ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคม(ซีเอสอาร์) ในงานประชุมทางวิชาการระดับชาติ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี : จุดเริ่มหรือจุดจบของภาคชนบทไทย” จัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในฐานะองค์กรที่มีความโดดเด่นกับการทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อสังคม พร้อมเปิดมุมมองใหม่ มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนและชุมชน ปลุกพลังจิตอาสา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา TMB Make THE Difference
นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบี กล่าวบนเวทีเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “งานอาสาสมัครของภาคธุรกิจเอกชน” ว่า ทีเอ็มบี ดำเนินโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม(ซีเอสอาร์) ผ่านทางมูลนิธิทีเอ็มบี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 หรือราว 10 ปีที่ผ่านมา มีหน้าที่หลักในการดำเนินโครงการไฟ-ฟ้า โครงการแห่งการ “ให้” ที่ยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา “TMB Make THE Difference” โดย ไฟ หมายถึงพลังที่มีอยู่ในตัวของเด็กๆ ทุกคน และ ฟ้า หมายถึงพลังของการให้จาก ทีเอ็มบี ผ่านการทำงาน 2 แกนหลัก ประกอบด้วย ไฟ-ฟ้าจุดประกายเยาวชน และ ไฟ-ฟ้าจุดประกายชุมชน
เป้าหมายของการทำงานด้านซีเอสอาร์ คือ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งทีเอ็มบีเชื่อว่าองค์ความรู้เป็นแนวทางที่จะทำให้การดำเนินโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมนำไปสู่ความยั่งยืน ดั่งข้อคิดที่ว่า “สอนจับปลา แทนการให้ปลา” ดังนั้น ทุกกิจกรรมของทีเอ็มบีจึงเน้นไปที่การให้องค์ความรู้แก่เยาวชนและชุมชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ โครงการไฟ-ฟ้าจุดประกายเยาวชน จะดำเนินโครงการผ่านศูนย์ไฟ-ฟ้า ซึ่งปัจจุบันมี 5 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์, ศูนย์ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ, ศูนย์ไฟ-ฟ้า จันทน์, ศูนย์ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย และล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการคือ ศูนย์ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์ในต่างจังหวัดแห่งแรกของทีเอ็มบี เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนในชุมชนอายุระหว่าง 12-17 ปี เพื่อให้ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและทักษะการใช้ชีวิต เช่น งานศิลปะ เต้น กีตาร์ มวยไทย และเทควันโด เป็นต้น
“ศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 5 แห่งนี้จะจัดการเรียนการสอนในวิชา Art & Life Skills ให้กับเด็กในชุมชนที่มีต้นทุนมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าเรียนได้ในช่วงหลังเลิกเรียนวิชาปกติที่โรงเรียน และช่วงเสาร์-อาทิตย์ โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนให้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น จะมีก็เพียงเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ เมื่อเด็กๆ ได้รับวิชาความรู้จากเราไปแล้ว พวกเขาต้องนำความรู้นั้นกลับคืนสู่ชุมชนด้วย เพราะเราต้องการปลูกฝังพลังจิตอาสาให้แก่พวกเขาตั้งแต่เด็กที่นอกจากเขาจะเป็นผู้รับจากที่นี่แล้ว เขายังจะได้เป็นผู้ให้อีกด้วย” นางสาวมาริสากล่าว
สำหรับไฟ-ฟ้าจุดประกายชุมชน ทีเอ็มบี รณรงค์ให้พนักงานที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 8,000 คน เป็นผู้ริเริ่มจุดประกายให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยลงไปทำงานในเชิงลึกร่วมกับชุมชนในฐานะอาสาสมัครทีเอ็มบีเป็นระยะเวลา 3 เดือนในทุก ๆ ปี ซึ่งในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 6 แล้วที่ได้ลงไปทำกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ และเฉพาะในปีนี้มีโครงการเพื่อชุมชนถึง 40 โครงการ
“ที่ทีเอ็มบี เรามองว่าสังคมจะดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ ควรมุ่งเน้นการส่งมอบองค์ความรู้เป็นหลัก เพราะฉะนั้น ในการลงไปทำงานร่วมกับชุมชนของอาสาสมัครทีเอ็มบีจะไม่ใช่การทุ่มเงินใส่เข้าไป แต่จะเป็นการทำงานที่เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาอย่างจริงจังว่าชุมชนต้องการอะไร และต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัครทีเอ็มบีและอาสาสมัครในชุมชน เพราะเราเชื่อว่าหากชุมชนไม่ทำร่วมกันหรือไม่ต้องการ ในที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอด ดังนั้น การทำงานนอกจากจะต้องมีองค์ความรู้แล้ว ยังต้องทำร่วมกัน และประสานงานกันจริงๆ”
โดยในทุกๆ ปี มีเยาวชนเข้าร่วมในโครงการไฟ–ฟ้า กว่า 150,000 คน ผ่านกิจกรรมจุดประกายเยาวชนต่างๆ ภายใต้โครงการ และในส่วนของจุดประกายชุมชน ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครทีเอ็มบีทั่วประเทศกว่า 4,000 คน เข้าร่วมโครงการเพื่อลงมือเปลี่ยนชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมเชื่อว่าทำให้เกิดความรักและความผูกพันระหว่างทีเอ็มบีเองและชุมชน เกิดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นระหว่างกันและกัน ส่วนพนักงานอาสาสมัครของธนาคาร นอกจากจะเกิดความรักและความผูกพันทั้งในระดับพนักงานด้วยกันเองและกับผู้บริหารขององค์กรแล้ว พนักงานยังมีความเข้าใจในปรัชญาขององค์กร TMB Make THE Difference ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกด้วย” นางสาวมาริสา กล่าว