เจาะเรื่องเล่า Brand Story รถยนต์ SUBARU กับกลยุทธ์ความร่วมมือเปิดตัวโรงงานประกอบรถแห่งแรกในไทย


จากกระแสความนิยมของรถยนต์ Subaru ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในกลุ่มผู้ใช้แถบยุโรปและอเมริกา ขยายมายังกลุ่มผู้ใช้ในประเทศไทยหลังจากที่ได้เข้าไปทดลองและสัมผัสประสบการณ์การขับขี่ จนมีกลุ่มที่หลงรักแบรนด์รถยนต์ค่าย Subaru กันมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่เริ่มต้นจากวิศวกรรมอากาศยาน และได้รับการพัฒนาต่อยอดมาสู่วิศวกรรมยานยนต์ระดับโลกในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของชื่อ “ซูบารุ” (Subaru) นั้นมาจากภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกชื่อของกลุ่มดวงดาวในกลุ่มดาววัว ชาวตะวันตกเรียกกลุ่มดาวนี้ว่าไพลยาดีส (Pleiades) ชาวจีนเรียกว่าเหม่า (Mao) ส่วนชาวญี่ปุ่นเรียกว่าซูบารุ ซึ่งหมายถึง การปกครอง การรวมตัวกัน หรือการรวมเป็นหนึ่ง

ในญี่ปุ่นกลุ่มดาวนี้ยังมีอีกชื่อคือ มุทสึระโบชิ ที่แปลว่า “ดาวหกดวง” ซึ่งบริษัท Fuji Heavy Industries Ltd. ที่เป็นต้นกำเนิดของรถยนต์ Subaru ในปัจจุบันนั้นก็มาจากการรวมตัวของบริษัท 6 แห่งเช่นกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทใหม่นี้จึงใช้กลุ่มดาว “ซูบารุ” ซึ่งในประเทศไทยจะรู้จักในชื่อของ “กลุ่มดาวลูกไก่” นั่นเอง

แม้ว่าชื่อของรถยนต์ซูบารุนั้นจะถูกจารึกไว้เมื่อปี 1953 แต่ประวัติของที่แท้จริงนั้นต้องย้อนกลับไปมากกว่า 100 ปีตั้งแต่การเริ่มต้นเปิดตัวหน่วยวิจัยทางด้านการบินที่ชื่อ Aircraft Research Laboratory ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้บริษัท Fuji Heavy Industries Ltd. โดยมีจุดมุ่งหมายหมายเพื่อสร้างเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูง

โดยรถยนต์รุ่นแรกที่เปิดตัวสู่ตลาดก็คือ Subaru 360 เป็นซิตี้คาร์สองประตู ที่อยู่ในสายการผลิตยาวนานถึง 12 ปีตั้งแต่ปี 1958-1971 โดยทำยอดขายได้ถึง 392,000 คันจากจุดเด่นในเรื่องการประหยัดน้ำมัน กับฉายาที่ถูกเรียกว่า ladybug ที่ออกมาขับเคี่ยวกับรถเต่าบีทเทิล ด้วยขนาดที่กะทัดรัดน้ำหนักเพียง 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 453 กิโลกรัม) ความจุของเครื่องยนต์ 360 ซีซี นับเป็นหนึ่งในรถยนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น

SUBARU 360 ครั้งแรกเปิดตัวไม่สวยในอเมริกา แต่ต่อมา…

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น แต่ด้วยขนาดของตัวรถที่เล็กเกินไป ทำให้ชาวอเมริกันอาจจะรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องขับขี่ รวมไปถึงอัตราเร่งที่ใช้เวลานาน (0-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 37.5 วินาที) ในขณะที่คู่แข่งอย่างบีทเทิลที่มีน้ำหนักรถมากกว่าถึง 4 เท่านั้นกลับมีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยเวลาไม่ถึง 16 วินาที

แม้จะต้องเจอกับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบว่าเป็นรถที่ “Cheap and Ugly” แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของ Subaru 360 ก็ได้รับผลดีจากวิกฤตน้ำมันในปี 1973 ซึ่งสหรัฐฯ ต้องเผชิญปัญหาจากกลุ่มชาติอาหรับยกเลิกการส่งออกน้ำมันให้แก่กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนอิสราเอล ส่งผลให้ดีมานด์ของรถยนต์ประหยัดน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในสหรัฐฯ ช่วยดันยอดขายของ Subaru 360 ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยทำยอดขายได้ 22,980 คันในปี 1974 และเพิ่มเป็น 80,826 คันในอีก 3 ปีถัดมา

วิศกรรมเพื่อความเร้าใจ

จาก 360 รุ่นแรกที่เปิดตัวสู่ตลาดด้วยจุดเด่นในด้านการประหยัดน้ำมันและการนำวิศวกรรมโครงสร้างของเครื่องบินมาพัฒนาเป็นยานยนต์เพื่อขับขี่บนท้องถนน เกิดเป็นโมเดลหลายรุ่นที่ค่อยๆ สร้างชื่อเสียงให้ Subaru ได้เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น Sambar, Leone, Rex, Brat, Domingo, Justy และ Legacy

แต่รุ่นที่สร้างชื่อให้ Subaru ขึ้นมาผงาดง้ำค้ำโลกก็เห็นจะหนีไม่พ้นตัวแรงของค่ายดาวลูกไก่อย่าง ImprezaWRX ที่มัดใจชาวอเมริกันและยุโรปด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย ปรับจูนเครื่องยนต์ได้อย่างอิสระ ทั้งระบบช่วงล่างและการขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ AWD ทำให้ครองใจวัยรุ่นขาซิ่งยุค 90 ได้อย่างเหนียวแน่น ขับเคี่ยวกับค่ายคู่แข่งบ้านเดียวกันอย่าง Nissan Skyline และ Mitsubishi Evolution อย่างดุเดือด

ด้วยขนาดเครื่องยนต์พละกำลัง 237 แรงม้าผสานกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD เมื่อได้รับการปรับจูนสามารถรีดกำลังของเครื่องยนต์ได้ทะลุ 300 แรงม้าอย่างไม่ยากเย็น ทำให้ตอนที่ Impreza WRX เปิดตัวสู่การแข่ง Rally ในปี 1994  รถยนต์ตัวถังสีน้ำเงินขอบล้อสีทองก็กลายเป็นขาโหดตัวแรงที่สร้างการจดจำให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา


จากชื่อเสียงของเครื่องยนต์ที่ให้สมรรถนะและความแรงแบบได้ใจชาวยุโรปและอเมริกันนี้เอง ทำให้ Subaru Impreza WRX ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์ที่เราคุ้นเคยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Fast & Furious (2009-2015), Baby Driver (2017), Kingsman : The Golden Circle (2017) และอื่นๆ อีกมากมาย

เทคโนโลยีอันเป็นเอกลักษณ์ สมรรถนะที่มาพร้อมความปลอดภัย

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวิศวกรรมยานยนต์จากค่าย Subaru ก็คือ เครื่อง Boxer Engine แบบสูบนอน ที่ระบบการทำงานของลูกสูบในแนวนอนเคลื่อนที่แบบสวนทางกัน ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมการจัดวางเลย์เอาต์ของตัวเครื่องที่ทำให้จุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยให้รถทรงตัวได้ดี และสามารถดึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ออกมาได้อย่างสูงสุด


นอกจากนี้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร (Symmetrical All-Wheel Drive (AWD)) ที่กระจายกำลังไปยังล้อทั้ง 4 ตลอดเวลาอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด จะยิ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะการขับขี่โดยรวม ให้การยึดเกาะถนนสูงสุด การตอบสนองที่แม่นยำทั้งทางตรงและขณะเข้าโค้ง สามารถขับขี่อย่างปลอดภัยมีเสถียรภาพในขณะสภาพถนนหรือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ให้ความคล่องตัวและการตอบสนองเหนือกว่าระบบขับเคลื่อนทั่วไป

ไม่เพียงแค่สมรรถนะในด้านการขับขี่เท่านั้น Subaru ยังให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ด้วยการทุ่มเทความรู้ด้านวิศวกรรม เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย เพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของอุบัติเหตุ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่, ผู้โดยสาร รวมถึงผู้คนที่เดินทางบนท้องถนน ทำให้รถยนต์ของ Subaru หลายรุ่นได้รับรางวัลด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด จากการทดสอบของสถาบันและหน่วยงานด้านความปลอดภัยชั้นนำทั่วโลกอีกด้วย

Subaru กับยอดขายในตลาด US

  • ในตลาดสหรัฐฯ Subaru ถือเป็นค่ายรถยนต์รายเดียวที่มียอดจำหน่ายเติบโตต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยในปี 2018 สามารถทำยอดขายได้ 6.8 แสนคัน ซึ่งเปรียบเทียบย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว Subaru มียอดขายเพียงปีละ 2 แสนคันเท่านั้น ตัวเลขความนิยมไล่หลังแบรนด์จากประเทศเดียวกันอย่าง โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน เหนือกว่ามาสด้า และมิตซูบิชิ อีกด้วย
  • และสำหรับรถ SUV ยอดนิยมอย่าง Subaru Forester สามารถทำยอดจำหน่ายในสหรัฐฯ ทะลุ 2 ล้านคันไปเป็นที่เรียบร้อยพร้อมกวาดรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ 2019IIHS Top Safery Pick+ ด้วยคะแนนสูงสุด, 5-Star Safety Ratings from National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA), 2019 ALG Residual Value Award, 2019 AutoWeb buyer’s Choise Award for Best Midsize SUV, 2019 The Best Compact SUV for Families (U.S. News & World Report) และ 2019 The Best Family Cars (Parents

ตั้งไลน์ผลิตในไทย สร้างความมั่นใจด้านผลิตภัณฑ์และบริการ

Subaru Corporation ได้ประกาศร่วมทุนกับ TC Manufacturing and Assembly (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Tan Chong International Limited (TCIL) เพื่อการประกอบรถยนต์ซูบารุในไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งมีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 5 พันล้านบาท โรงงานจะสามารถผลิตรถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ (Subaru Forester) ได้มากกว่า 6,000 คัน ได้ภายในปีแรกของการดำเนินงานเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก

โดยครั้งนี้กลุ่ม TCIL ถือหุ้นร้อยละ 74.9 ผ่านบริษัทฯ ในเครือของตนอีกหนึ่งบริษัทฯ คือ บริษัท ทีซี แมนูแฟคแจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลี (ประเทศไทย) จำกัด  (TCMA) ในขณะที่ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ถือหุ้นที่เหลืออีก 25.1% ด้วยทำเลยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ผนวกกับข้อได้เปรียบของข้อตกลงทางการค้าในประชาคมอาเซียน การตั้งโรงงานในประเทศไทยจะช่วยให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวในการผลิตและการกำหนดราคารถยนต์ซูบารุ โดยยังคงไว้ซึ่งศักยภาพการแข่งขันในตลาดและเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น

การตั้งฐานการผลิตในไทยส่งผลสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งด้านคุณภาพและความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการให้บริการ และยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเริ่มจากรถยนต์รุ่นแรกอย่าง The All-New Forester นั้นมีราคาคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เพราะมาพร้อมกับเทคโนโลยีหลักต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมทั้งเทคโนโลยีเสริมความปลอดภัยล่าสุด อย่าง Eyesight ที่เป็นระบบเสริมความปลอดภัยแบบจัดเต็ม ที่มีทั้งระบบ Adaptive Cruse control ที่แปรผันความเร็วตามรถคันหน้าได้จนถึงหยุดนิ่ง และออกตัวตามได้ (Stop and Go) หรือ ระบบ Pre-collision braking ที่เริ่มทำงานที่ความเร็วต่ำเพียง 1 Km/hr ด้วยราคาระดับต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท

นอกเหนือจาก Subaru XV ที่เป็นดาวเด่นช่วยพลิกประวัติศาสตร์การขายรถยนต์ซูบารุในประเทศไทยจากระดับ 100 คันต่อปี ก้าวกระโดดมาเป็น 2-4 พันคัน (ในช่วงปี 2013-2016) ในปีนี้ The All-New Forester จะกลายเป็นอีกดาวดวงเด่นสำหรับที่คนกำลังมองหารถ SUV เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ต้องใส่มาในลิสต์ตัวเลือกรถน่าสนใจในปี 2019 นี้อย่างแน่นอน

มร.เกลน ตัน รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL)  เปิดเผยว่า “การที่เราสามารถผลิตรถยนต์ซูบารุในประเทศไทยได้ด้วยตนเองนั้นถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยที่ผ่านมาเราดูแลธุรกิจในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดจำหน่าย การแต่งตั้งผู้จำหน่าย และการบริการหลังการขาย แต่ตอนนี้เราสามารถดูแลการผลิตรถยนต์ซูบารุได้แล้ว   การวางแผนธุรกิจระยะยาวอย่างมียุทธศาสตร์ของเราจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของเราได้ดีขึ้น สามารถขยายสายการผลิตได้มากขึ้น ทำการตลาดในระดับท้องถิ่นได้ดีขึ้น พึ่งพาความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นน้อยลง และสามารถตอบสนองความต้องการรถยนต์ซูบารุของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีมากขึ้น นั่นหมายถึงเรามีโอกาสขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นได้ด้วยในอนาคต

เกร็ดความรู้ : โรงงานประกอบรถยนต์ TCSAT ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ของโลกที่ทางซูบารุ คอร์ปอเรชั่น เป็นเจ้าของและร่วมลงทุน โดยแห่งแรกอยู่ เมืองกันมะประเทศญี่ปุ่น แห่งที่สองอยู่ รัฐอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และล่าสุดคือที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยของเรา

ข้อมูลอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม:

https://www.subaru.asia/th/th/home/

https://www.subaru.com/vehicles/forester/index.html

https://www.subaru-global.com/about/awards.html

http://media.subaru.com/newsroom/8/120/sales

http://carsalesbase.com/us-car-sales-data/subaru/