ทำความรู้จัก BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์


เชื่อไหมว่า ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ” หรือ “NPLs” ในระบบสถาบันการเงินมีอัตราการเติบโต (CAGR) เฉลี่ย 12.8% ต่อปี ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่ 27.7% ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมธนารักษ์

ขณะเดียวกันปริมาณของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ในระบบสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 546,495 ล้านบาท (ไม่รวม NPLs และ NPAs ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ)

ข้อมูลข้างต้นหมายความว่าอย่างไร ?

หากอธิบายให้เห็นภาพ นี่คือโอกาสของ “บริษัทบริหารสินทรัพย์” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร “ธุรกิจบริหารสินทรัพย์” ยังมีโอกาสในการเติบโตได้เสมอ หากเศรษฐกิจขาขึ้นก็จะทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น และลูกค้ามีกำลังซื้อ NPAs เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจขาลงมี NPLs และ NPAs ในระบบมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์มีโอกาสซื้อ NPLs และ NPAs ที่หลากหลาย ในราคาที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้น

ทำไมเรื่องนี้ถึงน่าสนใจ ?

เพราะเร็วๆ นี้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังจะมี “บริษัทบริหารสินทรัพย์” รายใหญ่ที่สุดของเมืองไทยเข้าไปจดจะทะเบียน และถือเป็นรายแรกที่กำลังจะติดนามสกุลมหาชน บริษัทนั้นคือ “BAM” หรือ “บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งก่อตั้งมากว่า 20 ปีแล้ว และมีสำนักงานใหญ่และเครือข่ายสาขามากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง 26 แห่ง

รู้จัก BAM ในทุกแง่มุม

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า BAM เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (ต้มยำกุ้ง) ซึ่งขณะนั้นมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารทั้งหมดในประเทศกว่า 42% (ปัจจุบัน 2.9%) ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินของประเทศ

จนถึงวันนี้ BAM สามารถปิดบัญชีหนี้ NPLs ที่รับซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้แล้วกว่า 90,000 ล้านบาท

แล้วธุรกิจของ BAM ทำอะไรบ้าง ?

หลักๆ แล้ว BAM มี 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ

1. ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) โดยซื้อ NPLs จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น และนำมาบริหารจัดการด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ และ

2. ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ซึ่งมีทั้งมาจากการที่ลูกหนี้โอนหลักประกันหรือโอนทรัพย์ชำระหนี้ การบังคับทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือ การซื้อทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงินอื่นโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทจะจำหน่าย NPAs ให้เร็วที่สุด โดยรวมๆ แล้ว ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 BAM มี NPAs กว่า 22,500 ล้านบาท (ถ้าเป็นราคาประเมิน ทรัพย์สินรอการขายของ BAM มีมูลค่ามากกว่านี้นะคะ) อย่างไรก็ตามแม้ BAM จะมีคู่แข่งที่หลากหลายทั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นของรัฐ บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีบริษัทแม่เป็นธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นบริษัทเอกชนก็ตาม แต่ BAM มีจุดแข็งที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ อย่างชัดเจนคือ

การเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีทรัพย์สินที่หลากหลายและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม มีประสบการณ์กว่า 20 ปี พร้อมเครือข่ายสำนักงานใหญ่และสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการบริหารจัดการสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถสร้าง โอกาส ทางธุรกิจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ ที่สำคัญกรรมการและทีมผู้บริหารระดับสูงที่มีความรู้ประสบการณ์และผลงานอันเป็นที่ยอมรับ

สิ่งที่สามารถยืนยันได้ถึงเรื่องนี้คือผลประกอบการที่เติบโตตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีเงินสดรับ (Cash Collection) ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ในปี 2561 มีเงินสดรับรวมทั้งสิ้น 16,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22.6 % ส่วนกำไรสุทธิก็ไม่น้อยหน้า แต่ละปีมีต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องสำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่สินทรัพย์เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี

 

3. ยุทธศาสตร์ ก้าวต่อไปของ BAM  แน่นอนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์จะทำให้ BAM มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทฯ สามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน BAM ได้วาง 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และ คัดเลือกสินทรัพย์ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดเป็นอย่างดี ทำให้บริษัทฯ สามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้อย่างเหมาะสม BAM เน้นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจจึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน

ทั้งนี้ BAM ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562

โดยหุ้นที่เสนอขายประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (กรณีมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน)

 

อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของ BAM https://www.bam.co.th/   และจากหนังสือชี้ชวนได้จาก

https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSDE01.aspx?TransID=256222

หมายเหตุ**ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน**