จับตาศึกจัดทำเรตติ้งทีวี “สมาคมทีวีดิจิทัล” องค์กรกลางรับเงิน กสทช. 431 ล้าน วางเงื่อนไขเคาะเลือกรายใหม่

อีกมาตรการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44  คือแนวทางสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งทีวี โดย กสทช. เตรียมจัดสรรเงินงบประมาณ 431 ล้านบาท ให้กับองค์กรกลางที่มีทีวีดิจิทัลเป็นสมาชิกเป็นผู้ตัดสินใจเลือกนำเงินไปว่าจ้างบริษัทจัดทำเรตติ้งทีวีใหม่ โดยทุกขั้นตอนจะสรุปในเดือน ..นี้

วันนี้ (25 ก.ค.) สำนักงาน กสทช. เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อและใช้ข้อมูลเรตติ้งทีวี ทั้งทีวิดีจิทัล สมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย ผู้จัดทำเรตติ้งในประเทศไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์ผู้ซื้อสื่อโฆษณา มีเดีย เอเยนซี ผู้ผลิตคอนเทนต์ มาหารือแนวทางการจัดทำเรตติ้งทีวี

พร้อมทั้งให้ผู้เสนอตัวจัดทำระบบเรตติ้ง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ PSI ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียม, เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดทำเรตติ้งทีวีปัจจุบัน และสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA มานำเสนอระบบจัดทำเรตติ้ง ให้คณะกรรมการเยียวยาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อ ศึกษาระบบจัดทำเรตติ้งของแต่ละราย

“สมาคมทีวีดิจิทัล”คนเคาะเลือกผู้จัดทำเรตติ้ง

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 กำหนดให้ กสทช.เป็นผู้จัดเงินสนับสนุนทีวีดิจิทัลจัดทำระบบเรตติ้ง ซึ่ง กสทช. กำหนดเบื้องต้นไว้ 431 ล้านบาท โดยอาจน้อยกว่านี้ได้ แต่จะไม่มากไปกว่านี้

ขั้นตอนการ “จ่ายเงิน” สนับสนุน 431 ล้านบาท กสทช.จะจ่ายผ่าน “องค์กรกลาง” ที่ทีวีดิจิทัลเป็นสมาชิกและจัดตั้งมา 5 ปีขึ้นไป ปัจจุบันองค์กรกลางที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ สมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย หลังจากองค์กรกลางเลือกบริษัทที่จะว่าจ้างจัดทำเรตติ้งแล้ว กสทช.จะจ่ายเงินสนับสนุน คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค.นี้ โดย กสทช. ยังมีหน้าที่กำกับดูแลการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนต่อไป

สุภาพ คลี่ขจาย

สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากนี้ สมาคมจะกลับไปหารือกับสมาชิกเพื่อกำหนด “เงื่อนไข” การคัดเลือกบริษัทจัดทำเรตติ้ง เบื้องต้น เงื่อนไขที่วางไว้ คือ ต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รวมทั้งต้องฟังเสียงจาก “มีเดีย เอเยนซี” ซึ่งเป็นผู้ใช้ข้อมูลและผู้วางแผนใช้เม็ดเงินโฆษณาให้กับเจ้าของสินค้าต่างๆ ด้วย

“การตัดสินใจเลือกผู้จัดทำเรตติ้งที่จะได้รับเงินสนับสนุนจาก กสทช. จะใช้มติเอกฉันท์ของสมาชิก”

“พีเอสไอ” โชว์จุดขายวัดเรตติ้งเรียลไทม์

สำหรับการการนำเสนอระบบเรตติ้งของทั้ง 3 ราย ให้วิธีจับฉลากเลือกลำดับการนำเสนอโดย “พีเอสไอ” เป็นรายแรก ตามด้วย นีลเส็น และ MRDA

สมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ PSI กล่าวว่า พีเอสไอ เป็นเจ้าของโครงข่ายแพลตฟอร์มดาวเทียม เริ่มทำระบบเรตติ้งจากกล่องทีวีดาวเทียมตั้งแต่ปี 2554 ช่วงแรกติดตั้งซิมมือถือในกล่องทีวีดาวเทียม จำนวน 2,000 ครัวเรือน ที่สามารถเรียกดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

ในยุคทีวีดิจิทัล ปี 2560 พีเอสไอได้อัพเกรดระบบวัดเรตติ้งทีวีดาวเทียมใหม่ ด้วยกล่อง S3 Hybrid ระบบวัดเรตติ้งจากกล่องทีวีดาวเทียม ที่มีซอฟต์แวร์วัดจำนวนผู้ชมทั้งหน้าจอทีวีคู่กับการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง ไอพีทีวี ยูทูบ รายงานผลผ่านแอปพลิเคชั่น PSI Rating บนมือถือและแท็บเล็ต ที่สามารถรายงานผลได้แบบ “เรียลไทม์” ปัจจุบันมีฐานข้อมูลวัดเรตติ้งจากกล่องทีวีดาวเทียมจำนวน 1.35 แสนกล่อง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สินธุ์ เภตรารัตน์

“นีลเส็น” ให้ทีวีดิทัลใช้ฟรี  5 ปี

สินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจมีเดีย นีลเส็น ประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมา กล่าวว่า นีลเส็น มีธุรกิจอยู่ทั่วโลกใน 106 ประเทศ มี 56 ประเทศที่นีลเส็นเป็นผู้จัดทำเรตติ้ง รวมทั้งประเทศไทยที่จัดทำระบบเรตติ้งมา 30 ปี ปัจจุบันอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีมูลค่า 70,382 ล้านบาทในปี 2561 มีสัดส่วนมาจากบริษัทต่างชาติแบรนด์ระดับโกลบอล 54% ธุรกิจท้องถิ่น 46% ซึ่งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แบรนด์ จะใช้ข้อมูลเรตติ้งที่เป็นสากล ในการลงทุนใช้งบโฆษณา

ที่ผ่านมานีลเส็นได้พัฒนาระบบวัดเรตติ้งใหม่มาอย่างต่อเนื่องทั้งจอทีวีและดิจิทัล แพลตฟอร์ม รวมทั้งการวัดเรตติ้งเนื้อหาโฆษณา ซึ่งเป็นการปรับระบบไปตามพฤติกรรมการรับชมชองผู้ชม

หาก กสทช. และสมาคมทีวีดิจิทัล นำเสนอสนับสนุนการจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ มาว่าจ้าง “นีลเส็น” เงื่อนไขที่จะนำเสนอคือให้ทีวีดิจิทัลใช้ข้อมูลเรตติ้งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 5 ปี  

วรรณี รัตนพล

MRDA ผนึก 5 พันธมิตรชิงจัดทำเรตติ้ง

วรรณี รัตนพล นายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA กล่าวว่าสมาคมได้ร่วมขับเคลื่อนการจัดทำระบบเรตติ้งใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสื่อทีวีในประเทศไทย ร่วมกับทีวีดิจิทัลและมีเดียเอเยนซี ที่ใช้ข้อมูลเรตติ้งมาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจาก “ไม่แฮปปี้” กับระบบเรตติ้งทีวีเดิม

สำหรับการจัดทำเรตติ้งของ MRDA มีพันธมิตร 5 รายระดับโลก คือ กันตาร์, อินเทจ กรุ๊ป, Mediametrie ทำเรื่อง มิเตอร์เทคโนโลยี, Markdata ดูแลซอฟต์แวร์รายงานผล และ CESP องค์กรตรวจสอบ

โดยจะติดตั้งอุปกรณ์วัดเรตติ้งเครื่องรับชมทีวี 4,500 ชุด จำนวน 3,000 ครัวเรือน และอุปกรณ์วัดเรตติ้งบนอุปกรณ์รับชมที่เป็นสมาร์ทดีไวซ์ ในกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน เพื่อรายงานข้อมูลเรตติ้งทั้งจอทีวีและดิจิทัล แพลตฟอร์มแบบคู่ขนาน โดยจะใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ 12-15 เดือน และเริ่มรายงานข้อมูลเรตติ้งได้ในเดือน ม.ค. 2564

MRDA เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ข้อมูลเรตติ้งที่จัดทำจะแบ่งปันให้องค์กรสาธารณะอื่นๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษานำไปใช้ประโยชน์”

ประวิทย์ มาลีนนท์

อดีตบิ๊กช่อง 3 ชงของบเพิ่ม

หลังจากผู้จัดทำเรตติ้งทั้ง 3 รายได้นำเสนอระบบการจัดทำเรตติ้งแล้ว มีความเห็นจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทีวี โดย ประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3  บอกว่า ปัจจุบันรายได้โฆษณาทีวีลดลงเหลือ 1 ใน 3 โดยกระจายไปยังสื่อใหม่ และผู้ประกอบการทีวีในปัจจุบันมีรายได้ลดลง จึงมองว่าทีวีดิจิทัลไม่ควรต้องเป็นผู้จ่ายเงินซื้อเรตติ้งเหมือนที่ผ่านมา และขอเสนอให้ กสทช.พิจารณางบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม จากที่เตรียมมอบให้ 431 ล้านบาท

ระยะเวลาใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ยังเหลืออีก 10 ปี และจำนวนช่องที่เหลืออยู่ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณจัดทำเรตติ้งราว 1,200 ล้านบาท หรือปีละ 120 ล้านบาท จึงเสนอให้ กสทช.สนับสนุนเพิ่มเติมอีก 800 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดทำเรตติ้งจนจบอายุใบอนุญาต

พัฒนพงค์ หนูพันธ์

ขณะที่ พัฒนพงค์ หนูพันธ์ ผู้บริหาร ช่อง 7 กล่าวว่า ต้องการให้ กสทช.พิจารณาสนับสนุนงบจัดทำเรตติ้งให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และอุตสาหกรรมควรพิจารณาเลือกบริษัทที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว.