-
นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเป็นการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยนอกจากเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในด้านพลังงาน การขนส่ง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการทำธุรกิจแล้ว ควรจะรวมถึงการลงทุนในด้านอื่น ๆ เพื่อยกระดับปัจจัยแวดล้อมภายในพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
-
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ผู้พัฒนานิคมฯ จะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของนิคมฯ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มช่องทางหารายได้ประจำ และใช้เป็นแผนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมและเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. ผู้ประกอบการภายในนิคมฯ จะสามารถลดต้นทุนดำเนินการทั้งในด้านพลังงาน การขนส่งและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา และ 3. บุคลากรที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ ผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัยซึ่งจะช่วยดึงดูดให้บุคลากรภายนอกเข้ามาทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง
-
อีไอซีประเมินว่า ในช่วงระหว่างปี 2019-2022 มูลค่าการลงทุนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในไทยจะมีมูลค่าราว 5.5 หมื่นล้านบาทจากการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการพัฒนานิคมอุตสาหรรมอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัย 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การวางแผนการพัฒนาโครงการให้มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2. การสร้างความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในการพัฒนาและนำไปใช้ และ 3. การประสานการทำงาน หรือ synergy ของฐานข้อมูลและเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด
นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเป็นการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (smart city) เป็นแนวคิดในปัจจุบันที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง (digital transformation) โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น big data, artificial intelligence (AI), internet of thing (IoT) มาใช้เพื่อบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง เช่น มลภาวะและสิ่งแวดล้อม พลังงาน การจราจร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) ที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเดิมของเมืองไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ทันสมัยและเติบโตอย่างยั่งยืน
แนวคิด smart city ประกอบด้วยองค์ประกอบ 7 ด้านในการพัฒนา ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment), เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy), การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility), พลังงานอัจฉริยะ (smart energy), พลเมืองอัจฉริยะ (smart people), การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living), และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance) โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (smart solution) เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเน้นช่วยลดเวลาและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความปลอดภัยและสุขอนามัย ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นอกจากนี้ แนวคิด smart city ยังสามารถนำไปปรับใช้พัฒนากับพื้นที่หลากหลายขนาด เช่น นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (smart industrial estate) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (smart campus) และประเทศอัจฉริยะ (smart nation) เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์การพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่
รูปที่ 1 : องค์ประกอบของแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (smart city)
ที่มา : สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย
รูปที่ 2 : ตัวอย่างและประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ
ที่มา : Mckinsey&Company, Neirotti et al. (2014)
การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ นอกจากจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะแล้ว ควรจะมีการลงทุนในด้านอื่น ๆ เพื่อยกระดับปัจจัยแวดล้อมภายในพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม และการอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยและศูนย์ข้อมูลและฐานข้อมูลกลางในการควบคุม (data center & database) เพื่อรองรับโรงงานอัจฉริยะ (smart factory) การจัดตั้งศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one-stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อภาครัฐ การจัดตั้งหรือร่วมมือกับมหาวิทยาหรือสถาบันวิจัยและการกำหนดพื้นที่ทดลอง (experimental zone) เพื่อการวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม นอกจากนี้ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะต้องมีการยกระดับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บ้าน คอนโดมิเนียมให้เหมาะสมกับผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลรายได้ค่อนข้างสูงมากขึ้น
รูปที่ 3 : ตัวอย่างการพัฒนาเพิ่มเติมในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Kim and Wang (2014), Li et al. (2015), Zeng (2016)
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะช่วยตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของผู้มีส่วนได้เสียหลักในนิคมฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้พัฒนานิคมฯ ผู้ประกอบการภายในนิคมฯ และบุคลากรที่อาศัยภายในนิคมฯ โดย 1. กลุ่มผู้พัฒนานิคมฯ จะได้ประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของนิคมฯ เมื่อเทียบกับนิคมอื่น ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องการสนับสนุนทางดิจิทัลมากกว่าเดิมหรืออุตสาหกรรมที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการช่วยเพิ่มรายได้ประจำจากการให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2. กลุ่มผู้ประกอบการภายในนิคมฯ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะในการลดต้นทุนดำเนินการทั้งด้านการใช้พลังงาน การขนส่ง การดูแลสิ่งแวดล้อม และการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี และ 3. กลุ่มบุคลากรที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ ที่จะมีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น มีความเป็นเมืองเพิ่มขึ้น และเหมาะสมกับบุคลากรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมแบบเดิม
ผู้พัฒนานิคมฯ ในจีนได้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของนิคมอุตสาหกรรมเดิม และด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างของการนำ smart city มาใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมคือ สวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou industrial park) ในจีนภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลสิงคโปร์ เนื่องจากสวนฯ ซูโจว เริ่มเปิดทำการตั้งแต่ปี 1994 ทำให้สภาพนิคมฯหลังเปิดนิคมฯกว่า 10 ปี ไม่รองรับกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ ต้นทุนแรงงานปรับเพิ่มขึ้น สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าเช่าของผู้ประกอบการโรงงานได้ปรับลดลงหรือหมดอายุไปตามเวลา
สวนฯ ซูโจวได้วางแผนเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมคืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยาชีวภาพด้วยการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การจัดตั้ง data center ภายใต้ความร่วมมือกับ IBM การพัฒนาฐานข้อมูล GIS ซึ่งเป็นฐานข้อมูลรวมของสวนอุตสาหกรรมที่รวบรวมข้อมูลของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน การจัดตั้งสถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชื่อดังหลายแห่ง และการลงทุนในเทคโนโลยีอัจฉริยะเช่น โครงการดำรงชีพดิจิทัล (digital livelihood program) ในการจัดทำระบบดิจิทัลด้านอัตลักษณ์ (digital ID) และระบบขนส่งอัจฉริยะ เป็นต้น การพัฒนาเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมหลักของสวนฯ ซูโจวในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (bio-pharmaceutical) อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม AI โดยในปี 2018 สวนฯซูโจวสร้าง GDP แก่จีนได้ราว 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโตอยู่ที่ราว 6%CAGR ในช่วงปี 2013-2018 และเป็นนิคมฯ ที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุดในจีนในปี 2016
ขณะที่ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศชิงเต่า (Qingdao Ecopark) ในจีน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างจีนกับเยอรมัน เป็นตัวอย่างในการนำแนวคิด smart city มาใช้ในการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเมืองนี้ถูกตั้งเป้าให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำและเมืองนวัตกรรมการผลิตสีเขียว ด้วยการเริ่มพัฒนาตึกอัจฉริยะ (smart building) ที่สามารถตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นภายในตึก และส่งผลให้ช่วยลดการใช้พลังงานภายในตึกได้ถึง 90% อีกทั้ง กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ เช่น การขนส่งสีเขียวอัจฉริยะ (smart green transport) การผลิตอัจฉริยะ (smart manufacturing) เป็นต้น
ในระดับโลก การลงทุนภายใต้แนวคิด smart city คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างแพร่หลายและมีมูลค่าการลงทุนเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18% ต่อปี (18%CAGR) ไปอยู่ที่ 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 ตามการคาดการณ์ของ International Data Corporation (IDC) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในด้านพลังงาน เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ (cloud solution) ด้านความปลอดภัยของประชากร เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (smart surveillance) และด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ เช่น ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ การลงทุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นในทวีปเอเชียแปซิฟิก 40% โดยเฉพาะจีนซึ่งถือเป็นผู้นำการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของโลกที่เริ่มพัฒนาตามแนวคิด smart city ตั้งแต่ปี 2011 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 กับประกาศการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จนทำให้ในปี 2018 มีเมืองอัจฉริยะทดลองในจีนกว่า 542 แห่ง ส่วนสิงคโปร์ได้เริ่มพัฒนา smart nation ตั้งแต่ปี 2014 โดยเน้นอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและการทำธุรกิจใน 3 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy), รัฐบาลดิจิทัล (digital government), และสังคมดิจิทัล (digital society) ) ขณะที่ อินเดียได้เริ่มพัฒนาเมืองอัจฉริยะตั้งแต่ปี 2015 ภายใต้นโยบาย 100 smart cities mission เริ่มจาก 20 เมืองในปี 2015 เป็น ราว 100 เมืองในปี 2018
สำหรับไทย อีไอซีประเมินว่า ในช่วงระหว่างปี 2019-2022 มูลค่าการลงทุนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะจะมีมูลค่าราว 5.5 หมื่นล้านบาทและ 4.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนหลายรายได้เริ่มพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในไทยแล้ว เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อยู่ระหว่างก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ตพาร์ก (smart park) จ. ระยอง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอนาคต (new s-curve) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ระหว่างจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกลุ่ม ปตท. เตรียมจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดการทำวิจัย พัฒนา ทดลอง และอมตะ คอร์ปอเรชั่นเตรียมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของอมตะทุกแห่งให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยเริ่มต้นที่นิคมฯ อมะตะซิตี้ ชลบุรี และเตรียมขยายไปยังนิคมฯ อื่น ๆ ทั้งนี้การพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะเหล่านี้จะต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคธุรกิจทั้งในและระหว่างประเทศในการวางแผนและลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะในแต่ละด้าน เช่น กนอ. ร่วมมือกับบริษัททีโอทีเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และร่วมมือการไฟฟ้านครหลวงเพื่อพัฒนา smart energy ส่วนอมตะร่วมมือกับ YUSA (Yokohma Urban Solution Alliance) จากญี่ปุ่นเพื่อทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อีกทั้งยังร่วมมือบริษัท Hitachi จัดตั้งศูนย์ Lumada center เพื่อพัฒนา smart manufactuting และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเพื่อพัฒนา smart people เป็นต้น
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้แผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยในช่วงแรกวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มีทั้งสิ้น 10 พื้นที่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็น 3 จังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), กทม, ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น และเตรียมพัฒนาเพิ่มเติมภายใน 5 ปีให้มีเมืองอัจฉริยะทั้งสิ้น 100 พื้นที่ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะสามารถขอพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยผู้สมัครสามารถเป็นได้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาครัฐร่วมมือกับเอกชน และจะต้องมีแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง และต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะอย่างน้อยด้าน smart environment และด้านอื่น ๆ อีก 1 ด้าน เป็นต้น
นักพัฒนาหรือผู้ที่ผ่านการพิจารณานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จะสามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านกฎหมายและกฎระเบียบจากการประกาศเป็นพื้นที่สนามทดสอบ (regulatory sandbox) และวีซ่าประเภทพิเศษ (smart visa) ด้านการเงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กองทุนพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และการยกเว้นภาษีนิติบุคคลไม่เกิน 8 ปี และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน หลักเกณฑ์การอนุมัตินิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนพัฒนาของภาคเอกชนในบางส่วน เช่น การขอรับสนับสนุนจาก BOI ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะกำหนดให้ต้องลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้ง 7 ด้านเพื่อรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 8 ปี ขณะที่ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่ต้องลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะได้รับยกเว้นภาษี 5 ปี อยู่แล้ว หรือการขอรับพิจารณาเมืองอัจฉริยะกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งอาจไม่เหมาะกับนิคมอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต้องการความเสถียรด้านพลังงานเท่าใดนัก ดังนั้นภาครัฐควรจะต้องเร่งแก้ไขภายใต้ความร่วมมือกับผู้พัฒนานิคมฯ หรือเมืองเพื่อให้หลักเกณฑ์มีความเหมาะสม เป็นที่ยอมรับและสามารถปฏิบัติได้จริง
รูปที่ 4 : สิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมภายใต้ BOI
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ทั้งนี้จากเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน เทคโนโลยี smart environment, smart energy และ smart governance จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนดำเนินการแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ มากกว่าด้านอื่น ๆ โดย smart environment ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบดิจิทัลในการบันทึกการปล่อยของเสียเพื่อที่จะทำให้โรงงานจ่ายเฉพาะปริมาณการใช้ ส่วนการพัฒนา smart energy จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เช่น ระบบ smart building, smart meter และการพัฒนาระบบด้าน smart governance จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจในการติดต่อกับราชการ และลดปัญหากฎระเบียบที่ทำให้ยุ่งยากและทำให้ล่าช้า (red tape) เช่น ระบบดิจิทัลสำหรับการขออนุญาตจากภาครัฐ เช่น การใช้ที่ดิน การก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัท เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีอัจฉริยะในด้านอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ที่อาศัยภายใน เมืองอุตสาหรรมอัจฉริยะ เช่น smart mobility ในด้านการเดินทาง และ smart living ในด้านสุขภาพและความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี อีไอซีประเมินว่า การวางแผนการพัฒนาโครงการ การสร้างความร่วมมือ และการ ประสานการทำงาน หรือ synergy เป็น 3 ปัจจัยหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหรรมอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จากบทเรียนการพัฒนานิคมฯ ในจีน การพัฒนาโครงการจะต้องวางแผนที่ครอบคลุมผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับอุตสาหกรรม และเลือกใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตามประโยชน์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (cutting-edge technology) ส่วนการสร้างความร่วมมือ (collaboration) และหุ้นส่วน (partnership) เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ เนื่องจากการลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเงินลงทุนที่สูง อีกทั้ง ผู้พัฒนานิคมฯ ยังต้องลงทุนเทคโนโลยีอัจฉริยะอีกหลายเทคโนโลยี ซึ่งเกินขีดความสามารถของผู้พัฒนานิคมฯ ดังนั้นการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มต่าง ๆ จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและปัญหาด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ความร่วมมือสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. ความร่วมมือระดับประเทศเพื่อถ่ายทอดความรู้กับเทคโนโลยีและช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในการลงทุนที่นิคมฯ อมตะในไทย 2. ความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนานิคมฯ กับผู้พัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อร่วมลงทุนโครงการ อาทิ การลงทุนฐานข้อมูลของ IBM ในสวนอุตสาหกรรมซูโจว 3. ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในนิคมฯ กับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะได้จริง
สุดท้าย การ synergy ประโยชน์จากฐานข้อมูลและเทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการและทำให้การใช้เทคโนโลยีมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยทั่วไปการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เช่น จราจร ความปลอดภัย สุขภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม มักจะให้บริการภายใต้หน่วยงานที่แตกต่างกันโดยแต่ละหน่วยงานก็มักจะมีฐานข้อมูลของตนเอง ซึ่งสร้างปัญหาไซโลระหว่างหน่วยงาน ฉะนั้นจึงควรมีการ synergy ข้อมูลจากแต่ละหน่วยงานภายใต้ฐานข้อมูลเดียวเพื่อทำให้ดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การลดมลภาวะที่เกิดจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ตึก จราจรและของเสีย ควรจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใต้ฐานข้อมูลเดียว อีกทั้งควรจะต้อง synergy ประโยชน์ของเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ความร่วมมือระหว่างระบบนำทางอัจฉริยะ ระบบไฟจราจรอัจฉริยะและระบบรองรับอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะทำให้มีการวางแผนเส้นทางและจัดจราจรที่เหมาะสมและทันท่วงทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ส่งผลให้การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทำได้รวดเร็วขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิต เป็นต้น
โดย : ปุญญภพ ตันติปิฎก([email protected])
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com | Line: @scbeic