ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยในวันนี้กำลังเปลี่ยนไป มีการใช้มือถือในระยะเวลาที่นานขึ้น ผลสำรวจบอกว่า ผู้ใช้ 35.6% ในมือถือมากกว่า 2 ปีถึงจะเปลี่ยนเครื่องใหม่, 35.1% ในเวลา 1 – 2 ปี, 18.8% อยู่ที่ 1 เดือน – 1 ปี ที่เหลือ 10.3%
โดยเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ ทั้งราคาโทรศัพท์มือถือที่มีราคาสูงขึ้นหรือการขายต่อในราคาที่ต่ำมาก ทั้งผลสำรวจและปัจจัยที่กล่าวไปจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนในปีที่ผ่านมาลดลง 8.6% เหลือราว 19.2 ล้านเครื่อง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมของ “สุทธิเกียรติ กิตติภัทรากุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด กลับมองว่าเป็นโอกาสของตัวเอง เพราะยังมีผู้บริโภคบางส่วนต้องการมือถือเครื่องใหม่ เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี
กลายเป็นที่มาของการจับมือระหว่าง “โกลด์ อีลิท ปารีส (ประเทศไทย” ซึ่งจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ทำจากทองคำ มีประสบการณ์ในวงการกว่า 12 ปี และ “เอสซีไอ อีเลคตริค” ซึ่งทำธุรกิจผลิตตู้ควบคุมไฟฟ้า และรางเดินสายไฟ รวมทุนในสัดส่วน 51:49 จัดตั้ง “บริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด” เบื้องต้นมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท และจะทยอยเพิ่มทุนให้ครบ 200 ล้านบาท
“ยืมมั้ย” เป็นบริการให้บริการยืมโทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” รุ่นยอดนิยมและรุ่นใหม่ล่าสุด ทั้ง Apple – Samsung – Huawei มาพร้อมฟรีค่าโทรและค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือน ทำทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชั่น ตั้งแต่จองเครื่อง นัดรับ ชำระเงิน
โดยมีการจับมือกับผู้ให้บริการในธุรกิจอื่นๆ อีกได้แก่ AIS ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือพร้อมแพ็กเกจ, เมืองไทยประกันภัย ดูแลรับประกันตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือตลอดการใช้งาน และ คอมเซเว่น (COIII7) พันธมิตรจุดรับบริการลูกค้ายืมมั้ยผ่านศูนย์ iCare
“สุทธิเกียรติ” ระบุว่า เมื่อเทียบกับการซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ภาพรวมจะถูกกว่าราว 20 – 25% โดยยกตัวอย่าง iPhone XR ราคาเครื่องอยู่ที่ 29,900 บาท ค่าบริการรายเดือน 599 บาท เบ็ดเสร็จ 1 ปีจะต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น 37,000 บาท ถ้าต้องการขายเครื่องเพื่อซื้อใหม่ราคาจะลดลงไปทันที 65 – 70% เมื่อเทียบกับบริการยืมมั้ยจะจ่ายราว 20,000 บาท
เบื้องต้นมีให้บริการ 4 รุ่นและจะทยอยเพิ่มให้ครบ 10 รุ่นในเวลาต่อไป สำหรับแพ็กเกจมีราคาเริ่มต้น 900 บาทต่อเดือน และค่ามัดจำเริ่มต้น 575 บาทต่อเดือน สำหรับสัญญาเช่า 12 เดือน (365 วัน) โดยจะได้รับเครื่องใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าประกันซึ่งจะรับผิดชอบ 90% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหน้าจอแตก หรือ ตกน้ำ เป็นต้น หากทำหายลูกค้าจะต้องจ่าย 100%
จับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ พ่อแม่ที่ต้องการซื้อมือถือให้บุตรหลาน และผู้ที่มองหาทางเลือกใหม่ของการใช้สมาร์ทโฟน คุณสมบัติอย่างเดียวที่ต้องมีคือ “บัตรเครดิต” เพราะเมื่อเลือกผ่อนจะมีการตัดเงินทุกเดือนเหมือนการผ่อนสินค้าทั่วไป และเมื่อเข้าปีที่ 2 จะมีระบบ AI ของ SCB เข้ามาช่วยคัดกรอง
นอกจากนี้ยังต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการใช้โทรศัพท์ในธุรกิจหรือเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงานซึ่งได้ตั้งเป้าหมายช่องทางการจำหน่ายให้แก่กลุ่มองค์กรจำนวน 15,000 เครื่องต่อปี โดยแบ่งสัดส่วนเป็นลูกค้าทั่วไป 70% และลูกค้าองค์กร 30%
“เราตั้งเป้าในปีแรกจะมียอดการยืม 100,000 เครื่องต่อปี ในแง่ของการทำธุรกิจความเสี่ยงที่สุดของยืมมั้ยคือการที่ลูกค้าทำหาย ซึ่งคาดว่าจะมีราว 5 – 10% ส่วนเครื่องที่ถูกยืมไปแล้วหลังครบสัญญาจะเปิดให้เช่าต่อเป็นมือสอง ในราคาที่ลดลงมา”
รายได้ของ “ยืมมั้ย” มาจากการเป็นผู้บริหารจัดการแพลตฟอร์ม โดยตั้งเป้าคืนทุนในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ยืมมั้ย” จะได้ราคาเครื่องที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับลูกค้าทั่วไป เพราะมีการซื้อจำนวนมาก เช่นเดียวกับซิมที่มีลักษณะเหมือนกัน
อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการที่ “ยืมมั้ย” จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับ “ยืม” สินค้าชนิดอื่นๆ ทั้งกล้องถ่ายภาพ คอมพิวเตอร์ จักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เน้น High-end เป็นหลัก ไปจนถึงการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อในที่สุด โดยอีก 3 เดือนจะเพิ่มสินค้าชนิดอื่นๆ เข้ามา แต่ยังไม่สามารถบอกได้จะเป็นสินค้าชนิดไหน กำลังอยู่ในระหว่างพูดคุย