประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษา โดยภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนา “จุดประกายอาชีพมาแรงในยุคปัญญาประดิษฐ์ ทำไมน้องผู้หญิงจึงควรศึกษาในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์” รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเขียนโค้ด และกิจกรรมการแข่งขันเสนอผลงานที่ประดิษฐ์ด้วยชุด micro:bit
กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากเด็กผู้หญิงชาวไทยจำนวนมาก และมีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 145 คน
นางสาวจุฬาลักษณ์ แตงเอี่ยม หนึ่งในสมาชิกของทีมนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขัน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า “ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ สมาชิกทุกคนในทีมของเราไม่เคยมีทักษะด้านการเขียนโค้ดมาก่อนเลย ซึ่งเราได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการเขียนโค้ดเป็นครั้งแรกจากการฝึกอบรมที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้น เรารู้สึกว่าการเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้เรา มันไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ เมื่อเอามาประกอบความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรารับรู้ว่าเราทำได้ โครงงานแบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันที่มีข่าวเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันหรือลดการสูญเสียได้ด้วยการใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
เสริมศักยภาพให้กับครู
นอกจากนั้น เรายังร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการแข่งขัน Thailand Innovative Teachers Leadership Awards ประจำปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ภายใต้แนวคิดการนำเครื่องมือของไมโครซอฟท์มาบูรณาการเพื่อบุกเบิกการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกวิชา ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในสาขาสะเต็มศึกษา การส่งเสริมเยาวชนยุค Gen Z ให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ 5 ด้าน ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม ภาษา และการดูแลตนเอง การสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งมีอาจารย์ทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน ด้วยเป้าหมายในการสนับสนุนให้อาจารย์นำเครื่องมือต่างๆ ของไมโครซอฟท์ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับเยาวชนไทย โดยอาจารย์ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศของโครงการทั้งหมด 5 ท่าน ยังจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย
นายภานุวัฒน์ เกียรตินฤมล หนึ่งในอาจารย์ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน จากโรงเรียนบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เจ้าของผลงานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการทางวิศวกรรม (STEM education) เพื่อสร้างนักประดิษฐ์ กล่าวว่า “แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของผมมาจากการที่ผมได้มองเห็นว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความสนุกในการเรียนของนักเรียน และยังช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดให้พวกเขาสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าการแข่งขัน Thailand Innovative Teachers Leadership Awards เป็นเวทีที่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในวิธีที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และมีขั้นตอนการแข่งขันที่เข้มข้น แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้รับมิตรภาพที่อบอุ่นจากผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ เพราะสุดท้ายแล้ว เราต่างก็เป็นครูที่มีจุดหมายร่วมกันในการพัฒนาเยาวชนเพื่อพัฒนาประเทศของเราต่อไป”
เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีให้กับตลาดแรงงานทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเล็งเห็นถึงความต้องการแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิทัล ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) จากความมุ่งมั่นในการเติมเต็มภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ไมโครซอฟท์จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวน 500 คน จาก 500 โรงเรียน โดยตั้งเป้าต่อยอดองค์ความรู้จากอาจารย์สู่นักเรียนในพื้นที่จำนวน 50,000 คน โดยได้โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (หนองพังแค) เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการที่จะได้รับการฝึกอบรมแบบเข้มข้นไปจนถึงช่วงปลายปี 2562 เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรทั้งหญิงและชายที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการแรงงานของตลาดในอนาคตโดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิทัล
“ผลการศึกษาโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พบว่า ในระหว่างปี 2562-2566 มีความต้องการจ้างงานใหม่ในพื้นที่ EEC จำนวน 475,668 อัตรา โดยคิดเป็นกลุ่มงานด้านดิจิทัลสูงสุดถึง 24 เปอร์เซ็นต์ หรือจำนวน 116,222 อัตรา1”
มุ่งมั่นให้โอกาสทางการศึกษาเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
ไมโครซอฟท์เชื่อมั่นมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างประโยชน์และปลุกพลังให้กับกลุ่มคนทุกกลุ่ม พร้อมดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
มีผู้พิการที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 5.8 และ 9.2 ตามลำดับ2
ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการกว่า 3.7 ล้านคน3 ซึ่งไมโครซอฟท์เล็งเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการมอบโอกาสในการเข้าถึงทักษะเชิงดิจิทัลสำหรับคนพิการ เพื่อปลุกพลังและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนพิการอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค ‘Industry 4.0’ ที่ทักษะดิจิทัลเป็นทักษะจำเป็นที่ต้องมีติดตัว
ไมโครซอฟท์ได้สนับสนุนส่งเสริมทักษะของผู้พิการอย่างต่อเนื่อง และในปี 2561 ไมโครซอฟท์จึงได้สนับสนุนการแข่งขัน “Accessible Learning Hackathon: Solving the Right Problems for Students with Disabilities” กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สนใจด้านเทคโนโลยี ได้ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของนักเรียนพิการ และร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบแอปพลิเคชันเพื่อช่วยขจัดอุปสรรคและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้นักเรียนพิการ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ไมโครซอฟท์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรมสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
โดยทีม Reborn to Step จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยผลงานแอปพลิเคชันที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวผ่านแช็ทบ็อทที่ช่วยตอบคำถามที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้พิการ และฟีเจอร์ที่ช่วยให้คนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือติดต่อกับจิตอาสาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้
เสริมแกร่งทักษะดิจิทัลให้กับอาจารย์เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ
ในยุค Thailand 4.0 นอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว การพัฒนา“คน”ให้มีทักษะดิจิทัล และ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะนำไปสู่การผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นฐานในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ดังนั้น การเรียนการสอนในปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศเพื่อผลักดันให้เยาวชนซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติรวมถึงการศึกษาไทย ให้ก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม และบุคลากรอาจารย์ก็ถือเป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าว
ไมโครซอฟท์ได้ดำเนินโครงการอบรมและการแข่งขันด้านทักษะดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการการเรียนการสอนให้กับอาจารย์ทั่วประเทศมาตลอดระยะเวลา 20 ปี
ด้วยความมุ่งมั่นในการเตรียมความพร้อมแก่ชาวไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ และพันธมิตร สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเชนจ์ ฟิวชั่น ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “สอนไพทอนอย่างไรให้นักเรียนมัธยมศึกษาทำโครงงานอย่างง่ายได้” แก่อาจารย์ไทยจำนวนกว่า 50 คน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นในอนาคตแก่เยาวชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ASEAN Digital Innovation” โดยมีวัตถุประสงค์ในการเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรในภูมิภาคอาเซียนจากทุกภูมิหลังด้วยทักษะเชิงดิจิทัลที่สำคัญอย่างเท่าเทียม
ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อผลักดันประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน
ในปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานหอสมุดแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ซึ่งการดำเนินงานของไมโครซอฟท์สอดคล้องกับภารกิจของภาครัฐ ในด้านการส่งเสริมและดำเนินการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อตอบรับกับความต้องการของประเทศโดยตรง และสอดคล้องกับโครงการ Coding Thailand ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนและครูชาวไทยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งไมโครซอฟท์เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เราสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้สำเร็จ
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า “ไมโครซอฟท์ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการมอบโอกาสการเข้าถึงเทคโลยีให้กับคนไทยทุกกลุ่มเพื่อปลุกพลังให้พวกเขาก้าวสู่ความสำเร็จอย่างเท่าเทียม ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทั้งสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ไมโครซอฟท์เชื่อมั่นในบทบาทของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมในเชิงบวก เราจึงมุ่งมั่นที่จะสานต่อโครงการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลต่อไปในอนาคต เพื่อให้คนทุกกลุ่มในสังคมได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”