เป็นครั้งแรกที่ “LINE ประเทศไทย” ซึ่งเข้ามาบุกเบิกธุรกิจได้ 6 ปี จัดงานแถลงใหญ่ประจำปี ภายใต้ชื่อ “LINE CONVERGE THAILAND 2019” ภายในงานนี้เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ใหม่ “Life on LINE” รวมถึงการประกาศการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สำคัญสำหรับตลาดในประเทศไทย
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งาน LINE ประเทศไทยมีจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็น 78% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ในจำนวนนี้ 53% เป็นผู้ชาย ที่เหลือ 47% เป็นผู้หญิง จากสถิติพบว่า คนไทยใช้งาน LINE มากถึง 26 วันต่อเดือน และมีอัตราการเปิดใช้งานสูงถึง 93%
“Life on LINE” เพิ่มระยะเวลาการใช้งานให้นานขึ้น
อึนจอง ลี รองประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลก LINE คอร์ปอเรชั่น เป็นรายแรกที่ขึ้นมาบนเวที เพื่อประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของ LINE คือ “Life on LINE” ต้องการป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับทุกคน แม้ทุกวันนี้บริการต่างๆ ของ LINE ไม่ได้เป็นแค่บริการแพลตฟอร์มแชทอีกต่อไป
แต่ครอบคลุมทั้งเรื่องของคอนเทนต์ทั้ง LINE TV, LINE Today, LINE Stickers ความบันเทิงจากเกมต่างๆ O2O ทั้งในส่วนของ LINE MAN, LINE Jobs และ LINE Shopping สุดท้ายคือฟินเทค ที่มีพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Rabbit LINE Pay ก็ตาม
เป้าหมายของ LINE ต้องการเพิ่มระยะเวลาใช้งานบนแพลตฟอร์มของลูกค้าให้เพิ่มขึ้น จึงได้ตั้งเป้าหมายใหม่ขึ้นมาครอบคลุมใน 3 ส่วน คือ หนึ่ง การเชื่อมต่อธุรกิจออฟไลน์และออนไลน์ (OMO : online-merge-offline) โดยเปิดตัว LINE Mini App ที่เข้ามาช่วยจัดการร้านค้าต่างๆ
สอง การพัฒนาบริการสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินให้สะดวกมากขึ้น ซึ่งนอกจาก Rabbit LINE Pay ยังได้จับมือกับ ธนาคารกสิกรไทย ตั้ง KASIKORN LINE สำหรับพัฒนาบริการทางการเงิน ซึ่งจะทำให้ LINE กลายเป็นธนาคารบนสมาร์ทโฟน ภายในต้นปีหน้าจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลเชิงลึก, การกู้ยืม, ประกัน และการลงทุน
สามการนำ AI เข้ามาช่วยยกระดับระดับการใช้งานของ LINE ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำ AI มาช่วยในฟีเจอร์สำหรับการแนะนำบริการแบบเฉพาะบุคคลในการค้นหาการใช้บริการ LINE TV, Sticker Shop, โฆษณา และอื่น ๆ
แต่ล่าสุดได้เปิดฟีเจอร์ใหม่ Smart Channel ที่เรียนรู้จากพฤติกรรมความสนใจของผู้ใช้ ไปสู่การนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
4 บริการใหม่ที่เห็นแน่ๆ ในเมืองไทย
ขณะเดียวกันนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ “พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่ของ LINE ประเทศไทย ออกมาพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ โดยแม่ทัพคนใหม่กล่าวว่า
การขึ้นมาเป็น CEO ไม่ได้มองว่าเป็นความท้าทาย แต่มองเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น อยากจะทำและทำให้สนุก โดยมีเป้าหมายการสร้างผลิตภัณฑ์และฐานผู้ใช้ มากกว่าที่จะโฟกัสเรื่องรายได้และกำไร
สำหรับในครึ่งปีหลังนี้ LINE ได้เปิดบริการใหม่ถึง 4 บริการ ได้แก่
- LINE Shopping เป็นการรวมแหล่งออนไลน์ช้อปปิ้งไว้ในที่เดียว เช่น Lazada และ Shopee เป็นต้น ข้างในจะมีฟีเจอร์ทั้งค้นหาสินค้า เปรียบเทียบราคา ถ้าซื้อก็จะได้ LINE Points นอกจากนั้นยังตั้งรายการสินค้าที่ต้องการซื้อ (wish list), การแจ้งเตือนเมื่อสินค้านั้นๆ ราคาลดลง
- LINE MAN บริการที่คิดค้นโดยคนไทย วางเป้าหมายจะครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ๆ ภายในต้นปี 2020 เตรียมขยายไปยังพื้นที่ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต
- LINE MAN Grocery ซึ่งเป็นผลมาจากการทดลองโมเมนต์มาร์เก็ตติ้งในช่วงที่ผ่านมา โดยยิงโปรโมชั่นไปยังช่วงเวลาที่ลูกค้ากำลังต้องการ ผ่านแคมเปญใหญ่ของ LINE MAN ผลปรากฏว่า ยอดขายชาไข่มุกเติบโต 50 เท่า และเอแคลร์ ของร้าน After You ขายได้ 2 แสนชิ้น จึงเพิ่มบริการ Grocery สำหรับซื้อสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นมา
- LINE MELODY จากข้อมูลพบว่า ผู้ใช้งานกว่า 50% ใช้ LINE Call ทุกวัน จึงได้เพิ่มฟีเจอร์นี้ที่สามารถนำเพลงยอดนิยมมาเป็นเมโลดี้หรือริงค์โทนได้ ขณะนี้ได้ตกลงร่วมมือกับค่ายเพลงรายหนึ่งไปแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นใคร
เปิดให้ใช้ LINE Points เป็นส่วนลดในร้านค้า 6 หมื่นร้าน
ฟาก LINE Points ซึ่งเป็นระบบสะสมคะแนนของ LINE จากฐานผู้ใช้ LINE 44 ล้านราย มี LINE Points ราว 13 ล้านราย เพื่อกระตุ้นให้ยอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นจึงได้เชื่อมกับ Rabbit LINE Pay ต่อไปสามารถนำคะแนนไปเป็นส่วนลดในร้านค้าทั้ง 6 หมื่นร้านที่มีในปัจจุบัน โดย 1 คะแนนเท่ากับ 1 บาท
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Rabbit LINE Pay กว่า 6 ล้านบัญชี และมีการผูกกับบัตรเครดิต / เดบิตกว่า 4 ล้านใบ และมีผู้ลงทะเบียนสร้าง e-wallets กว่า 5 ล้านราย
LINE for Business “ปรับราคา – เพิ่มฟีเจอร์ใหม่”
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตรร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย เป็นผู้บริหารรายสุดท้ายที่ขึ้นมาบนเวที เรื่องแรกที่พูดคือการประกาศปรับราคาใหม่ของ LINE Official Account หลังจากพบว่า ลูกค้าเริ่มมี Feedback เกี่ยวกับราคาเข้ามา นับตั้งแต่ปรับราคาใหม่เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา
ภายในงาน LINE CONVERGE THAILAND 2019 จึงได้มีประกาศ “ปรับแพ็กเกจใหม่” อีกครั้ง โดยแพ็ก Free จะได้เพิ่มข้อความจาก 500 เป็น 1,000
ส่วน BASIC ถึงแม้ว่าจะราคาจะเพิ่มขึ้นจาก 500 บาทต่อเดือน เป็น 1,200 บาท แต่จำนวนข้อความได้เพิ่มจาก 2,500 เป็น 15,000 ส่วนข้อความที่เกินไปจากฟรีได้ปรับจาก 0.3 บาท เป็น 0.08 บาท ซึ่งลดลงถึง 60%
อ่านต่อ >> LINE Official Account หั่นราคาอย่างน้อย 60% สำหรับ “ลูกค้าชาวไทย” เท่านั้น มีผล 1 สิงหาคมเป็นต้นไป
ส่วนแพ็ก PRO ราคาเท่าเดิมที่ 1,500 บาทต่อเดือน แต่จำนวนข้อความได้เพิ่มจาก 10,000 เป็น 35,000 บาท และราคาต่อข้อความที่เกินจากข้อความฟรีได้ปรับจาก 0.1 บาท เป็น 0.04 บาทต่อข้อความ ลดลง 60% เช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น LINE ใจป้ำ “ลดราคา” ในส่วนของลูกค้า Corporate ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้าน เหลือ 1 สตางค์ ลดจากเดิมถึง 90% จากราคา 10 สตางค์ต่อข้อความ
สำหรับกลุ่มที่ยังใช้แพ็กเกจของ LINE@ ซึ่งเดิม LINE มีกำหนดย้ายมาเป็น LINE Official Account ทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้ ได้ขยายระยะเวลาไปถึงปีหน้า แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะถึงเมื่อไหร่ ซึ่งกลุ่มที่ใช้ LINE@ ยังสามารถใช้ราคาเดิมได้อยู่ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง LINE จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนา LINE OA Plus ซึ่งนำไปไปใช้คู่กับโซลูชั่นทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฝ่าย HR ภายในองค์กร เพื่อนำมาใช้ในบริษัท โซลูชั่นเกี่ยวกับภาคการศึกษา ที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้งานเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารของโรงเรียนให้ผู้ปกครอง ไปจนถึงภาครัฐที่จะนำบริการของภาครัฐมาให้ประชาชนใช้งาน
รวมไปถึง OA Plus E-Commerce ซึ่งลูกค้าจะสามารถซื้อสินค้าได้ตรงผ่าน LINE Official Account ของแบรนด์ โดยไม่ต้องสวิตซ์ไปใช้แอปพลิเคชั่นอื่น โดยมีฟีเจอร์ LINE2SHOP ซึ่งมี MAC Cosmetics เป็นพันธมิตรแบรนด์แรกในการเปิดตัวบริการนี้ รวมถึงพันธมิตรที่ร่วมมือทางด้านระบบ อาทิ aCommerce และ Akita
นอกจากนี้ในส่วนของนักการตลาดได้เพิ่มอีก 2 ฟีเจอร์คือ Slide ad บน LINE TODAY ซึ่งปัจจุบันเข้าถึงคนไทยถึง 36 ล้านคน โดย Slide ad จะอยู่บนเฮดไลน์ด้านบนสุด จากการทดลองพบว่ามีอัตราการมองเห็นถึง 90%
และ Smart Channel พื้นที่โฆษณาที่อยู่ด้านบนของหน้า chat list เพื่อให้นักการตลาดสามารถส่งข้อความโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ใช้งานจะได้รับข้อความโฆษณาที่ตรงกับความสนใจมากขึ้น
สุดท้ายในส่วนของคอนเทนต์ได้มีการประกาศเปิดตัว LINE IDOL อย่างเป็นทางการ หลังจากได้ทดลองมาประมาณ 2 ปี ปัจจุบันนอกจากหมวดคนดังและนักเขียนบล็อก ยังได้เพิ่มเพิ่มหมวดหมู่ Business สำหรับคอนเทนต์จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และ Sports สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับกีฬาต่างๆ เข้ามา
“สำหรับกลุ่ม Publisher ที่กังวลเรื่องราคาที่ต้องจ่ายมากขึ้นเมื่อปรับเป็น LINE Official Account เราขอแนะนำให้มาสมัคร LINE IDOL ซึ่งสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม ในราคาที่ถูกลง เพียงแต่ต้อง Broadcasts ตามที่กำหนดเท่านั้น”