กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในมือ “แอสเสท เวิรด์” เครือทีซีซี กรุ๊ป ธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีพื้นที่กว่า 6 แสนตร.ม. กลุ่ม Retail and Wholesale มีกว่า 10 โครงการ พื้นที่รวม 3.4 แสนตร.ม. และกลุ่มอาคารสำนักงาน 4 โครงการ พื้นที่รวม 2.7 แสนตร.ม.
พื้นที่รีเทลของ AWC เรียกว่าอยู่ใน “ทำเลทอง” กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ด้วยคอนเซ็ปต์ที่เป็นจุดขาย สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ช้อปปิ้งมอลล์ คอมมูนิตี้มาร์เก็ต โครงการเด่น เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า กลุ่มรีเทลแต่ละโครงการมีเอกลักษณ์ รูปแบบและการสร้างแบรนด์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ช่วงที่ผ่านมากลุ่มรีเทลยังเติบโตได้ 7.9% สูงกว่าจีพีดี ส่วนช้อปปิ้ง อยู่ที่ 5.8% สะท้อนให้เห็นโอกาสการเติบโตของอสังหาฯ ในฝั่งค้าปลีกของ AWC
ปั้นเวิ้งนาครเขษม 2 หมื่นล้าน
ตามแผนธุรกิจชอง AWC เงินที่ระดมทุนจากการ IPO จะนำไปซื้อสินทรัพย์ อาทิ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ โดยทางทีซีซีฯ ให้สิทธิ์ AWC ในการซื้อสินทรัพย์ รวมถึงแปลง เวิ้งนาครเขษม หรือ นครเขษม ซึ่งอยู่เส้นถนนเยาวราช เป็นหนึ่งใน 20 สินทรัพย์ที่จะเข้าไปซื้อ และจะนำมาปรับปรุงโดยยึดหลักการคงความเป็นสถาปัตยกรรมเดิมไว้ และมีจุดไฮไลต์ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิว คาดว่ามูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ Barbell Strategy ถือเป็นการสร้างสมดุลระหว่างโครงการหลากหลายประเภทเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น โครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เฟสแรกใช้พื้นที่แล้ว 96%
จึงมีแผนเพิ่มพื้นที่รีเทลอีก 40,000 ตร.ม. รวมถึงจะมีการก่อสร้างโรงแรมแบรนด์ “แมริออท” เพิ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวเข้ามา
พร้อมทั้ง “รีแบรนด์” ธุรกิจรีเทลครั้งใหญ่ โดย “เอเชียทีค” จะเป็นแฟลกชิพ แห่งแรก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว ส่วน พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และ พันทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน จะปรับเพื่อรองรับแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่อง Eat Play Chill และ Shop
ขยายมิกซ์ยูส “ประตูน้ำ”
ขณะเดียวกัน จะมีการแตกซับแบรนด์ไอที “พันธุ์ทิพย์” ไปตามศูนย์การค้าต่างๆ ส่วน พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ ซึ่งเป็นแปลงที่ใหญ่เนื้อที่ 14 ไร่ใจกลางซีบีดี ในอนาคตกำลังศึกษาถึงความคุ้มค่าในที่ดินผืนดังกล่าว ที่จะต้องถูกพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในระยะ 4 – 5 ปีข้างหน้า ด้วยรูปแบบ “มิกซ์ยูส” ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ค้าปลีกกว่า 170,000 ตร.ม. จากปัจจุบันมีประมาณ 69,000 ตร.ม. เน้นเรื่อง F&B and Attractions ส่วน “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” จะยกระดับให้เป็น “เกตเวย์” นางวัลลภา กล่าว
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากโครงการหลากหลายประเภท กว่า 90% บริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเอง (ฟรีโฮลด์) ในระยะ 20 – 30 ปีข้างหน้าทรัพย์สินจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
อีกโปรเจกต์มิกซ์ยูสที่เตรียมพัฒนาอยู่ที่ “พัทยา” มีอสังหาฯ หลากหลายรูปแบบทั้ง รีเทล โรงแรมที่จะมีมากกว่า 1 อาคาร เป็นแผนพัฒนาต่อเนื่อง 4 – 5 ปี วงเงินลงทุนสูง 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดในบางส่วนตั้งแต่ปี 2566.