ธุรกิจอาหารทุกประเภทปี 2561 มีมูลค่าราว 4.2 แสนล้านบาท เป็นตลาดที่กำลังเผชิญ “ความท้าทาย” จากการแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ “รายใหญ่” กำลังแข่งขยาย “พอร์ตโฟลิโอ” อาหารให้ครบทุกหมวด เพื่อขอแบ่งพื้นที่ในท้องผู้บริโภค (Share of Stomach) ให้ครอบคลุมทุกประเภทอาหารยอดนิยมของคนไทย
ยุทธศาสตร์การเคลื่อนทัพล่าสุดของ MK หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำตลาดหม้อร้อน “สุกี้” ด้วยการที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562
การส่งบริษัทลูก คือ บริษัท คาตาพัลท์ จำกัด ซึ่งเอ็มเคถือหุ้น 99.99% ใช้งบลงทุน 2,060 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 65% ในบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด รวมทั้งแบรนด์ในเครือราว 25 สาขา คาดว่าจะเข้าลงทุนจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2562
“แหลมเจริญ” ต่อจิ๊กซอว์หนุนโต
ดีลที่เรียกว่าเกือบซื้อกิจการของ “แหลมเจริญซีฟู้ด” ของ MK คือ ยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร สะท้อนได้จากมุมมองหรือนโยบายของผู้บริหาร MK ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
โดย ทานตะวัน ธีระโกเมน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นลูกสาวของ ฤทธ์ ธีระโกเมน ผู้ก่อตั้งเอ็มเคกรุ๊ป เคยกล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน” ก่อนหน้านี้ว่า เอ็มเคกรุ๊ป มีนโยบายในการขยายธุรกิจต่อเนื่องไปสู่ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ และประเภทของอาหารใหม่ๆ ในหลากหลายแนวทาง ทั้งการซื้อไลเซนส์จากเจ้าของเดิม (หมายรวมถึงการซื้อหุ้นจากเจ้าของเดิมด้วย) หรือการร่วมทุนกับแบรนด์เดิม ตลอดจนการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาเอง
ขณะนี้ก็มีการศึกษาและพัฒนาทางด้านธุรกิจอาหารในแบรนด์ใหม่ๆ ต่อเนื่อง เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างศักยภาพในการขยายการเติบโตของเอ็มเคมากขึ้น
ที่ผ่านมาในมุมของการสร้างแบรนด์ใหม่ “เอ็มเค” ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ และมินาซากิ ร้านอาหารไทย “ณ สยาม” และ “เลอสยาม” ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ “เลอ เพอทิท” ร้านข้าวกล่อง “บิซซี่บ็อกซ์” ร้านขนมหวาน “เอ็มเค ฮาร์เวสต์” ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2562 มีสาขาร้านเอ็มเค และแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ รวม 688 สาขา แต่หากดูถึงแบรนด์ใหม่ๆ ที่เอ็มเคสร้างขึ้นมาเอง ก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือมีจำนวนสาขามากนัก
ยกเว้นเครือข่ายร้านอาหารที่เอ็มเค ร่วมทุนกับเจ้าของเดิม อย่าง ร้านยาโยอิอาหารญี่ปุ่น ที่มีจำนวนสาขา 184 แห่ง ในไทยและขยายธุรกิจไปต่างประเทศด้วย
ดังนั้นกลยุทธ์ “ซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นใหญ่” จึงเป็นหนทางที่เร็วและง่ายในการเติบโตบนธุรกิจแม้ว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เป็นการซื้อเวลาแต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว เพราะธุรกิจไม่ใช่ทำกันเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น
อีกทั้ง เอ็มเคมีกระแสเงินสดในมือมากอยู่แล้วกับธุรกิจเอ็มเคสุกี้ ที่เป็นหัวใจหลัก และการเข้าซื้อหุ้นใหญ่ในแหลมเจริญซีฟู้ครั้งนี้ ก็มาจากกระแสเงินหมุนเวียนในองค์กรเป็นหลักด้วย
“แหลมเจริญซีฟู้ด” ถือเป็นจิ๊กซอว์ใหม่ของเอ็มเค ที่จะเข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจอาหารประเภทซีฟู้ดให้กับเอ็มเค เพื่อกระจายรายได้ธุรกิจหลักของเอ็มเคจากร้านสุกี้ ที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลัก 78% ในปี 2561 ขณะที่แบรนด์รองอย่าง ยาโยอิ อยู่ที่ 19% ที่เหลือเป็นแบรนด์อื่นๆ
สถานการณ์เช่นนี้การยึดอยู่กับสุกี้อย่างเดียวคงเสี่ยงเกินไป เพราะทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเอ็มเคจะเป็นผู้นำตลาดสุกี้มากกว่า 80 – 90% จากตลาดรวมสุกี้ที่ว่ากันว่าประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ย่อมยากที่จะเข็นให้ตลาดรวมเติบโตมากกว่านี้อีกแล้ว
ร้านซีฟู้ดแนวโน้มมาแรง
ขณะที่ปัจจุบันนี้ตลาดร้านอาหารซีฟู้ดเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมที่จะเป็นร้านที่ต้องรับประทานตามชายทะเลต่างจังหวัด หรือไม่ก็เป็นร้านที่ตั้งสแตนด์อะโลนอยู่ตามพื้นที่นอกศูนย์การค้า ทำให้หารับประทานลำบาก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ร้านอาหารซีฟู้ดดังๆ หลายแบรนด์เริ่มขยายสาขาทำเลเข้ามาสู่ในศูนย์การค้ามากขึ้นหลายแบรนด์แล้ว และประสบความสำเร็จมาก
ไม่ว่าจะเป็น แหลมเจริญซีฟู้ด ร้านสมบูรณ์โภชนา หรือสามย่านซีฟู้ด และอื่นๆ ซึ่งแหลมเจริญก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกันที่ขยับตัวเองเข้าศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ ก่อนเมื่อหลายปีมาแล้ว เป็นรายแรกๆ ก็ว่าได้
การที่ร้านประเภทซีฟู้ดเข้ามาอยู่ในศูนย์การค้าได้นั้น ย่อมต้องเป็นการสร้างอีกโอกาสหนึ่งให้กับธุรกิจเอง และยังเป็นการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้นทั้ง ครอบครัว องค์กร เพื่อนฝูง คนทำงาน และทัวริสต์ต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารประเภทซีฟู้ดในศูนย์การค้าได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ ไม่ต้องขับรถไปไกลถึงชายทะเล การมาที่ศูนย์การค้ายังทำอะไรได้หลายอย่างอีกด้วย
ซีฟู้ดจึงกลายเป็นตัวเลือกและคำตอบที่ดีให้กับเอ็มเค และเอ็มเคเองก็มีความเชี่ยวชาญกับการทำร้านอาหารในศูนย์การค้าอยู่แล้วด้วย
การเข้าถือหุ้นใหญ่ “แหลมเจริญซีฟู้ด” นอกจากได้แบรนด์ร้านซีฟู้ดยอดนิยม ยังมีร้านในเครืออีกหลายแบรนด์ เช่น The cape by แหลมเจริญ เพื่อเจาะลูกค้าที่มีกลุ่มขนาดเล็กลง เช่น 1 – 2 คน จากเดิมที่ร้านแม่นั้นเสิร์ฟอาหารชุดใหญ่จานใหญ่ ต่อมาก็ยังเปิดร้านอีกแบรนด์ คือ Laem Charoen Home Cafe เป็นร้านสไตล์ฟิวชัน นั่งกินดื่มแบบชิลๆ จับกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งบริการเมนูหลักของแหลมเจริญด้วยเช่นกัน
หลังจกนี้ “แหลมเจริญซีฟู้ด” จึงเป็นอีกอาวุธใหม่ที่สำคัญอันหนึ่งของเอ็มเคในการสร้างอาณาจักรและการขยายธุรกิจอาหาร ที่นอกเหนือจาก สุกี้หม้อร้อน ออกไปสู่ ซีฟู้ด และอีกหลากหลายในอนาคต
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม เอ็มเค จึงต้องขยายจาก “หม้อร้อน” สู่ “ซีฟู้ด”