การประยุกต์ใช้ “เอไอ” เกิดขึ้นแล้วในหลายอุตสาหกรรม และยังมีผู้ประกอบการอีกมากที่หันมาใช้ “เอไอ” และเทคโนโลยีเกิดใหม่ PwC จัดทำวิจัยล่าสุดการใช้ เอไอ ในอุตสาหกรรมการเกษตร ทรัพยากรน้ำ พลังงาน และการขนส่ง ในมุมจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และโอกาสสร้างงานใหม่
วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงาน How AI can enable a sustainable future จัดทำโดยทีมวิจัย PwC ประเทศสหราชอาณาจักร ทำการศึกษาถึงโอกาสทางธุรกิจจากการนำ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษในปัจจุบันจนถึงปี 2573
ประเมินว่าศักยภาพของเทคโนโลยี เอไอ จะถูกนำมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กริด หรือสายส่งพลังงานสะอาดแบบกระจายที่ขับเลื่อนด้วยเอไอ การทำเกษตรอัจฉริยะ ติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการบังคับใช้ รวมไปถึงการพยากรณ์อากาศและภัยพิบัติ
การศึกษานี้ได้จำลองเหตุการณ์ของการประยุกต์ใช้เอไอใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การเกษตร การขนส่ง พลังงานและทรัพยากรน้ำ โดยได้คาดการณ์ว่า การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อสิ่งแวดล้อมใน 4 อุตสาหกรรมนี้จะสามารถช่วยผลักดันให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก สูงขึ้นได้ถึง 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 159 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
ขณะเดียวกันคาดว่า เอไอจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกได้ 4% ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 2.4 Gt CO2e (เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่นรวมกัน ภายในปี 2573)
นอกจากนี้ยังคาดว่าในปี 2573 เอไอจะช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกได้ถึง 38.2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพงานที่ต้องใช้ทักษะทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก
หนุนเศรษฐกิจยุโรปโต
ซีลีน เฮอร์วายเยอร์ หัวหน้าสายงาน Global Innovation & Sustainability ของ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า หากพิจารณาในระดับทวีปพบว่า ในปี 2573 เอไอจะมีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทวีปอเมริกาเหนือได้มากที่สุด คือ ลดลง 6.1% ตามมาด้วยทวีปยุโรป ลดลง 4.9% ขณะเดียวกัน เอไอจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นมากที่สุดในทวีปยุโรป เติบโต 5.4%
รายงานยังระบุด้วยว่า การประยุกต์ใช้เอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและขนส่ง จะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด จากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลดการใช้พลังงาน ระบบออโตเมชันของงานที่ทำด้วยมือ หรืองานที่ทำเป็นประจำ และช่วยลดการปล่อยพลังงานต่อหน่วยจีดีพีได้ถึง 6 – 8% ภายในปี 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ