ผลสำรวจชี้ “คน Gen Z” ให้ความสำคัญกับการนำเงินไปใช้จ่ายด้านการ “ท่องเที่ยว” มากกว่าเอาไปซื้อของ

Gen Z คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 16 – 24 ปี เป็นกลุ่มที่จะมากำหนดเทรนด์ในอนาคต กำลังอยู่ในวัยที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่และออกไปสำรวจโลกกว้าง ทำให้มีการคาดเดาเกี่ยวกับคน Gen Z และพฤติกรรมของคนรุ่นนี้ ตลอดจนมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นและการเดินทางเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม

Booking.com จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลทั่วโลกจากผู้เดินทาง Gen Z เกือบ 22,000 คนใน 29 ประเทศ/ภูมิภาค เกี่ยวกับความต้องการและสิ่งจำเป็นของผู้เดินทาง โดยผลที่พบไม่ได้มีเพียงแผนการเดินทางเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับชีวิตของคนรุ่นนี้อีกด้วย โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

นักผจญภัยใจมุ่งมั่น

แม้คน Gen Z จะเพิ่งก้าวผ่านจากวัยเด็ก แต่ส่วนใหญ่แล้วก็รู้แน่นอนว่าตัวเองต้องการอะไร และมีแผนเดินทางตามที่ตั้งเป้าไว้เรียบร้อยแล้ว

  • คน Gen Z มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการเดินทาง โดย 67% รู้สึกตื่นเต้นกับทุกที่ที่จะได้ไปเยือนในอนาคต
  • 4 ใน 10 (39%) วางแผนที่จะไปเยือนอย่างน้อย 3 ทวีปในช่วง 10 ปีนับจากนี้ และ 30% ตั้งใจว่าจะไปเรียนหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ (ผู้หญิง 34% และผู้ชาย 26%)
  • คน Gen Z เป็นนักเดินทางขาลุย โดย 56% ต้องการประสบการณ์ผจญภัยตอนไปเที่ยว เช่น เล่นพาราไกลดิ้ง บันจี้จัมพ์ และ 52% วางแผนว่าจะไปเที่ยวหรือเดินป่าในพื้นที่สุดท้าทาย
  • คน Gen Z ยังเป็นวัยที่สนใจพัฒนาทักษะของตนเองมากที่สุด ผ่านการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ระหว่างที่เดินทางในช่วง 10 ปีนับจากนี้ (33%)
  • คน Gen Z ไม่เพียงต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เท่านั้น แต่ 55% ของคนรุ่นนี้เลือกท่องเที่ยวในประเทศของตนเองเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

พร้อมลุยเดี่ยว

ชาว Gen Z จำนวนมากเริ่มเดินทางท่องเที่ยวโดยไปกับครอบครัว โดย 2 ใน 5 (42%) กล่าวว่าที่ต้องไปกับครอบครัวก็เพราะทำให้ได้ไปทริปที่ถ้าไปเองก็คงมีงบไม่พอ แต่เมื่อถึงเวลาที่พร้อมโบยบินออกจากรัง คน Gen Z ก็ต้องการที่จะลุยเดี่ยว

  • ความเป็นอิสระเป็นสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นนี้ให้ความสำคัญ โดยกลุ่มคน Gen Z วางแผนว่าจะเดินทางคนเดียวอย่างน้อยสักครั้งภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ผู้หญิง 36% และผู้ชาย 32%)
  • กลุ่มคน Gen Z มีความต้องการที่จะลุยเดี่ยวโดย 1 ใน 3 (33%) ชอบอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ตอนที่เดินทาง (มีสัดส่วนมากกว่าคนวัยอื่นๆ ทั้งหมด) 18% อยากไปแบ็คแพ็คคนเดียวหรือไปเที่ยวคนเดียวหลังเรียนจบ (gap year) 

ลิสต์จุดหมายห้ามพลาดเมื่อเดินทางไว้แล้ว

ผู้เดินทาง Gen Z กว่า 2 ใน 3 (69%) ลิสต์สิ่งที่อยากทำและสถานที่ที่อยากไปสักครั้งในชีวิตไว้เรียบร้อยแล้ว โดยตัวเลขพุ่งสูงถึง 74% ในกลุ่มสาวๆ Gen Z ในขณะที่ของหนุ่มๆ นั้นอยู่ที่ 64% ทั้งนี้เหตุผลที่คนรุ่นนี้มีลิสต์สิ่งที่ห้ามพลาดเมื่อเดินทางนั้นต่างกันออกไป:

  • ช่างฝัน: คนรุ่นนี้มากกว่า 2 ใน 5 (44%) กล่าวว่าทำลิสต์ขึ้นมาเพราะรู้สึกสนุกกับการจินตนาการถึงทุกที่ที่จะได้เดินทางไปต่อจากนี้
  • มีลิสต์ยาวไม่รู้จบ: เกือบ 1 ใน 4 (23%) กล่าวว่ารู้สึกพอใจหากได้ไปเยือนสถานที่ในลิสต์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะได้เพิ่มจุดหมายอื่นๆ ลงในลิสต์อีก นอกจากนี้ 32% ยังวางแผนว่าจะไปออกทริปตามลิสต์อย่างน้อย 5 ครั้งภายใน 10 ปีนับจากนี้ 
  • ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับจุดหมายยอดเยี่ยม: เกือบ 1 ใน 4 (23%) กล่าวว่าการมีลิสต์สิ่งที่ห้ามพลาดช่วยให้ได้รู้จักจุดหมายการเดินทางอันน่าทึ่งไปจนถึงจุดหมายที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
  • ได้แรงบันดาลใจจากไอจี: 44% ได้แรงบันดาลใจให้ออกไปผจญภัยจากการเห็นอินฟลูเอนเซอร์แชร์ภาพทริปผ่านสื่อออนไลน์ เช่น อินสตาแกรม (ไอจี)

การที่คนรุ่นนี้มีลิสต์สิ่งที่ห้ามพลาดนั้นไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาพรวมพฤติกรรมการเดินทางของคนรุ่นนี้อีกด้วย อันที่จริงแล้วมีคน Gen Z 31% ที่ยังไม่มีลิสต์นี้ ซึ่งเหตุผลที่ไม่มีก็แตกต่างกันไป เช่น:

  • 22% รู้สึกว่าความชื่นชอบของตนเองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ ซึ่งส่งผลต่อจุดหมายที่อยากไป
  • 1 ใน 5 (20%) ให้เหตุผลว่าต้องการเดินทางตามความรู้สึกในขณะนั้นมากกว่าและไม่อยากวางแผนล่วงหน้า
  • แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ คน Gen Z ที่กล่าวว่าไม่มีลิสต์สิ่งที่ห้ามพลาดเพราะอยากไปเที่ยวตามความรู้สึกในขณะนั้น กลับมีเปอร์เซ็นต์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มคนรุ่นอื่นๆ
  • ในบรรดาคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (55 ปีขึ้นไป) 49% ที่ไม่มีลิสต์จุดหมายห้ามพลาดนั้น มีถึง 3 ใน 10 (30%) ที่ให้เหตุผลว่าเพราะต้องการเดินทางตามความรู้สึกในขณะนั้นมากกว่า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในบรรดากลุ่มช่วงอายุทั้งหมดที่เข้าร่วมการสำรวจ ส่วนคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ (25 – 39 ปี) ก็ต้องการเดินทางตามความรู้สึกในขณะนั้นมากกว่าคน Gen Z เช่นกัน (26%)

การเดินทาง vs เป้าหมายชีวิต

คน Gen Z เติบโตมาในโลกที่ความผันผวนทางการเงินและเศรษฐกิจของโลกแทบกลายเป็นเรื่องปกติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากทำความเข้าใจกับมุมมองด้านการเงินของคนรุ่นนี้ (โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า คนรุ่นนี้มีแผนที่จะใช้เงินอย่างไรในช่วง 5 ปีนับจากนี้) ก็จะช่วยให้เข้าใจมุมมองโดยรวมเกี่ยวกับชีวิตของคนเจเนอเรชั่นนี้

คน Gen Z จำนวน 6 ใน 10 (60%) มองว่าการลงทุนกับการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเสมอ และเมื่อจัดลำดับสิ่งที่คนรุ่นนี้จะนำเงินไปใช้จ่าย ผลปรากฏว่า ออกเดินทางไปสำรวจโลกกว้างเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 1 ของคนรุ่นนี้ (65%) ส่วนการเก็บเงินเพื่อการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต” (ซื้ออสังหาริมทรัพย์) มาเป็นอันดับ 2 แต่ที่น่าสนใจคือ การใช้เงินซื้อของต่างๆ กลับอยู่ในอันดับท้ายสุด

เจาะลึกลำดับความสำคัญของ Gen Z

เมื่อถามถึงลำดับความสำคัญของสิ่งที่คน Gen Z จะนำเงินไปใช้จ่าย การเดินทางท่องเที่ยวมาเป็นอันดับแรกในตัวเลือก 5 ใน 7 ของ Gen Z โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการซื้อสิ่งของหรือใช้เงินไปกับประสบการณ์ที่เพลิดเพลินได้เพียงชั่วขณะ โดยการเดินทางอยู่ในอันดับสูงกว่าสิ่งต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์ไอทีและแกดเจ็ตต่างๆ การไปทานอาหารตามร้าน รวมถึงสปาทรีตเมนต์และทรีตเมนต์เสริมความงาม  

ไม่ขอประจำอยู่ที่ออฟฟิศ

คน Gen Z มองว่าการทำงานเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในชีวิต ไม่ว่าจะกำลังอยู่ในช่วงหางานหรือเริ่มทำงานแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่คนรุ่นนี้จะจัดอันดับให้การได้งานเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต (80%) แต่เพราะการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่คนเจเนอเรชั่นนี้ให้ความสนใจอย่างมาก นายจ้างที่มีโอกาสรับคนกลุ่มนี้เข้าทำงานก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

โดยคน Gen Z ถึง 54% กล่าวว่าสิ่งสำคัญเวลาเลือกงานก็คือ จะต้องมีโอกาสได้เดินทางไปทำงานที่อื่น นอกจากนี้เกือบ 6 ใน 10 (57%) ยังกล่าวอีกว่างานที่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นงานที่น่าดึงดูด

สำหรับการสำรวจข้อมูลนี้เป็นงานวิจัยอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจาก Booking.com ซึ่งสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 21,807 คนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ขึ้นไป (25% อยู่ในช่วงอายุ 16 – 24 ปี) ใน 29 ประเทศ/ภูมิภาค (ประเทศ/ภูมิภาคที่มีผู้เข้าร่วม 1,000 คน ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี จีน บราซิล อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินโดนีเซีย โคลอมเบีย และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศ/ภูมิภาคที่มีผู้เข้าร่วม 600 คน ได้แก่ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ไทย อาร์เจนตินา เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฮ่องกง โครเอเชีย ไต้หวัน เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สิงคโปร์ และอิสราเอล) การสำรวจข้อมูลมีขึ้นในระหว่างวันที่ 1 – 16 พฤษภาคม .. 2562 โดยเป็นแบบสอบถามทางออนไลน์ การสำรวจและคัดผู้เข้าร่วมทั้งหมดดำเนินการโดย Vitreous World และวิเคราะห์ข้อมูลโดย Ketchum Analytics เว้นแต่จะระบุเป็นอื่น.